Tuesday, December 27, 2011

Social media กำลังสร้าง "ข่าวหลากหลายจากฝูงชน" วันนี้ที่สลายขั้ว "ข่าวหมู่" ของวันวาน


บทบาทของเครื่องมือ social media เช่น Twitter และ Facebook กับ YouTube ในช่วงอภิมหาอุทกภัยในไทยแสดงตนอย่างโดดเด่นเหนือ "สื่อกระแสหลัก" เช่นทีวีหรือวิทยุและหนังสือพิมพ์อย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะในรูปแบบการรายงานข่าวแบบที่ผมเรียกว่า "สายธารต่อเนื่องแห่งข่าวสาร" และการเป็นศูนย์ประสานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างรวดเร็วและประสิทธิภาพสูงยิ่ง

ปฏิเสธไม่ได้อีกต่อไปว่าหากคนข่าวยุคใหม่ไม่รู้จักใช้ "เครือข่ายสื่อสังคม" เพื่อเสริมการทำหน้าที่ของตนเองอย่างคล่องแคล่วแล้ว, เขาและเธอก็จะกลายเป็น "อดีต" ไปจริง ๆ

เพราะทวิตเตอร์, เฟซบุ๊คและยูทูปได้กลายเป็นเครื่องมือของการสื่อสารจุดที่มีน้ำท่วม, ความช่วยเหลือที่ต้องการเร่งด่วน, การประสานงานเพื่อให้ผู้มีจิตอาสาเข้าถึงที่เหยื่อภัยพิบัติต้องการโดยที่เจ้าหน้าที่ทางการทำงานไม่ทัน...และการพบปะของผู้มีจิตอาสาที่แต่เดิมไม่เคยรู้จักกัน แต่เมื่อผ่าน social media แล้วสามารถรวมตัวกันเพื่อสร้างกลไกการทำงานช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ประสบภัยอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง

ปีใหม่ที่จะถึงนี้จะยิ่งตอกย้ำความสำคัญของบทบาทของ social media ในการเป็นสื่อสำคัญสำหรับการสอดประสานระหว่างคนข่าวมืออาชีพ, นักข่าวพลเมือง, ผู้ติดตามข่าวสาร, และทุกแวดวงที่ได้กลายเป็น "ชุมชนแห่งข่าวสาร" ที่ต้องการแลกเปลี่ยนและเพิ่มค่าของข้อมูลและประสบการณ์ของตัวเองอย่างคึกคักและมีประสิทธิภาพยิ่ง

ตัวอย่างทำนองนี้ปรากฏในเวทีข่าวระหว่างประเทศอย่างจะแจ้งเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่หน่วยรบมะกันบุกเข้าจับตัวโอซามา บิน ลาเดนหรือการลุกฮือประท้วงผู้นำประเทศในโลกอาหรับที่เกิดขึ้นในปีนี้ และทั้งนักข่าวอาชีพกับประชาชนทั่วไปได้ใช้ Twitter ในการรายงานข่าวอย่างปัจจุบันทันด่วน สด ๆ จากที่เกิดเหตุ และตรวจสอบข่าว (ข่าวจริงไล่ข่าวลือ)ซึ่งกันและกันอย่างจริงจังขึงขัง

การศึกษาวิจัยภายใต้หัวข้อ "The Revolutions Were Tweeted:Information Flows During the 2011 Tunisian and Egyptian Revolutions" ตีพิมพ์ใน International Journal of Communications วิเคราะห์ข้อความที่ทวีตจากทุกคนในเหตุการณ์ระหว่างวันที่ 12-19 มกราคมปีนี้ (ทั้งหมด 168,000 ทวีตที่มี #sidibouzid และ #tunisia)และอีกชุดหนึ่งทั้งหมด 230,000 ทวีตระหว่าง 24-29 มกราฯ ที่มี #egypt กับ #jan25 เพื่อพิเคราะห์ถึงความหลากหลายของผู้ส่งข้อความ และการไหลเทของข่าวจากแหล่งหนึ่งไปสู่อีกแหล่งหนึ่ง

ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือการแยกแยะ "ตัวละคร" สำคัญที่แลกเปลี่ยนข่าวสารที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันขณะที่เดินขบวนและระหว่างปะทะกันของทหารกับผู้ประท้วงว่ามีใครบ้าง ไม่ว่าจะเป็น activists, mainstream media outlets, individual journalists, bloggers, digerati, and celebrities...นั่นคือคนข่าวอาชีพ, บล็อกเกอร์, แอกติวิสท์, และเซเลบฯทั้งหลายต่างก็หลอมรวมกันใน social media เพื่อการรายงานข่าวและความเห็นโดยไม่มีกำแพงขวางกั้นอีกต่อไป

ถึงจุดที่สื่อกระแสหลักไม่ว่าจะเป็นทีวี, วิทยุ, หนังสือพิมพ์ หรือเว็บไซท์ทั้งหลายต้องเกาะติดกับข้อความที่ทวิตกันวินาทีต่อวินาทีเพื่อให้ทันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เพราะลำพังเฉพาะนักข่าวและช่างภาพของสื่อกระแสหลักที่ส่งไปทำข่าว ณ ที่เกิดเหตุนั้นไม่อาจจะเก็บข้อมูลและความเคลื่อนไหวได้ทันกระแสข่าวที่ไหลเทอย่างท่วมท้นใน Twitter, Facebook และ YouTube ได้เลย

ผลวิจัยนั้นบอกว่าในช่วงเวลานั้นทวิตเตอร์ได้ทำหน้าที่เป็น "crowdsourced newswire" หรือ "สำนักข่าวด่วนแห่งฝูงชน" ไปเสียแล้ว

ผลวิจัยเรื่องนี้สรุปว่านี่คือ "การปรับเปลี่ยนจากยุค broadcast mass media หรือสื่อกระจายภาพและเสียงไปเป็น เครือข่ายสื่อดิจิตัลเชื่อมโยงที่ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของการไหลเทของข้อมูลและลักษณะการทำงานด้านข่าวโดยสิ้นเชิง ในจังหวะที่เกิดเหตุการณ์โลกที่ไม่ได้วางแผนมาก่อนเช่นกรณีการลุกฮือที่ตูนีเซียและอีจิปย์"

การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ย่อมทำให้ "งานข่าว" มีความ "อลหม่าน" (chaotic) มากขึ้นกว่าเดิม เพราะการรายงานผ่านทวิตเตอร์จากคนจำนวนมากวินาทีต่อวินาทีเช่นนี้ย่อมมีเสียงเป็นพัน ๆ หมื่น ๆ เสียง...แทนที่จะเป็นเสียงจากคนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งที่มีเครื่องมือในการรายงานข่าวอย่างที่เคยเป็นมาก่อนในอดีต

งานวิจัยนี้บอกด้วยว่าถ้อยคำข่าวที่นักข่าวอาชีพทวีตนั้นมักจะได้รับการ retweet จากคนในแวดวงทวิตเตอร์มากกว่าแหล่งอื่นเช่นแหล่งข่าวทางการเพราะความแตกต่างอย่างชัดเจนของความน่าเชื่อถือ

ผู้วิจัยบอกด้วยว่าสื่อกระแสหลักก็ยังมีบทบาทสำคัญในการกระจายข่าวออกไปในภาวะเหตุการณ์ร้อน ๆ เช่นนี้ แต่ขณะเดียวกันบล็อกเกอร์และแอกติวิสท์ที่ส่งข่าวสารผ่าน social media ก็เป็นช่องทางของการรายงานข่าวที่มีความคึกคักไม่น้อยเช่นกัน

ที่ผมสนใจประเด็นวิเคราะห์ของงานวิจัยเรื่องนี้ที่สุดคือการเปรียบเทียบระหว่างการทำ "ข่าวหมู่" (pack journalism) ของคนข่าวกระแสหลัก กับ "ปัญญาฝูงชน"ในรูปของ "นักข่าวพลเมือง" (citizen journalism) ที่มีความหลากหลายของแง่มุมข่าวมากกว่า

"ข่าวหมู่" ของนักข่าวในอดีตที่ยังหลงเหลือในปัจจุบันหรือการที่นักข่าวในแต่ละสายข่าวลอกเนื้อหาของข่าวกันและกันขณะที่ "นักข่าวพลเรือน" แยกกันทำจากมุมของตนเองด้วยอุปกรณ์เท่าที่มี

การก่อเกิดของ social media ที่เอื้อให้เกิด citizen journalism อย่างกว้างขวางกำลังจะทำให้วิธีการทำงานแบบเก่าของกระแสเดิมมีอันต้องล่มสลายอย่างไม่ต้องสงสัย

เพราะเราหนีไม่พ้นสัจธรรมที่ว่า ยิ่งมีคนทำข่าวมาก, คุณภาพข่าวย่อมต้องยิ่งดีขึ้น...และท่ามกลาง "ความอลหม่าน" ของ "สำนักข่าวฝูงชน" นั้น, ข่าวจริงอันเกิดจากการตรวจสอบของผู้คนจำนวนมากก็จะขจัดข่าวปล่อยและข่าวลือไปตามธรรมชาติเอง

Tuesday, December 20, 2011

ห้องข่าวใหม่, ห้องข่าวเก่า


มองข้ามไปปีใหม่..ผมเห็นช่องว่างระหว่าง "ห้องข่าววันนี้" กับ "ห้องข่าวอนาคต" ที่กว้างขึ้นอย่างเป็นได้ชัด

ห้องข่าวของสื่อที่ตื่นตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่มาจากโลกดิจิตัลจะเน้น "การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ" ขณะที่ห้องข่าวแบบเก่าจะยังคิดและทำประหนึ่งจะกลัวการสูญเสียอะไรบางอย่างที่ต้องปกป้องสุดชีวิต

ห้องข่าวบางแห่งแม้จะพูดถึงเรื่องดิจิตัลและการก้าวเข้าสู่การทำงานแบบใหม่, แต่วิธีคิด, แนวทางปฏิบัติและขั้นตอนในกระบวนการทำงานข่าวก็ยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

ดั่งที่มีการกล่าวเปรียบเปรยกันเสมอว่า "ยิ่ง (ทำเหมือน) เปลี่ยน, ยิ่งเหมือนเดิม" (คำในวงเล็บ, ผมใส่เอง)

ปีใหม่นี้เราจะเห็นปรากฏการณ์ของสื่อสิ่งพิมพ์ก้าวเข้าสู่การทำทีวีดาวเทียมคึกคักขึ้น, หรือไม่ก็เป็นการทำ "เว็บทีวี" อ่านอินเตอร์เน็ท ซึ่งเท่ากับเป็นการตอกย้ำความตระหนักว่าสื่อเก่ามิอาจจะทานกระแสของความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคข่าวที่สามารถรับรู้ข่าวสารและข้อมูลสารพัดจากแหล่งดิจิตัลอย่างคล่องแคล่ว ดังนั้น หากคนทำสื่อเองต้องการจะตอบสนองความต้องการของผู้เสพข่าวจริง, ก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องปรับแนวคิดและวิธีการทำงานอย่างแข็งขัน

หัวหน้าข่าวที่ไม่ทันความเปลี่ยนแปลงเมื่อต้องเจอกับคนข่าวรุ่นใหม่ที่มีความคล่องแคล่วกับการใช้อุปกรณ์ทำข่าวดิจิตัลสารพัดก็จะเกิดอาการต่อต้าน หรือไม่ก็ปฏิเสธที่จะรับรู้คลื่นลูกใหม่ที่ถาโถมเข้ามา

ระดับนำในห้องข่าวที่พร้อมจะเรียนรู้ปรับตัวและเข้าใจการทำงานของ social media เพื่อเสริมงานด้านข่าวและสร้างเครือข่ายแห่งข่าวสารก็จะสามารถดำรงความเป็นผู้นำอยู่ได้ หาไม่แล้ว, พวกเขาก็จะต้องหลบมุมไปอยู่ซอกหนึ่งของห้องข่าวขณะที่คนข่าวรุ่นใหม่สามารถทำข่าวระหว่างเคลื่อนไหวไปตามจุดที่มีเหตุการณ์ได้อย่างไม่ยี่หระต่อรูปแบบการทำงานแบบก่อนเก่า

การปรับตัวที่ได้ผลในห้องข่าวย่อมหมายถึงการที่คนข่าวรุ่นก่อนใช้ประสบการณ์และความลุ่มลึกถ่ายทอดให้คนข่าวรุ่นใหม่ได้เรียนรู้เพื่อเสริมความเร็วแห่งยุคดิจิตัล ขณะที่ตัวเองก็พร้อมที่จะปรับตัวให้เข้าใจและรู้จักใช้เทคโนโลยีเพื่อการทำงานของตนให้มีคุณภาพ, ความเร็ว, ความกว้าง, และความลึกไปพร้อม ๆ กัน

ห้องข่าวไหนปรับตัวได้ทัน,คนข่าวไหนที่ตระหนักในจังหวะของการปฏิวัติแห่งแวดวงข่าวสาร...ย่อมแปลว่าพวกเขาและเธอเห็น "อนาคตแห่งข่าว" ได้จะแจ้ง

ห้องข่าวใดยังยึกยักระหว่างเก่ากับใหม่, ระหว่างความกลัวกับความกล้าทดลอง, ระหว่างความเร็วกับความลึก, ห้องข่าวนั้นยังต้องผ่านการทดสอบอีกหลายเพลานัก

Saturday, December 17, 2011

เราต้องสร้าง 'นักเขียนความเรียง' (essayist) พร้อมกับ 'นักข่าวภาคสนาม'


การจากไปของนักเขียน, นักหนังสือพิมพ์, พิธีกรทีวี และนักโต้วาทีอย่าง Christopher Hitchens วัย 62 เป็นที่กล่าวขวัญถึงในแวดวงสื่อของสหรัฐฯและอังกฤษไม่น้อย ...แม้ว่าคนที่เขียนไว้อาลัยเขาจำนวนหนึ่งจะยอมรับว่าไม่ชอบนายคนนี้เพราะนิสัยก้าวร้าว, พูดจากรรโชก, และถกเถียงอย่างดุเดือดเลือดพล่านเสมอ

ผมอ่านเขาใน "God is Not Great" ในฐานะที่เขาไม่เคยเชื่อในเรื่องพระเจ้าจนถึงวินาทีสุดท้ายของการต่อสู่กับมะเร็งที่กล่องเสียง และได้ผ่านผลงานเขียนของเขาใน Vanity Fair บ่อยครั้ง

จะชอบเขาหรือไม่ จะเห็นด้วยกับเขาหรือไม่ (เขาแปรสภาพนักคิดนักเขียนจากซ้ายสุดมาอยู่ขวาสุดขอบได้อย่างไม่รู้สึกขวยเขิน) แต่ทุกคนที่เขียนเกี่ยวกับเขาเมื่อเขาจากไปเมื่อวันที่ 15 ธันวาฯที่ผ่านมายอมรับตรงกันอย่างหนึ่งว่า

เขาเป็นนักหนังสือพิมพ์ประเภท essayist ที่หาตัวจับยากยิ่งในอเมริกา (เขาเกิดที่อังกฤษแต่ไปมีอาชีพสื่อที่วอชิงตัน) ด้วยภาษาราบรื่น, แหลมคม, และสามารถโต้เถียงประเด็นการเมือง, สังคมและเศรษฐกิจได้อย่างน่าทึ่งยิ่ง

ฮิทเช่นส์ (หนังสือเล่มนี้คือการเขียนถึงชีวประวัติของตัวเองที่หนักไปทางเหล้าและบุหรี่กับความเป็นเลิศด้านภาษาและตรรกะการเมืองที่ชวนทุกคนถกแถลงได้ทุกหัวข้อ) เป็น "นักเขียนความเรียง" หรือ essayist ที่ผมคิดว่าเป็นคนทำสื่อพันธุ์ที่หายากขึ้นทุกวัน

แต่การเป็น "นักเขียนความเรียง" ที่ใช้ภาษาสละสลวย, แม่นยำ, แหลมคม, ท้าทายและเรียงลำดับความคิดพร้อมเหตุผลของตนอย่างน่าอ่านและสื่อความหมายได้อย่างมีความหมายนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดโดยเฉพาะในยุคของสื่อดิจิตัลที่มองผิวเผินแล้วต้องการความเร็วและความสั้นมากกว่าความลุ่มลึกและความแหลมคมแห่งภาษา

ผมกลับเห็นว่าอนาคตของข่าวจะยั่งยืนและสอดคล้องกับความต้องการของสังคมในอนาคตไม่ได้เลยหากเราไม่ฝึกฝนคนข่าวรุ่นใหม่ที่เข้าไปสัมผัสกับ social media อย่างคึกคักให้สามารถเป็น essayist ไปด้วยอย่างจริงจังและมุ่งมั่น

เพราะหากเรามีแต่เพียง digital reporter และขาด essayist แล้วไซร้, การทำหน้าที่ในฐานะ "ผู้สื่อสารเพื่อความหลากหลายทางความคิดของสังคม" ก็จะไม่สมบูรณ์ และจะขาดสิ่งที่สำคัญที่สุดในกระบวนการสื่อความหมาย

นั่นคือการใช้ภาษาที่มีศิลป์เพื่อเสนอข่าวและความเห็นที่ลึก เน้นเหตุและผล แทนที่จะมุ่งหาความเร็วและความสั้นแต่เพียงอย่างเดียว

อนาคตของข่าวจึงต้องการ "นักเขียนความเรียง" ไปพร้อม ๆ กับ "นักข่าวภาคสนาม" ที่ทำหน้าที่เสนอข่าวอย่างรวดเร็วฉับพลันขณะที่พยายามจะเรียงร้อยความเป็นไปที่สืบเสาะได้อย่างรอบด้าน,ลึก, และชัดเจน

Tuesday, December 13, 2011

กฎหมายถือว่า blogger เป็น journalist หรือไม่?


คนเขียนบล็อก (blogger) ถือว่าเป็นคนทำสื่ออาชีพ (journalist) หรือไม่?

ประเด็นนี้่ถกเถียงกันมาพักใหญ่แล้ว แต่วันก่อนศาลที่เมืองพอร์ทแลนด์ของสหรัฐฯตัดสินคดีหนึ่ง ฟันธงว่าคนเขียนบล็อกในอินเตอร์เน็ทไม่ได้รับการปกป้องตามกฎหมายว่าด้วยการทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของคนอื่นเหมือนสื่อสารมวลชนอาชีพ

พูดง่าย ๆ คือหากตีความตามคำพิพากษานี้ blogger หาใช่ journalist ไม่

ซึ่งย่อมทำให้การถกเถียงกันในหัวข้อนี้ร้อนแรงต่อไปเพราะในหลายกรณี ผมเชื่อว่าคนเขียนบล็อกก็ทำหน้าที่่เป็นสื่อมวลชนอย่างเต็มรูปแบบ และบางคนทำได้ดีกว่าคนทำสื่ออาชีพด้วยซ้ำ แต่นั่นย่อมขึ้นอยู่กับคุณภาพของแต่ละคนในแต่ละกรณี ไม่อาจจะระบุเป็นข้อสรุปตายตัวได้

หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ journalist เป็น blogger แต่ blogger ไม่ใช่ journalist เสมอไป

คดีที่ผมยกมาเล่านี้เกิดที่เมืองพอร์ทแลนด์ของสหรัฐฯ คนเขียนบล็อกชื่อ Crystal Cox ซึ่งบอกว่าตัวเองเป็นสื่อมวลชนที่ทำข่าวประเภทสืบสวนสอบสวน เปิดโปงเรื่องราวในบริษัทลงทุนการเงินแห่งหนึ่งที่ชื่อ Obsidian Finance Group

เธอเขียนบทความหลายเรื่องต่อเนื่องกันในบล็อกของเธอที่วิพากษ์วิจารณ์ผู้ร่วมก่อตั้งคนหนึ่งของบริษัทนี้ชื่อ Kevin Padrick ซึ่งฟ้องหมิ่นประมาทเธอในศาลโดยอ้างว่าความเสียหายที่บทความในบล็อกของเธอนั้น "จะติดอยู่กับผมตลอดไป เพราะอะไรที่เกิดในอินเตอร์เน็ทไม่สามารถจะแก้ไขให้หายไปได้."

ผู้พิพากษา Marco A. Hernandez มีคำวินิจฉัยว่าคนเขียนบล็อกไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายว่าด้วยสื่อเพราะเธอไม่ได้สังกัด"หนังสือพิมพ์, นิตยสาร, รายคาบ,หนังสือ, ใบประกาศ, สำนักข่าว, บริการข่าว, หรือเครือข่ายข่าวหรือสารคดี, สถานีวิทย, สถานีโทรทัศน์" ใด ๆ

ผู้พิพากษาตัดสินว่าที่เธอเรียกตัวเองว่าเป็น "สื่อมวลชน" นั้นฟังไม่ขึ้นตามการตีความตัวบทกฎหมายของศาล

และเสริมว่าแม้ว่าเธอจะได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายสำหรับสื่อฉบับดังกล่าว, ศาลก็จะไม่ถือว่าเข้าข่ายอยู่ดีเพราะนี่เป็นคดีว่าด้วยการหมิ่นประมาททางแแพ่ง

นี่คือตัวอย่างของความแตกต่างระหว่างกฎหมายเดิมกับอินเตอร์เน็ทที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา

ในอเมริกา, มีรัฐอยู่ประมาณ 40 รัฐที่มี "กฎหมายคุ้มครอง" สำหรับสื่อ แต่หลายรัฐก็ได้ปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้คำว่า "สื่อ" รวมหมายถึงสื่อรูปแบบใหม่เช่นบล็อกเป็นต้น แต่อีกหลายรัฐก็ยังไม่มีการแก้ไขกฎกติกาเพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิตัล

กฎหมายไทยยังต้องสังคยนากันอีกมากหากจะให้ทันกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกเทคโนโลยีการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซท์, บล็อก, และโดยเฉพาะ social media อย่างเฟสบุ๊ก, ทวิตเตอร์และยูทูป

ยังต้องถกเถียง, แลกเปลี่ยน, ปรับวิธีคิด, ให้ความรู้, และเรียนรู้กันทุก ๆ ฝ่ายในสังคมจึงจะปรับเปลี่ยนกฎ, กติกา, มารยาทให้เกิดประโยชน์สูงสุดแด่สังคมโดยส่วนรวม

Saturday, December 10, 2011

Newsmotion...ผสานความฉับพลันและต่อเนื่องของข่าว


กลุ่มคนข่าวที่รวมตัวกันเพื่อประสานความพยายามในการทำข่าวระหว่างประเทศที่ร้อนแรงให้สอดประสานระหว่าง "ศิลป์กับเครือข่ายข่าวและนักข่าวอาชีพ" เพื่อให้เกิดผลงานที่มีคุณภาพระดับสูงในยุคดิจิตัลเรียกตัวเองว่า Newsmotion.org

การรวมตัวของคนข่าวเหล่านี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการรายงานข่าวการปฏิวัติของอีจิปย์ในปีนี้

ประเด็นที่ท้าทายคนทำข่าวระหว่างประเทศที่ระเบิดขึ้นมาต่อหน้าต่อตาเช่นการลุกฮือของประชาชนในโลกอาหรับในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาคือ...จะผสมผสานความเร็วกับความลึกอย่างไร? จะรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและสามารถทำให้เรื่องราวนั้นอยู่ในความสนใจของทั้งคนทำข่าวและผู้บริโภคข่าวอย่างไร?

หรืออย่างที่เขาตั้งคำถามกับตัวเองว่า "The moment versus the long run."

คนข่าวกลุ่มนี้จึงรวมตัวกันเพื่อให้ "ความฉับพลัน" กับ "ความต่อเนื่อง" (immediacy and continuity) เป็นเป้าหมายของการทำงานให้บรรลุภารกิจของคนข่าวมืออาชีพ

โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษให้กับประเด็นความเป็นธรรมในสังคมและสิทธิมนุษยชน และจับหัวข้อข่าวที่เกี่ยวกับการฆ่าหมู่, เศรษฐกิจตลาดมืด,หรือแม้แต่เรื่องการมีน้ำดื่มน้ำใช้เพียงพอสำหรับชาวบ้านในแถบกันดารอย่างไรหรือไม่

เรียกว่าจะให้ความสนใจกับทั้งเรื่องใหญ่และเรื่องเล็กที่อยู่ใกล้ตัวมนุษย์ทุกชุมชน

คนข่าวกลุ่มนี้ล้วนเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านข่าวและวิเคราะห์ความเป็นไปด้านสื่อ และหลายคนได้รับรางวัลด้านการเจาะข่าวที่โดดเด่นมาแล้ว

ไม่ว่าจะเป็น Julian Rubinstein ซึ่งเป็นทั้งนักข่าว, นักเขียน, โปรดิวเซอร์,และอาจารย์
หรือ Elizabeth Rubin นักข่าวสงคราม
หรือ Natalie Jeremijenko ศิลปิน, วิศวกร, อาจารย์มหาวิทยาลัย และคนอื่น ๆ
รวมถึงที่ปรึกษาโครงการเปิดเว็บไซท์นี้เช่น Todd Gitlin กับ Dale Maharidge ซึ่งเป็นทั้งคนข่าวและอาจารย์ด้านสื่อสารมวลชนอย่างโชกโชนมาแล้วทั้งสิ้น

หลักการทำงานที่ผมคิดว่าสะท้อนแนวทางของ "อนาคตแห่งข่าว" จริง ๆ คือการประกาศว่าพวกเขาจะผลักดันให้แวดวงทำข่าวระหว่างประเทศเป็นเรื่องของการ "เล่าเรื่องที่มีคุณภาพและเน้นเรื่องราวที่มีความสำคัญ"

การรวมตัวเพื่อยกระดับของการรายงานข่าวระหว่างประเทศมีความสำคัญมากขึ้นทุกวันนี้เพราะสื่อสำคัญ ๆ ในโลกตะวันตกที่ได้รับแรงกดดันจากรายได้โฆษณาที่หดหายได้เริ่มลดจำนวนนักข่าวต่างประเทศลงอย่างต่อเนื่อง จนสร้างความวิตกว่าคุณภาพของข่าวจากทั่วทุกมุมโลกนั้นจะลดน้อยถอยลงทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณ

บรรดาคนข่าวและนักสอนหนังสือด้านนี้จึงเห็นความสำคัญในอันที่จะรวมตัวกันเพื่อยกระดับการทำข่าวในประชาคมโลกไม่ให้หล่นหายไปจากความสนใจของชาวโลก

ยิ่งเกิดความเปลี่ยนแปลงรุนแรงและกว้างขวางในทุกมุมของโลกเช่นนี้ ก็ยิ่งจำเป็นจะต้องปรับมาตรฐานกันตลอดเวลา

เพื่อจับ "สัญญาณ" จาก "เสียงโหวกเหวก" ให้ชัดเจนและแจ่มแจ้งสำหรับผู้บริโภคข่าวที่วันนี้มีปริมาณของข่าวที่ไหลเทอย่างเอ่อท่วม แต่ขาดการวิเคราะห์และตีความหลากหลายรอบด้านอย่างน่ากลัวยิ่ง

Thursday, December 8, 2011

Tweet seats เป็นอีกด้านหนึ่งของอนาคตของข่าว


ผมรู้ว่าวันหนึ่งมันจะต้องเกิดขึ้น...นั่นคือคุณสามารถทวีตเนื้อหาที่คุณกำลังสัมผัสอยู่ระหว่างดูหนังดูละครสด ๆ ได้....ถือเป็นวิวัฒนาการสื่อในยุค social media ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในยุคดิจิตัลอย่างแท้จริง

ผมได้ข่าวว่าโรงละครบางแห่งในอเมริกาต้องการจะเอาใจ "พวกเป็นโรคติดสมาร์ทโฟน" (ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก) ด้วยการเปิดให้มี "ที่สั่งสำหรับคนทวีต" (tweet seats) ซึ่งจัดไว้ให้เฉพาะคนที่ต้องการดูละครหรือดูหนังไป ส่งความเห็นวิพากษ์วิจารณ์หรือเล่าเรื่องผ่านทวีตออกไปพร้อม ๆ กัน

เป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างคนดู และคนที่ไม่ได้ดูอยู่ในขณะนั้นเพื่อให้เกิดความบันเทิงและความรู้ในรูปแบบใหม่ที่สด, ร้อน, และเกิดขึ้นแบบ real time อย่างแท้จริง

แน่นอนว่าคนที่จะทวีตระหว่างดูหนังและละครจะต้องแยกออกไปอยู่อีกส่วนหนึ่งของโรง เพราะต้องเคารพในสิทธิ์ของคนอื่นที่ต้องการนั่งดูเพื่อความบันเทิงโดยไม่ต้องการส่งข้อความอะไรให้กับใครทั้งสิ้น ดังนั้น ส่วนที่นั่งของ "tweet seats" ก็คงจะต้องแยกไปไว้ข้างหลังเฉพาะตัว ไม่รบกวนคนอื่นที่มีรสนิยมเป็นอีกอย่างหน่ึง

ซึ่งแปลว่าอนาคตของการสื่อสารระหว่างกันในสังคมนั้นจะไม่ใช่เพียงแต่การส่งข่าวร้อนแรงที่เป็น breaking news ผ่าน social media เท่านั้น หากแต่ยังหมายรวมถึงข่าวบันเทิงเริงรมย์และกิจกรรมอื่น ๆ ที่ต้องการปฏิสัมพันธ์ระหว่งผู้ร่วมรสนิยมอีกด้วย

Friday, December 2, 2011

ฤาจะมีรางวัลข่าว Pultizer สำหรับคนรายงานข่าวร้อนผ่าน Twitter ในไม่ช้า?


พอคณะกรรมการตัดสินรางวัลพูลิทเซอร์ของสหรัฐฯประกาศเปลี่ยนกติกาการเสนอชิงรางวัล ให้ทุกคนต้องส่งเป็นรูปแบบดิจิตัลแทนที่จะเป็นกระดาษเป็นปึก ๆ ก็มีการคาดการณ์กันในหมู่คนข่าวยุคนี้ว่า "อย่างนี้แปลว่าคนใช้ Twitter ก็อาจจะได้รับรางวัลนี้เหมือนกันใช่ไหม?"

เพราะรางวัลพูลิทเซอร์มีประเภท "breaking news" ด้วย, ยิ่งทำให้คนเล่นทวิตเตอร์เห็นโอกาสทองที่ชาวทวิภพจะเรียกร้องสิทธิ์ที่จะได้รับการพิจารณาด้วยอย่างน่าตื่นเต้นทีเดียว

Justin Ellis เขียนใน Nieman Journalism Lab ล่าสุดว่ากติกาใหม่ของคณะกรรมการตัดสินรางวัลของสื่อสารมวลชนที่มีเกียรติที่สุดในวงการสื่อสหรัฐฯนั้นบอกด้วยว่าในการตัดสินรางวัลประเภท "breakin news" ในปีใหม่นั้นจะให้ความสำคัญกับ "real time news" ซึ่งหมายถึงการที่ใครจะสามารถรายงานข่าวร้อนขณะที่เกิดขึ้นวินาทีต่อวินาที

ซึ่งย่อมหมายถึงการรายงานข่าวที่เกิดขึ้นกระทันหันผ่าน blogs, streaming video หรือ Twitter

พูดอีกนัยหนึ่งก็คือการรายงานข่าวสด ๆ ที่เกิดขึ้นฉับพลันนั้นไม่ใช่เป็นการผูกขาดของทีวีและวิทยุอย่างที่เป็นมาตลอดอีกต่อไป

ทำให้ผมคิดถึงสถาบันสื่อหลายแห่งที่มอบรางวัลประจำปีให้กับการรายงานข่าวในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้คนทำสื่อสามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างมีคุณภาพดีเลิศและสอดคล้องกับความต้องการของสังคม

น่าจะถึงเวลาที่ประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับรางวัลสำหรับคนทำข่าวที่ใช้ social media เพื่อทำหน้าที่รายงาน, วิเคราะห์, ขุดคุ้ย, สร้างกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อคนในสังคมอย่างโดดเด่นและประเมินผลได้ชัดเจน

โลกของสื่อเปลี่ยน, สังคมของการรับรู้และบริโภคข่าวสารก็ปรับตัวอย่างชัดเจนเช่นกัน...รางวัลสำหรับคนทำดีทำประโยชน์ในสื่อเครือข่ายสังคมจึงควรจะได้รับการทบทวนพร้อม ๆ กันไปด้วย

Thursday, December 1, 2011

ไทม์ก็มี 'โรงเรียนสอนสื่อ" ของตัวเอง


แอบเปิลมีมหาวิทยาลัยภายในของตัวเอง แมคโดเนิลก็มีโรงเรียนสอนผู้บริหารเฉพาะกิจ ตอนนี้ Time Inc เจ้าของนิตยสารไทม์และสื่ออื่น ๆ ก็มี "วิทยาลัยสื่อ" หรือ Journalism School ของตัวเองเช่นกัน

"โรงเรียน" ของไทม์เน้นการสอนคนข่าวที่ใช้จริงในชีวิตการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นวิธีเขียนข่าวหรือศิลปะแห่งการสัมภาษณ์ ตลอดไปถึงวิธีเล่าวข่าวผ่านวีดีโอคลิบ

และที่พลาดไม่ได้ในโลกสื่อดิจิตัลวันนี้คือการสอนให้คนข่าวทำข่าวที่ส่งผ่านมือถือไปถึงผู้บริโภคข่าวให้ทันท่วงทีและมีคุณภาพได้มาตรฐานอันควร

โรงเรียนสื่อสารมวลชนของไทม์มีทั้งหมดกว่า 150 วิชา มีหัวข้อสอนที่น่าสนใจมากเช่น

"10 Things You Need to Know to Run a Digital Business."
"The Beginner's Guide to Mobile."
"How to Get the Most Out of Breaking News Online."
เป็นต้น

วิชาทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่เป็นการสอนครั้งละหนึ่งวันเต็ม และครูที่สอนก็คือคนข่าวที่มีประสบการณ์ในองค์กรเอง อีกทั้งห้องเรียนก็คือสำนักงานใหญ่ของไทม์ อิงค์ที่นิวยอร์คนั้นเอง

ไม่ต่างอะไรกับแนวคิด "ห้องเรียนติดกับห้องข่าว" ของ Nation University ต่างกันเพียงว่า "มหาวิทยาลัยเนชั่น" นั้นหลักสูตรเป็นปริญญา, แต่ของ Time Inc เป็นวิชาเฉพาะกิจที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มทักษะและความเข้าใจของคนข่าวทั้งในองค์กรและข้างนอกเพื่อยกระดับความสามารถของคนข่าวในยุคที่ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างเร้าร้อนและรุนแรง

ที่ Pixar University เขาสอนการสร้างหนังทุกขั้นตอน รวมไปถึงวิชาวาดรูปกับเขียนนิยายและเรื่องสั้น ส่วน Apple University นั้นต้องการสอนระดับผู้บริหารที่จะเป็นนักนวัตกรรมและสร้างสรรค์เหมือนสตีฟ จ็อบส์

เป็นข้อพิสูจน์ว่าการเรียนรู้ในแวดวงสื่อสารมวลชนยุคดิจิตัลนั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่ง ไม่ว่าในวัยใดหรืออยู่ในขั้นตอนของการทำงานช่วงใด

เพราะหากไม่เรียนรู้ทักษะและหลักคิดใหม่ ๆ, ก็ไม่อาจจะตามทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

Monday, November 28, 2011

ตัวอย่างของจริง...พลังของ social media ในการทำข่าวสืบสวนสอบสวน


Paul Lewis นักข่าว Guardian เจ้าของรางวัลข่าวสืบสวนสอบสวนเล่าถึงการที่เขาใช้ social media โดยเฉพาะ Twitter ในการทำข่าว investigative reporting เพราะเขาเชื่อในพลังของ "นักข่าวพลเรือน" ในโลกยุคดิจิตัลที่ประชาชนทั่วไปมีกล้องมือถือและ tablets ที่เป็นอุปกรณ์ของการบันทึกภาพ, เสียง, วีดีโอและเขียนรายงานข่าวได้ในจังหวะและโอกาสที่นักข่าวอาชีพไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ

กรณีแรกคือชายคนหนึ่งชื่อ Ian Tomlinson ที่ตำรวจบอกว่าตายระหว่างการประท้วง "ด้วยสาเหตุธรรมชาติ" แต่มีเหตุอันน่าสงสัยทำให้นักข่าวคนนี้เข้าไปในทวิตเตอร์เพื่อถามว่า "มึใครเห็นเหตุการณ์นี้บ้างไหม? ถ้ามี, ช่วยติดต่อผมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกันหน่อย..."

ชายคนนี้ไม่ได้เป็นผู้ประท้วงด้วยซ้ำ เขาเพียงแค่เดินทางกลับบ้านจากที่ทำงานผ่านเส้นทางที่กำลังมีเรื่องประท้วงกันอยู่

คนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นมีหลายคน มีรูปในมุมต่าง ๆ แต่ไม่มีใครมีคลิบวีดีโอเด็ดเท่ากับนักการธนาคารอเมริกันคนหนึ่งที่บังเอิญวันนี้มีกล้องมือถือและผ่านไปในจุดที่เกิดเรื่องที่ลอนดอนพอดี

เขาอ่านเจอทวิตเตอร์ของนักข่าวคนนี้จากนิวยอร์ค จึงส่งคลิบนั้นมาให้ทางอินเตอร์เน็ท และเมื่อนักข่าวได้คลิบ และสืบสวนต่อเนื่องไป ก็ได้ความว่าที่ตำรวจแถลงก่อนหน้านี้ว่าชายคนนี้ตายด้วย "เหตุปกติ" นั้นเป็นเรื่องโกหก

คลิบของ "citizen reporter" คนนี้ยืนยันว่าเขาถูกตำรวจซ้อมจนตาย

อีกคดีหนึ่งเป็นคนอัฟริกา (Jimmy Mubenga,ผู้ลี้ภัยการเมืองจากแองโกล่า, พำนักที่ลอนดอน) ที่ตายบนเครื่องบิน เพราะเจ้าหน้าที่อังกฤษต้องการจะกักกันตัวเขา และเขาดิ้นสู้ ปรากฏว่าถูกควบคุมตัวบนเครื่องบินด้วยวิธีการที่ทำให้เขาหายใจไม่ออก พอเครื่องบินจอดก็กลายเป็นศพแล้ว

ตำรวจแถลงข่าวว่าเขาตาย "ด้วยเหตุปกติ" อีกเช่นกัน

นักข่าวคนเดียวกันนี้บอกว่าเมื่อได้ข่าวเรื่องนี้ก็มีความอยากรู้อยากเห็นว่าอยู่ดี ๆ ชายวัยกลางคนซึ่งดูมีสุขภาพปกติจึงตายได้ง่าย ๆ...เขาหันไปหาทวิตเตอร์อีกเช่นเคย ถามว่าใครอยู่บนเที่ยวบินนั้น ใครเห็นอะไรที่ผิดปกติกับชายคนนี้หรือไม่

ไม่กี่วันต่อมา เขาก็ได้รับโทรศัพท์จากชายคนหนึ่งที่อยู่บนเที่ยวบินนั้น เห็นวิธีการที่ตำรวจล็อกคอชายคนนั้น และเขาร้องตะโกนว่าหายใจไม่ออกอยู่หลายรอบ จนแน่นิ่งไป ซึ่งแปลว่าเขาตายเพราะการกระทำของตำรวจต่อหน้าผู้โดยสารคนอื่น

นักข่าว Paul Lewis ติดตาม "นักข่าวพลเมือง" คนนั้นเพื่อขอข้อมูลที่ละเอียด และเจาะไปถึงผู้โดยสารคนอื่นที่อยู่ในเที่ยวบินเดียวกันนี้เพื่อตรวจสอบข่าวให้ละเอียดรอบคอบถี่ถ้วน

ลงท้าย ด้วยการใช้ crowd sourcing หรือ "ปัญญาแห่งฝูงชน" ในการทำข่าวผ่าน social media ข่าวที่ปกติจะแสวงหาความจริงได้ยากยิ่งก็กลายเป็นเรื่องที่สามารถทำความจริงให้ประจักษ์ได้อย่างน่าอัศจรรย์

นี่คือพลังของ social media ในการส่งเสริมการทำข่าว investigative reporting อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด

Paul Lewis ยอมรับว่าข้อมูลและข่าวสารผ่าน Twitter และ Facebook นั้นมีไม่น้อยที่เป็นข่าวลือและข่าวปล่อยซึ่งนักข่าวอาชีพต้องแยกแยะให้ได้ ไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ใช้ social media ไปในทางที่ผิด

แต่ขณะเดียวกันเครือข่ายสังคมออนไลน์เหล่านี้ก็เป็นอาวุธทรงพลังในการช่วยให้คนทำข่าวสามารถเจาะเรื่องราวอย่างลุ่มลึกและกว้างไกลกว่าที่คนทำสื่อจะสามารถมาได้ก่อนหน้านี้อย่างวิเศษสุดเช่นกัน

Saturday, November 26, 2011

We the Media: เราต่างก็ล้วนเป็นสื่อสารแห่งมวลชนด้วยกันทั้งสิ้น


นี่เป็นหนังสือเล่มแรก ๆ ที่ผมอ่านเกี่ยวกับการปฏิวัติของวงการข่าวเมื่อหลายปีก่อน วันนี้ ผมหยิบมันขึ้นมาอ่านอีกครั้งก็ยังชื่นชมคนเขียน Dan Gillmor ว่าสามารถพยากรณ์ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของวงการสื่ออันมีสาเหตุมาจากการที่อินเตอร์เน็ทได้กลายเป็นปัจจัยหลักแห่งการปรับใหญ่ในประวัติศาสตร์รอบนี้

หนังสือเล่มนี้เริ่มด้วยการประกาศเป็นสัจธรรมว่าสื่อกระแสหลักยักษ์ ๆ ทั้งหลายได้สูญเสียอำนาจผูกขาดข่าวไปแล้วโดยสิ้นเชิง (ตอนนั้นสื่อส่วนใหญ่ยังเห็นว่าคำทำนายอย่างนั้น "เว่อร์" ไป)และบอกว่ารูปแบบการนำเสนอข่าวสารนั้นสามารถทำได้แบบทันท่วงที (real time) และไปสู่ผู้บริโภคข่าวทั่วโลกได้โดยฉับพลัน

คำว่า "We The Media" ที่เป็นชื่อหนังสือนั้นมีความหมายว่า "คนข่าวรากหญ้า" (grassroots journalists) รุ่นใหม่กำลังเกิดขึ้นมาแล้วเพราะอินเตอร์เน็ทได้ยื่นอาวุธที่ทรงพลังที่สุดให้กับประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน

เมื่อใครก็สามารถหาซื้อแล็บท็อป, โทรศัพท์มือถือ, และกล้องถ่ายรูปดิจิตัลได้อย่างสะดวกดาย "คนเหล่านี้ก็แปรสภาพจากคนอ่านมาเป็นนักข่าว" และแปรสภาพของข่าวจากเดิมที่เป็นเล็กเชอร์ (คนข่าวนำเสนอแต่เพียงฝ่ายเดียว) มาเป็นการสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างผู้คนในชุมชน

จาก lecture ของคนทำข่าวสู่คนรับสารมาเป็น conversation ของสังคมเกี่ยวกับทุกเรื่องราวที่มีความสำค้ญต่อความเป็นไปของบ้านเมืองที่เป็นของทุกคน

คนเขียนคือ Dan Gillmor เป็นทั้งคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ในโลกสื่อเก่าและเป็นคนเขียนบล็อก (blogger) ของยุคอินเตอร์เน็ทวิเคราะห์สถานการณ์แห่งข่าวสารแล้วสรุปว่านี่คือปรากฏการณ์ทีกำลังเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เป็นปรากฏการณ์แห่งความเปลี่ยนแปลงอันลุ่มลึกและกว้างขวางที่มีผลต่อการทำข่าวและบริโภคข่าวในอัตรารุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลย

คนเขียนเตือนว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจะมีผลกระทบต่อทุกคน เป็นนาฬิกาปลุกให้ตื่นจากภวังค์ต่อนักการเมือง, นักธุรกิจ, นักการตลาด, และแน่นอนนักสื่อสารมวลชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะอะไรที่เคยเป็นเรื่องที่ "ควบคุมได้" (control) จะกลายสภาพเป็นการ "เกี่ยวพันแลกเปลี่ยน" (engagement) ซึ่งแปลว่ากฎกติกามารยาทของเกมนี้ได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างรุนแรงยิ่ง

หนังสือเล่มนี้ส่งสารเตือนเป็นพิเศษถึงคนทำสื่อที่จะต้องปรับตัวขนานใหญ่ เพราะเมื่ออินเตอร์เน็ทก่อให้เกิดพาหนะใหม่ ๆ สำหรับการสื่อข่าวสารและเนื้อหาสาระเช่นนี้, หากพวกเขาปฏิเสธที่จะเปลี่ยน, ก็เท่ากับยอมรับสภาพของการเป็นคนล้าสมัยที่วันหนึ่งในไม่ช้าก็จะไร้บทบาทในสมการแห่งวงการสื่อสารมวลชนอย่างค่อนข้างแน่นอน

ดังนั้น สื่อแห่งศตวรรษที่ 21 จึงจะแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงจาก "สื่อกระแสหลัก" ที่เคยมีอำนาจและอิทธิพลในสังคมล้นหลาม

"We the Media" ขอสาดส่องแสงสว่างต่ออนาคตของสื่อ และเชิญชวนให้ทุกคนเข้าร่วมกระบวนการอันน่าตื่นตาตื่นใจนี้...

ผมพลิกไปดูหน้าแรก ๆ ของหนังสือเล่มนี้่...ตีพิมพ์ปี 2004 (แค่ 7 ปีก่อน) แต่ทุกอย่างก้าวกระโดดรวดเร็วและหนักหน่วงกว่าที่หนังสือเล่มนี้ทำนายเอาไว้ด้วยซ้ำ

อย่าลืมว่าตอนหนังสือเล่มนี้วางตลาดยังไม่มี 3G ไม่มี iPhone ไม่มี iPad และยังไม่มี Tablets ยี่ห้อต่าง ๆ ไม่มี iCloud ที่ทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์ยุคใหม่อีกก้าวหนึ่งในการทำลายโครงสร้างเก่า ๆ ของการสื่อความหมายระหว่างผู้คนในสังคมด้วยซ้ำ

Friday, November 25, 2011

เป็นคนข่าว, อย่าให้ใครเขาว่าคุณอย่างนี้เชียว!



เป็นไปได้ว่าหากคุณไม่ทำฝึกปรือตนเองให้มีเนื้อหาสาระและความสามารถในการคิดวิเคราะห์เนื้อหาข่าวและมุ่งมั่นทำหน้าที่อย่างรอบด้านเพื่อให้ผู้อ่าน, ผู้ฟัง, ผู้ชมของคุณได้ประโยชน์อย่างลุ่มลึกจากงานของคุณในฐานะคนข่าวยุคดิจิตัล, คุณก็อาจจะถูกวิจารณ์ว่าคุณไม่มีอะไรในสมองเท่าไหร่นัก...ไม่ใช่ปัญญาชน, ไม่ใช่นักเขียน, ไม่ใช่นักคิด,ไม่ใช่นักสื่อสารมวลชน, ไม่ใช่อะไรทั้งนั้น

เพียงแค่คุณมีอินเตอร์เน็ทเท่านั้น, อย่าได้กล่าวอ้างว่าเป็นคนข่าวอาชีพที่ทำงานเพื่อสาธารณชนเป็นอันขาด!

Wednesday, November 23, 2011

ปรากฏการณ์ Satire ในโลก Social Media ตอกย้ำอนาคตของข่าวที่แหลมคมยิ่ง


วิกฤติการเมืองและน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้กระตุ้นให้เกิดปรากฏการณ์แหวกแนวในแง่การนำเสนอความคิดอ่านในแง่วิพากษ์วิจารณ์ที่ออกแนว Satire หรือการเสียดสีประชดประชันที่แหลมคม, ดุเดือด, รุนแรง, อ่อนหวาน,นุ่มนวล, และอารมณ์ทุกรูปแบบก็ว่าได้

อีกทั้งเพราะมีเครื่องมือของ social media ทำให้ประชาชนคนทั่วไปสามารถแสดงความเป็น "นักวิจารณ์พลเมือง" ที่ออกมาในรูปภาพวาด, วีดีโอ, การ์ตูน,และสารพัดช่องทางที่หลากหลายอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในแวดวงของข่าวและการแลกเปลี่ยนความเห็น

สมัยหนึ่ง เราจะเห็นอารมณ์ Satire เช่นนี้เฉพาะในกลุ่มนักเขียน, คอลัมนิสต์, และการ์ตูนนิสต์การเมืองเท่านั้น แต่วันนี้ ยุคแห่งโลก New Media ที่ทุกคนล้วนสามารถแสดงออกซึ่งความสร้างสรรค์ในทุกอารมณ์ได้นั้น เราก็เห็นปรากฏการณ์ของ "ดอกไม้ร้อยดอกบานพร้อมกัน" อย่างน่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างยิ่ง

YouTube กลายเป็นแหล่งกลางของการเผยแพร่ "ศิลปะแห่งอารมร์แซทไทร์" เพื่อสะท้อนถึงความรู้สึกของผู้อยู่ในเหตุการณ์อย่างเกรียวกราว และความสามารถในการสร้างสรรค์มาจากจินตนาการของคนไทยทุกสาขาวิชาชีพอย่างเหลือเชื่อจริง ๆ

การใช้กล้อง, Photoshop, โปรแกรมตัดต่อ, และอุปกรณ์มือถือมากมายอย่างคล่องแคล่วของประชาชนทั่วไปได้ก่อเกิดความหลากหลายของ "ผลงานด้านอารมณ์" ที่เป็นรูปธรรมอย่างที่ผมเองก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อน

และนี่คือสิ่งท้าทายคนข่าวอาชีพที่เดินอยู่ในกรอบเดิม ไม่อาจจะจินตนาการว่า "มวลชน" ที่เผชิญกับความทุกข์, หงุดหงิด, และอัดอั้นด้วยตัวเองจริง ๆ นั้นสามารถสื่อความหมายผ่าน Satire ได้ถึงลูกถึงคนมากกว่าคนทำข่าวได้อย่างปฏิเสธไม่ได้เลย

ผลงานหลายชิ้นในลักษณะเสียดสีประชดประชัน ทั้งในฐานะปัจเจกและกลุ่มผู้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ด้านศิลปืแห่งการแสดงออกนั้นทำเอาคนทำสื่ออาชีพต้องตะลึงงัน เพราะจินตนาการแห่งการแสดงออกนั้นยิงตรงเข้าเป้าและสื่อสารอย่างไร้ความสงสัยใด ๆ

สำหรับผม, วีดีโอ Satire การเมืองและสังคมหลายชิ้นในช่วงนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอารมณ์คนหมู่มาก และอาจจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนโฉมการนำเสนอความเห็นในมวลหมู่ผู้คนร่วมสังคมที่ยังจะพัฒนาให้กว้างขวางและลุ่มลึกต่อไปได้อย่างน่าสนใจยิ่ง

Saturday, November 19, 2011

คนข่าวยุคดิจิตัลต้องสร้างตั้งแต่ระดับมัธยม


การสร้างคนข่าวรุ่นใหม่ที่สามารถใช้ทักษิณดิจิตัลและคิดอย่างลุ่มลึกแบบนักข่าวสืบสวนสอบสวนอาจจะต้องเริ่มตั้งแต่ชั้นมัธยม...เพราะหากปล่อยให้จบจากมหาวิทยาลัยภายใต้หลักสูตรเก่าและการสอนสั่งแบบโบราณ บุคลากรที่เราได้ก็จะยังเป็นคนข่าวแบบเก่า ๆ ที่เราจะหวังให้ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยแห่งข่าวดิจิตัลไม่ได้เลย

ภาพขัดแย้งที่เห็นชัดเจนในวันนี้คือการไหลบ่าของข่าวสารและข้อมูลอย่างท่วมท้น แต่การทำข่าวอย่างเจาะลึกและตรวจสอบผู้มีอำนาจที่เรียกว่า watchdog journalism กลับลดน้อยถอยลง หรือไม่ก็มีแต่รูปแบบ แต่ไร้เนื้อหาที่แท้จริง

ผมจึงคิดว่าเราจะต้องเริ่มสร้างคนข่าวรุ่นใหม่ตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น ด้วยการเขียนหลักสูตร "การทำข่าว" และ "อธิบายข่าว" ให้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ตั้งแต่เยาวชนของเราเริ่มสัมผัสกับข่าวผ่านสื่อต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามาหาตั้งแต่รู้ความ

ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในวิธีคิดนั้นหากปล่อยให้มาถึงระดับมหาวิทยาลัยและต้องเลือกวิชาสื่อสารมวลชนก็จะช้าไปเสียแล้วสำหรับการสร้างคนข่าวรุ่นใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องเรียนเฉพาะวิชาสื่อสารฯ แต่ควรจะสร้างความสามารถในการสื่อสารกับคนอื่นและสังคมทั่วไปด้วยการทำให้วิชา digital communications กลายเป็นวิชาบังคับในระดับมัธยม

เพราะในยุคสมัยที่กล้องมือถือ, แทบเล็ท, และอุปกรณ์การสื่อสารผ่าน social media มากมายย่อมเสริมส่งให้คนรุ่นใหม่ของเราสามารถคิดสร้างวิธีการนำเสนอความคิดและข้อมูลกับคนอื่นได้ด้วยวิธีการหลากหลายและกว้างขวางอย่างยิ่ง

ถ้าผมเป็นครูชั้นมัธยม ผมจะสอนให้นักเรียนใช้อุปกรณ์พื้นฐานถ่ายวีดีโอ, ภาพนิ่ง, ในการสัมภาษณ์ผู้คนในชุมชนท้องถิ่นเพื่อนำเสนอความเป็นไปรอบ ๆ ตัวเอง ให้ local news เป็นส่วนสำคัญของการสร้างความตื่นตัวในการแก้ปัญหาของสังคมรอบ ๆ ชุมชนโดยผ่านการทำหน้าที่เป็น "นักข่าวสมัครเล่น" หรือ "นักข่าวพลเมือง" ของคนทุกคนที่สามารถเข้าถึงและรู้ทัน social media ที่สามารตอบสนองความต้องการยกมาตรฐานของคุณภาพชีวิตของผู้คนในแต่ละชุมชนได้

หากผมมีหน้าที่สอนหนังสือตั้งแต่ระดับมัธยม, ผมจะสอนให้นักเรียนให้ห้องแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อทำรายงานในหัวข้อที่พวกเขาสนใจ ที่พ่อแม่ผู้ปกครองมีความเป็นห่วงใย และที่เป็นหัวข้อการสนทนาในสภากาแฟรอบ ๆ บ้าน ...โดยให้เยาวชนเป็นหัวหอกในการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวและสนใจใน "ความเป็นไป" ของสังคมท้องถิ่นผ่านความสามารถในการรายงานข่าว, สื่อสารเพื่อมวลชนและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง

ผ่านความเป็น digital information society สมัยใหม่...ที่ต้องเริ่มตั้งแต่บทที่หนึ่งของวิชา "หน้าที่พลเมือง" กันทีเดียว

Thursday, November 17, 2011

คุณเชื่อสื่อไหนมากกว่า?


http://www.mediabistro.com/10000words/pbs-study-british-trust-tv-more-than-newspapers_b8441

เกิดอะไรขึ้นเมื่อสังคมลดความเชื่อถือสื่อดั้งเดิม? ผู้คนหันไปหาข่าวสารและข้อมูลออนไลน์มากขึ้นเพื่อแสวงหาสิ่งที่พวกเขาและเธอเชื่อได้มากกว่าหรือไม่? เช่นเข้าไปใน Facebook หรือ blogs ต่าง ๆ ที่ดูเหมือนจะมาทดแทนบทบาทของสื่อหนังสือพิมพ์,ทีวีและวิทยุอย่างกว้างขวางในช่วงหลังนี้?

อย่างน้อยที่อังกฤษ, คำตอบไม่ใช่เช่นนั้น...PBS (Public Broadcasting Service) หรือ "บริการสื่อสาธารณะ" ของอังกฤษขอความเห็นจากคนอังกฤษ 1,108 และคนอเมริกัน 1,095 คนในหัวข้อนี้ สรุปว่ากรณีการดักฟังโทรศัพท์ที่สื่อหนังสือพิมพ์บางคนใช้เป็นวิธีการหาข่าวนั้นสร้างความเสื่อมในความน่าเชื่อถืออย่างรุนแรง

รุนแรงถึงขั้นที่ 58% ของคนที่อยู่ในข่ายถูกสำรวจตอบว่าพวกเขาและเธอได้หมดศรัทธาในสื่อหนังสือพิมพ์แล้ว

ที่น่าแปลกใจคือ 64% ของคนอังกฤษที่ตอบคำถามในการสำรวจครั้งนี้บอกว่าในบรรดาสื่อสารมวลชนทั้งหลาย, พวกเขาและเธอมีความเชื่อในโทรทัศน์มากที่สุด และสื่อวิทยุได้รับความน่าเชื่อถือเป็นอันดับต่อมาที่ 58%

การสำรวจรอบนี้ที่อังกฤษพบด้วยว่าเพียง 15% เท่านั้นที่เห็นว่า Twitter กับ Facebook เป็นแหล่งที่จะพึ่งพาได้ในการตรวจสอบว่าอะไรน่าเชื่อถือกว่ากัน และร้อยละ 10 เท่านั้นที่เชื่อถือ blogs มากกว่าสื่ออื่น

แต่คนอเมริกันที่ตอบคำถามนี้มีความเห็นแตกต่างออกไป ร้อยละ 44 เชื่อหนังสือพิมพ์ และ 42% เชื่อสื่อโทรทัศน์กับนิตยสารขณะที่ social media ได้ 19% และ blogs ได้ 18%

ผมประเมินว่าถ้าสำรวจคนไทยในยามนี้ก็จะได้ลำดับความเชื่อในสื่อเก่าและสื่อใหม่ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง...และความขัดแย้งในสังคม ประกอบกับอิทธิพลของสื่อใหม่, social media และวิทยุท้องถิ่นจะแย่ง "ความน่าเชื่อถือ" กันเป็นพัลวันอย่างแน่นอน

Sunday, November 13, 2011

คนข่าวต้องให้สาธารณชนมองทะลุฝ่ามือแห่งอำนาจ


เห็นภาพนี้ทำให้ผมคิดถึงบทบาทของคนข่าว ไม่ว่าจะเป็นยุคก่อนเก่าหรือยุคดิจิตัลในวันข้างหน้า

ผู้มีอำนาจจะพยายามปิดหูปิดตาประชาชนเสมอเมื่อไม่ต้องการให้ความจริงปรากฏต่อสาธารณชน แต่หน้าที่ของคนข่าวที่มีอุดมการณ์และหลักการแห่งวิชาชีพจะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้คนสามารถมองทะลุมือที่ผู้ปกครองประเทศจงใจจะมาวางปิดทับเอาไว้

ดังนั้น ไม่ว่ามือแห่งอำนาจจะใหญ่เพียงใด จะจงใจปิดบังซ่อนเร้นข้อมูลข่าวสารอันน่ารังเกียจอย่างไร คนทำข่าวที่มีจริยธรรมก็จะใช้ความเป็นมืออาชีพที่ได้รับการฝึกฝน ไม่ว่าจะตามหลักแห่งการทำงานแบบเก่า หรือการใช้สื่อใหม่ทุกรูปแบบเพื่อให้สายตาของประชาชนสามารถมองผ่าน "ฝ่ามืออำมะหิต" ของผู้ต้องการจะใช้ฝ่ามือมาปิดฟ้า

คนทำข่าวต้องยืนยันว่าไม่มีมือแห่งความชั่วร้ายใดจะสามารปิดบังสัจธรรมแห่งสังคมได้

Saturday, November 12, 2011

คุณเลือกอาชีพคนข่าวด้วยเหตุผลอันใดหรือ?


"เราเป็นคนข่าว เราภาคภูมิใจในสิ่งที่เราทำ เราเซ็งกับคนที่มองคนข่าวในแง่ลบ เราต้องการผลิตผลงานที่มีคุณภาพเพื่อให้สังคมดีขึ้น..."

นี่เป็นคำประกาศในบล็อก Tumblr ที่คนข่าวนัดหมายกันมาเขียนระบายความรู้สึกว่าทำไมเขาและเธอจึงตัดสินใจเลือกวิชาชีพของการเป็นคนข่าวหรือช่างภาพ

ผมเชื่อว่าคนข่าวไทยอ่านแล้วก็คงจะมีความรู้สึกร่วมในความเป็นนักวิชาชีพ, ในความมุ่งมั่นที่จะเปิดโปงสิ่งชั่วร้ายในสังคม, ในความเด็ดเดี่ยวที่จะเอาความจริงมาเปิดเผยต่อสาธารณชน และในอุดมการณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงให้สังคมโดยส่วนรวมน่าอยู่กว่าที่เป็นอยู่

ช่างภาพคนหนึ่งเขียนในบล็อกนี้ว่า

"บางคนบอกว่าการเข้ามาเป็นคนข่าวเป็นการเสียสละ เปล่า, ผมไม่คิดว่านั่นคือความเสียสละ แต่ผมเชื่อว่ามันเป็นการตัดสินใจเลือกเส้นทางนี้
ของผม เพราะผมเชื่อว่ากล้องของผมเป็นเครื่องมืออันทรงค่ายิ่งในการต่อสู้กับความอยุติธรรม รูปบางรูปที่ผมถ่ายช่วยเปิดโปงความเลวร้ายของโรงเรียนดัดสันดานเด็กแห่งหนึ่ง และทำให้ทางการสั่งปิดเพราะการกระทำที่ผิดกฎหมาย นั่นเป็นบทบาทเล็ก ๆ ที่ผมมีความภาคภูมิใจว่าผมได้มีส่วนช่วยสังคมกำจัดความไม่ถูกต้อง ตอนนี้ผมอายุ 30 ผมหวังว่าเมื่อผมอายุ 60 ผมก็จะยังทำหน้าที่นี้อย่างตรงไปตรงมาและด้วยความภาคภูมิใจเช่นวันนี้...เพราะผมเป็น Photojournalist..."

อีกคนหนึ่งบันทึกว่า

"ผมยอมเลิกชีวิตสังคมบางอย่างเพื่อทำหน้าที่เจาะข่าวเพื่อให้สาธารณชนได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับรัฐบาลของพวกเขา ผมยอมสละความเห็นส่วนตัวของผมเพราะผมเชื่อว่าประชาชนทั่วไปต้องการได้ข้อมูลข่าวสารที่แม่นย้ำและไร้อคติ บางวันแทนที่ผมจะนั่งกินข้าวเที่ยง, ผมกลับใจจดใจจ่อกับรายละเอียดของกฎหมายว่าด้วยผังเมืองเพื่อเจาะข่าวที่มีความสำคัญต่ออนาคตของเมืองของผม...บางทีผมนั่งเขียนข่าวสืบสวนสอบสวนที่สลับซับซ้อน มีคนสนใจจะอ่านไม่มาก แต่ผมเชื่อว่านี่คืออาชีพที่เตือนเหล่าบรรดานักการเมืองว่าไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไร, จะมีคนคอยเฝ้าติดตามและตรวจสอบเสมอ...คิดได้แค่นี้ผมก็ภาคภูมิใจกับอาชีพนี้พอสมควรแล้ว...ผมเป็นนักข่าวสายเทศบาลเมืองครับ"

คนข่าวอีกคนหนึ่งเขียนว่า

"ฉันเป็นนักข่าวสาย data investigative reporting ฉันชอบตรวจสอบข้อมูลเพื่อให้คนที่มีตำแหน่งสาธารณะต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจและการกระทำของตัวเองต่อประชาชน ฉันชอบทำความจริงให้ประจักษ์ ฉันคือคนข่าว"





"

Sunday, November 6, 2011

ใคร ๆ ก็เป็น publisher ได้


แต่ก่อน, ใครก็เป็น "นักข่าว" ได้เมื่อคำว่า "นักข่าวพลเรือน" ได้รับการขยายผลเพื่อเปิดทางให้ "มวลชน" ที่มีอุปกรณ์มือถือสามารถส่งภาพ, วีดีโดและรายงานข่าวที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวได้ เพราะ social media เป็นเครื่องมือที่สะดวกคล่องแคล่ว และมุมมองของผู้บริโภคข่าวก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าผู้ทำข่าวอาชีพ

การขยายตัวของ "citizen journalists" จึงกลายเป็นปรกาฏการณ์ที่นับวันจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น และคนข่าวอาชีพจะต้องปรับปรุงบทบาทตนเองให้ทำข่าวลักษณะสืบสวนสอบสวนและตรวจสอบการทำงานของผู้มีอำนาจให้ถ้วนถี่และลุ่มลึกกว่าเพียงแค่รายงานว่าใครทำอะไรที่ไหนเมื่อไหร่เท่านั้น

วันนี้ มีแนวทางใหม่ให้ใคร ๆ ก็เป็น publisher หรือผู้คัดเลือกเนื้อหาและข้อมูลที่น่าสนใจในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งเพื่อนำเสนอต่อคนอื่นผ่านอินเตอร์เน็ท

Scoop.it เป็นหนึ่งในโปรแกรมที่ต้องการสนองความต้องการนี้เพื่อต่อยอดวิวัฒนาการ "อนาคตของข่าว" อีกมิติหนึ่งที่ควรแก่การติดตามต่อไปสำหรับคนข่าวอาชีพทุกคน

Tuesday, November 1, 2011

E-book Best-sellers มาแล้ว


ผมทำนายว่าอีกไม่นาน เมืองไทยเราคงจะได้เห็น "หนังสืออีเลคทรอนิคส์" (E-books)ขายดีประจำสัปดาห์เหมือนที่มีรายงานหนังสือขายดีประจำอาทิตย์ที่เราคุ้นเคย

เพราะ E-books จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนจำนวนหนึ่งและจะค่อย ๆ ขยายวงออกไปเมื่อคนอ่านคุ้นชินกับการอ่านหนังสือจากอุปกรณ์การอ่านตั้งแต่มือถือไปถึงแทบเบล็ทที่เพิ่งจะเริ่มเป็นที่นิยมของคนบางกลุ่ม

หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal เพ่ิ่งประกาศว่าจะเริ่มประกาศ "E-book best-sellers" ประจำสัปดาห์ตั้งแต่สุดสัปดาห์นี้เป็นต้นไป

ความจริง, รายชื่อหนังสืออีบุ๊คส์ขายดีประจำสัปดาห์ตีพิมพ์ใน The New York Times และ USA Today ตั้งแต่ต้นปี แต่มิติที่น่าสนใจกว่านั้นคือ Nielsen ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจยอดขายหนังสือพิมพ์มานมนานจะเริ่มได้รับสถิติยอดขายอีบุ๊คส์จากสำนัก E-books ยักษ์ใหญ่เช่น Amazon, Apple, Google และ Barnes & Noble เป็นครั้งแรกในเร็ว ๆ นี้

ซึ่งก็ถือว่าเป็นการเปิดเผยข้อมูลด้านนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน, เป็นการเปิดมิติใหม่ของ digital publishing ที่ผมเชื่อว่าจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการอ่านประจำวันของคนในสังคมโลก

วันนี้อาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับไทย แต่ผมเชื่อว่าอีกไม่ถึงห้าปี แนวโน้มอีบุ๊คส์จะติดตลาดไทยอย่างไม่ต้องสงสัย

Saturday, October 29, 2011

Tablets มาแรง คนติดตามข่าวผ่านสื่อดิจิตัลรูปแบบใหม่คึกคักยิ่ง


แทบเบล็ทจะมาแทนหนังสือพิมพ์ในแง่การนำเสนอข่าวสารและบทความหรือไม่เป็นคำถามที่คนข่าวจะต้องพิเคราะห์และใคร่ครวญอย่างจริงจัง

แนวโน้มด้านสื่อดิจิตัลในเมืองไทยจะตามหลังโลกตะวันตกประมาณสี่ถึงห้าปี แต่จากนี้ไปจังหวะเร่งของความเปลี่ยนแปลงจะเร็วขึ้น ดังนั้นแนวโน้มการนำเสนอและเสพข่าวและข้อมูลในสหรัฐฯและยุโรปจึงเป็นเรื่องที่สื่อไทยจะต้องเกาะติดอย่างใกล้ชิด

ไม่ใช่เดินตามอย่างบอดมืด แต่ก็จะต้องปรับตัวตามจังหวะก้าวอย่างเหมาะเจาะ เพราะเมื่อเทคโนโลยีเป็นตัวกำหนดวิถีปฏิบัติของคนในสังคม และหากความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มจากโลกตะวันตกไหลบ่าเข้าสู่โลกตะวันออกอย่างไร้ขีดจำกัด, ก็ย่อมแปลว่าเราไม่อาจจะก่อ "พนังกั้น" เพื่อสะกัดการไหลบ่าของพฤติกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นเกินกว่าที่ใครจะยับยั้งได้

ผลวิจัยล่าสุดของ Pew Research Center ภายใต้โครงการ Project for Excellence in Journalism ร่วมกับ The Economist Group พบว่าจาก 11% ของผู้ใหญ่ในสหรัฐฯที่มี tablet computer (ตกประมาณ 34 ล้านคน)ร้อยละ 53 ติดตามข่าวสารจากอุปกรณ์ดิจิตัล มิใช่จากหนังสือพิมพ์หรือทีวีหรือวิทยุ

ที่น่าสนใจคือหากตัวเลขนี้เป็นจริง ก็แปลว่าคนติดตามข่าวจากแทบเบล็ทมากกว่าจา social media (39%)และการเล่นเกม (30%) อีกทั้งยังมากพอ ๆ กับจนใช้ส่งและรับอีเมล์ (54%)

และที่น่าสังเกตคือคนส่วนใหญ่ที่ติดตามข่าวจาก tablets ก็ยังมุ่งไปที่ brand ของข่าวที่ดัง ๆ เช่น CNN, USA Today และ New York Times

แต่ปัญหาใหญ่สำหรับคนทำสื่อก็คือว่าเพียง 14% ของคนที่ติดตามข่าวสารจากแทบเบล็ทบอกว่าพร้อมจะจ่ายเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งข่าวสารและบทความ ที่เหลือยังเชื่อว่า content ข่าวควรจะฟรีต่อไป

ซึ่งย่อมทำให้เกิดคำถามว่าสูตรความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของสื่อที่พร้อมจะปรับตัวจากสื่อกระแสหลักปัจจุบัน (สิ่งพิมพ์เป็นต้น) จะหารายได้เพียงพอที่จะคงไว้ซึ่งบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อสร้างเนื้อหาที่ได้มาตรฐานเพื่อป้อนแทบเบล็ทที่เป็นทีแพร่หลายมากขึ้นได้อย่างไร?

หนทางที่เห็นอยู่วันนี้ก็คือการประคองสื่อสิ่งพิมพ์ไปพร้อม ๆ กับทีวี เพื่อรักษารายได้หลักขณะที่กระโจนเต็มตัวเข้าสู่การสร้างเนื้อหาเพื่อนำเสนอผ่านสื่อดิจิตัลทุกวิถีทาง

นั่นย่อมหมายถึงการที่คนทำสื่อเก่าปรับตัวเรียนรู้ทักษะใหม่ทางดิจิตัลเพื่อทำให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เป็นการท้าทายที่รุนแรง, แต่ก็เป็นประสพการณ์การที่หาได้ยากยิ่ง...เพราะไม่ปรับ...ก็พับฐาน, ขอยืนยัน

Friday, October 28, 2011

คนข่าว, ภัยพิบัติ และ Social Media


บทบาทของ social media ในช่วงมหาอุทกภัยเป็นที่วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และคนข่าวที่รู้จักใช้ทวิตเตอร์, เฟสบุ๊คและยูทูปเพื่อการสื่อสารกับสาธารณชนย่อมได้เปรียบนักข่าวที่ยังติดยึดอยู่กับสื่อกระแสหลักในอดีต

ความเป็น citizen journalism ของสื่อ social network ในช่วงนี้ยิ่งได้รับการตอกย้ำว่ามีความสำคัญยิ่งกว่าในยามปกติ เพราะสื่อในนิยามปกติไม่อาจจะกระจายตัวเพื่อทำหน้าที่รายงานข่าวได้ครอบคลุมเพียงพอในภาวะที่ภัยพิบัติครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และมีผู้คนที่ได้รับผลกระทบกว่าสิบล้านคน, ในมิติที่แตกต่าง,และด้วยอารมณ์ที่ร้อนแรง

ที่สำคัญกว่าเพียงแค่การรายงานข่าว คือการที่ social media ถูกใช้เป็นสื่อกลางของการส่งสารเพื่อขอความช่วยเหลือที่เร่งด่วนเฉพาะหน้า และการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลที่จำเป็นจะต้องติดต่อถึงกันอย่างกระทันหัน ที่ไม่ว่าทีวี, วิทยุหรือหนังสือพิมพ์ก็ไม่อาจจะตอบสนองได้

การก่อเกิดของ "ผู้มีจิตอาสา" ในการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในจุดต่าง ๆ ที่หน่วยงานของรัฐไปไม่ถึงนั้นก็มาจากการใช้สื่อสังคมที่สามารถแก้ปัญหาหลาย ๆ ด้านได้ฉับพลันทันที

เฉพาะในเครือเนชั่นเอง คนข่าวเกือบ 300 ชีวิตที่ใช้ทวิตเตอร์และเฟสบุ๊คเพื่อรายงานข่าวจากทุกมุมของเหตุการณ์ ที่ทำหน้าทีเป็นผู้ประสานให้ผู้ต้องการความช่วยเหลือได้เข้าถึงผู้เสนอความช่วยเหลือนั้นได้เห็นจำนวนผู้เข้ามาเป็น "followers" เพิ่มขึ้นอย่างคึกคักยิ่ง, ถึงวันนี้มีจำนวนรวมกว่า 1.2 ล้านคน และก้าวกระโดดขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง

เป็นการยืนยันว่าสื่อดิจิตัลในทุกรูปแบบนั้นเป็นกลไกรับใช้สังคมที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และจะกลายเป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสารของสังคมไม่เฉพาะแต่คนทำข่าวกับผู้เสพข่าวเท่านั้น หากแต่ยังเป็นสื่อกลางระหว่างประชาชนต่อประชาชนด้วยกันอย่างน่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง

แน่นอนว่ามีเสียงวิพากษ์การปล่อยข่าวลือและข่าวผิดพลาดในสื่อ social media กันไม่น้อยในภาวะของความไม่ปกติเช่นนี้ และประเด็นวิจารณ์เช่นนี้ก็มีเหตุผลที่ต้องรับฟังอย่างจริงจัง อีกทั้งเป็นบทเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนข่าวอาชีพว่าการใช้สื่อสังคมจะต้องไม่หย่อนยานวินัยของนักข่าวมาตรฐานนั่นคือการตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาเสียก่อนที่จะปล่อยออกไปสู้สาธารณชน เพราะไม่สามารถอ้างความเร็วเหนือความถูกต้องและเป็นธรรมได้เป็นอันขาด

ขณะเดียวกันก็น่าสังเกตว่าในแวดวง social media เองนั้นก็ตรวจสอบกันเองอย่างคึกคักเช่นกัน เพราะสังเกตได้ว่าหากมีข้อความใดที่ปรากฏในทวิตเตอร์หรือเฟสบุ๊คที่ผิดเพี้ยนไปจากความจริง หรือมีข้อน่าสงสัยว่าเนื้อหานั้น ๆ มีวาระซ่อนเร้นอย่างไร, ก็จะถูก "ปัญญาของฝูงชน" (wisdom of the crowd) กำจัดออกไปอย่างรวดเร็วและได้ผลเช่นกัน

หากถามผม, ประเมินประโยชน์และผลร้ายของการใช้ social media ในยามเกิดภัยพิบัติของสังคมแล้ว, ยังไง ๆ ผมก็อยู่ข้างที่ใช้เครือข่ายสังคมเพื่อการรายงาน, ประสานภารกิจเร่งด่วน, สร้างกิจกรรมจิตอาสาและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารความเห็นอย่างไม่ลังเลเลยแม้แต่น้อย

Wednesday, October 26, 2011

Small World News ...โลกใบเล็ก จุดนัดพบของมืออาชีพกับมืออาสา


ตัวอย่างของการผสมผสานอย่างมีคุณภาพระหว่างสื่ออาชีพกับ "นักข่าวพลเรือน" ที่เน้นข่าวต่างประเทศนั้นคือการก่อกำเนิดของ Small World News ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระที่ต้องการให้ประชาชนในเขตที่มีเรื่องปะทุได้ทำหน้าที่เป็น citizen reporters อย่างคล่องแคล่วและรายงานจากแง่มุมในภาคสนามจากคนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นจริง ๆ

ยิ่งเมื่อเน้นข่าวต่างประเทศ, การปรับตัวของการทำสื่อให้ "มืออาชีพ" กับ "นักข่าวชาวบ้าน" จึงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับผม เพราะเป็นการตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าเราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสำนักข่าวต่างประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นแหล่งข่าวระหว่างประเทศแต่เพียงแหล่งเดียว และมีอคติของนักข่าวตะวันตกเสียมาก

วิถีการรายงานข่าวยุคดิจิตัลที่ "ทุกคนเป็นนักข่าวได้" จึงเปิดโอกาสให้แง่มุมของข่าวเพิ่มความหลากหลายขึ้น และสามารถตรวจสอบกันและกันอย่างคึกคัก เพราะสมัยหนึ่งที่เราเรียกนักข่าวตะวันตกที่ถูกส่งไปทำข่าวกระทันหันโดยไม่มีความรู้ความเข้าใจเหตุการณ์นั้น ๆ มาก่อนว่า "นักข่าวโดดร่ม" (parachute journalism) นั้น, แง่มุมและเนื้อหาของข่าวมาจากไม่กี่แหล่ง และเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าข่าวที่เราอ่านหรือดูหรือฟังนั้นมีความถูกต้องแม่นยำเพียงใด

ต่อเมื่อเราอ่านข่าวต่างประเทศที่เกี่ยวกับบ้านเราที่ไปปรากฏในสื่อที่อื่น และเห็นความบิดเบือนและผิดพลาด (จะโดยจงใจเพราะอคติหรือความไร้เดียงสาพลั้งเผลอก็ตาม) อย่างจั๋งหนับแล้ว, เราจึงเริ่มสงสัยว่าข่าวอื่น ๆ เกี่ยวกับประเทศอื่น ๆที่เราเสพนั้นเข้าข่าย "น่าสงสัย" อย่างเดียวกันหรือไม่

แน่นอนว่าการจะทำให้เนื้อหาของข่าวใน Small World News น่าเชื่อถือและไม่ถูกบางกลุ่มบางฝ่ายเสกสรรค์ปั้นแต่งตาม "วาระในใจ" ของแต่ละคนที่เรียกตัวเองว่า "นักข่่าวพลเมือง" นั้น, ฝ่ายบรรณาธิการของเว็บไซท์นี้ก็จะมีคนข่าวมืออาชีพที่ตรวจสอบกลับไปว่าแต่ละข่าวที่ส่งมาในรูปหนังสือ, ภาพ, วีดีโอและเสียงนั้นได้มาตรฐานของความน่าเชื่อถือที่จะยกระดับการทำงานของ citizen journalism ได้อย่างเป็นรูปธรรม

Brian Conley ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้ง Small World News บอกว่าข่าวร้อน ๆ จากตะว้ันออกลางในช่วงนี้คือเนื้อหาหลักจากนักข่าวพลเรือน และทีมงานของเขาได้รับเนื้อหาสาระจากภาคสนามอย่างคึกคัก ทำให้มีความหลากหลายของแง่มุมข่าวอย่างที่หาไม่ได้จากแหล่งข่าวกระแสหลักทั่วไป

"แต่ขณะเดียวกัน เราก็จะต้องตรวจสอบความถูกต้องของข่าวอย่างระมัดระวัง เพื่อให้เนื้อหาของการผสมผสานระหว่างมืออาชีพกับมืออาสาทางด้านข่าวสารน่าเชื่อถืออย่างจริงจัง" เขาบอก

ผมสนใจรูปแบบของ Small World News โดยเฉพาะสำหรับข่าวท้องถิ่นในต่างจังหวัดของไทยเองที่มีข่าวคราวน่าสนใจและควรแก่การรายงานจากแง่มุมของคนท้องถิ่นอย่างยิ่ง หากมีการสนับสนุนและส่งเสริมโดยมืออาชีพแล้ว ก็จะเป็นบริการข่าวสารยุคดิจิตัลที่มีความหมายสูงยิ่ง

Saturday, October 22, 2011

แค่ตัดต่อรูปผิดมุม, จริยธรรมก็เข้าป่าแล้ว


สามภาพนี้สะท้อนถึงวิธีที่สื่อที่ไม่รับผิดชอบอาจจะ "ตัดต่อภาพให้สอดคล้องกับเป้าหมายของตน" ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดจริยธรรมอย่างยิ่ง และไม่ว่าสื่อยุคดิจิตัลจะมีเครื่องไม้เครื่องมือในการตัดแต่งภาพอย่างพิสดารเพียงใด, การจงใจบิดเบือนด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้รับใช้ทัศนคติของสื่อเองเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง

ภาพนี้แพร่ทางอินเตอร์เน็ทค่อนข้างกว้างขวาง อ้างกันว่าภาพซ้ายคือภาพที่ Al-Jazeera นำเสนอต่อผู้ดู ส่วนภาพขวาสุดคือภาพที่ Fox News เอาออกอากาศ

ส่วนภาพตรงกลางคือภาพต้นฉบับจริง ๆ ที่เห็นทั้งสามคน แต่หากนักข่าวหรือบรรณาธิการตัดต่อให้เห็นเพียงมุมใดมุมหนึ่ง, ความหมายของภาพก็เปลี่ยนไปจากขาวเป็นดำ, จากความโหดเหี้ยมกลายเป็นความเมตตากรุณาทันที

ดังนั้น, คนทำสื่อจะต้องไม่มี "วาระส่วนตัว" หรืออคติที่ทำให้การรายงานข่าวโอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งจนทำให้สารที่ส่งออกไปนั้นถูกปรุงแต่งจนผิดไปจากต้นฉบับโดยสิ้นเชิงดั่งต้วอย่างที่เสนอนี้

คำว่า "ไร้อคติ" หรือ objectivity จึงหมายถึงการที่คนข่าวไม่ว่าจะเป็นยุคเก่าหรือยุคใหม่ ยุคสื่อสิ่งพิมพ์หรือ Digital First จะต้องดำรงไว้ซึ่งความเป็นมืออาชีพที่จะไม่เอาความรู้สึกส่วนตัวมาสร้างความแปดเปื้อนให้กับมาตรฐานของการนำเสนอข่าว

หน้าที่หลักของคนข่าวมีเพียงประการเดียว นั่นคือการ "ทำความจริงให้ประจักษ์" ไม่ว่าความจริงนั้นจะสอดคล้องกับความรู้สึกหรือจุดยืนของตนหรือไม่ก็ตาม

Friday, October 21, 2011

Word Cloud ช่วยสร้างสีสันการเล่าข่าว


การเล่าข่าวอีกวิธีหนึ่งที่สร้างสีสันและความน่าสนใจคือ Word Cloud ซึ่งทำให้เห็นถึงการลำดับเรื่องและ keywords สำคัญ ๆ ที่สามารถสื่อสารกับผู้อ่านและผู้ชมได้ค่อนข้างดีอย่างที่ผมเรียนรู้วิธีทำง่าย ๆ อย่างนี้ครับ

Wednesday, October 19, 2011

Infographics แบบนี้คือ "อนาคตของข่าว" แน่นอน

Life and Times of Steve Jobs - Infographic World
Created by: Infographic World
การ "เล่าข่าว" อย่างมีสีสันและสื่อสารได้ง่าย อีกทังยังสามารถอธิบายความได้ลุ่มลึกและเรียกร้องความสนใจได้มากกว่าเพียงแค่ตัวหนังสือเท่านั้นคือการใช้ Infographcs เพื่อสรุปประเด็นและทำเรื่องสลับซับซ้อนเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายและทันที

ภาพประกอบนี้สามารถทำหน้าที่ของหนังสือได้เกือบทั้งเล่มทีเดียว

และนี่คือสิ่งที่นักข่าวดิจิตัลวันนี้จะต้องเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์งานของตนให้พร้อมสำหรับผู้เสพข่าวที่จะเรียกร้องความสมบูรณ์แห่งการนำเสนอเนื้อหามากกว่าปัจจุบันจากทุกแง่มุม

Monday, October 17, 2011

คนข่าวดู Page One: Inside the New York Times จะเห็นความท้าทายหนักหน่วงยิ่ง


ผมเพิ่งดูดีวีดีหนังเรื่อง "Page One: Inside the New York Times" ที่เพิ่งออกฉายในอเมริกา..เป็นหนังที่คนข่าวที่ต้องการเห็นอนาคตของข่าวจะต้องดู...เพราะนี่คือตัวอย่างของยักษ์ใหญ่ระด้บโลกที่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ หาไม่แล้วก็อาจจะไม่รอดด้วยซ้ำไป

หนังเรื่องนี้เป็นสารคดี เป็นครั้งแรกที่คนระดับบรรณาธิการอาวุโสของสื่อสิ่งพิมพ์อันโด่งดังระดับโลกยอมให้ทีมถ่ายทำที่นำโดย Andrew Rossi เข้าไปถ่ายทำทุกแง่มุมของการทำงานเป็นเวลาต่อเนื่องกว่าหนึ่งปีเพื่อให้ได้ "คนจริงเสียงจริง" ของคนข่าวที่กำลังต้องปรับตัวจากสื่อเก่าสู่สื่อดิจิตัลอย่างดุเดือดรุนแรง

ต้องชื่นชมนิวยอร์คไทมส์ที่พร้อมจะเปิดกว้างประตูตนเอง และให้ทีมสร้างหนังเจาะหาแง่มุมทั้งแง่บวกและแง่ลบ, ทั้งที่น่าเลื่อมใสและน่าคลางแคลงในการทำหน้าที่ของคนข่าวในสื่อที่ได้ชื่อว่าเป็นสถาบันของแวดวงหนังสือพิมพ์ของสหรัฐฯ

ที่น่าสนใจสำหรับคนที่เป็นห่วงอนาคตของข่าวคือการที่นิวยอร์คไทมส์ตัดสินใจเมื่อปี 2008 ที่ตั้ง Media Desk ขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อรายงานความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในแวดวงอุตสาหกรรมสื่อ, ไม่เว้นแม้เจาะหาข่าวในนิวยอร์คไทมส์เอง

หนังเรื่องนี้สะท้อนถึงผลพวงของเทคโนโลยีที่มีต่ออนาคตของข่าวอย่างละเอียดทุกมุม เจาะเฉพาะลงไปในใจกลางการตัดสินใจของผู้บริหารขององค์กรสื่อแห่งนี้ในการตั้งรับกับผลพวงของอินเตอร์เน็ทที่มีต่ออาชีพของตน โดยเฉพาะเมื่อ "ข่าว" มิใช่สมบัติผูกขาดของสื่อสิ่งพิมพ์อย่างที่เป็นมาตลอดประวัติศาสตร์ของแวดวงข่าวสาร

หลายฉากของหนังเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของคนข่าวรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ ความข้ดแย้งที่เกิดขึ้นและการรักษามาตรฐานแห่งการทำหน้าที่ของตนท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันหนักหน่วงรุนแรง

สารคดีเรื่องนี้ไม่หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องอื้อฉาวในกองบรรณาธิการของนิวยอร์คไทมส์เองเมื่อนักข่าวบางคนถูกจับได้ว่า "ยกเมฆ" ข่าวที่ได้รางวัลและการอ้างแหล่งข่าวที่ต่อมาพิสูจน์ได้ว่าให้ข้อมูลที่ผิดพลาดจากความเป็นจริงจนกระทบต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของสถาบันแห่งสื่อสารมวลชนแห่งนี้

น่าสนใจว่าแม้หนังเรื่องนี้จะไม่มี "พระเอก" หรือ "นางเอก" และตอนจบก็บอกไม่ได้ว่าอนาคตของนิวยอร์คไทมส์จะเป็นอย่างไร แต่ก็สามารถสื่อให้เห็นถึงปัญหา, ความท้าทาย, และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์, สื่อ, และเทคโนโลยีได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง

Saturday, October 15, 2011

ประสบการณ์แรกของคน...ระหว่างนิตยสารกับ iPad



คนข่าวยุคดิจิตัลดูวีดีโอคลิบนี้น่าจะเห็นสัจธรรมข้อหนึ่งว่าสำหรับเด็กรุ่นต่อไปแล้วสื่อ multimedia ที่มีความเคลื่อนไหว, สัมผัส, แตะต้อง, และมีปฏิกิริยาตอบสอนต่อผู้เสพสื่อคืออนาคต และสื่อสิ่ิงพิมพ์เช่นแมกกาซีน แม้จะมีรูปที่มีสีสันมาก แต่หากไม่มีเสียง, ไม่มีวีดีโอ, ก็ไม่อาจจะเรียกความสนใจหรือสมาธิจากผู้บริโภคเนื้อหาของคนรุ่นใหม่ได้

Thursday, October 13, 2011

จริยธรรมสื่อคือเสาหลักของความน่าเชื่อถือ...ผิดจากนี้มิใช่เรา












ไม่ว่าคนข่าวจะแปรสภาพจากการทำหน้าที่ในรูปแบบเก่าหรือกระโจนเข้าสู่ความเป็นดิจิตัลอย่างเร้าร้อนเพียงใด, แต่หลักการแห่งจริยธรรมยังเป็นเสาหลักแห่งวิถีปฏิบัติที่จะคงไว้ซึ่งความเป็นมือวิชาชีพและความน่าเชื่อถือของสังคม

ดังนั้น, เครือเนชั่นจึงยังยึดถือหลักจริยธรรมที่กำหนดร่วมกันของคนข่าวมาช้านาน และล่าสุดมีการเพิ่มเติมกติกาแห่งจรรยาบรรณของการใช้ Social Media สำหรับคนข่าวในเครือไว้อย่างละเอียด

การตีพิมพ์ครั้งใหม่มาในรูปที่กระทัดรัด พกพาและอ้างอิงได้ตลอดเวลาเพื่อยืนยันว่า "ผิดจากนี้มิใช่เรา"

และความนำที่ผมเขียนไว้สำหรับ The Nation Way ฉบับปรับปรุงล่าสุดมีอย่างนี้

ผิดจากนี้ไม่ใช่เรา

คนทำสื่อในเครือเนชั่นมีความตระหนักอย่างลึกซึ้งว่า สังคมคาดหวังมาตรฐานจริยธรรมของคนทำข่าวสูงกว่าผู้คนในหลายอาชีพ
และเราในฐานะที่อาสามาเป็นผู้เสาะแสวงหาข้อมูลข่าวสารมืออาชีพถือว่าไม่มีอะไรมีค่ากว่า “ความน่าเชื่อถือ” ของสังคมโดยส่วนรวม
และ “ความน่าเชื่อถือ” ที่ยั่งยืนถาวรย่อมมาจากการยึดมั่นในหลักปฏิบัติที่มีจริยธรรมที่ถือเอาความถูกต้อง, เที่ยงธรรม, ยุติธรรมและความรอบด้านของการทำหน้าที่ของเราอย่างมุ่งมั่น, โปร่งใส, และสอดคล้องกับทำนองคลองธรรมแห่งสื่อมวลชนที่อิสระเสรีและรับผิดชอบ
กติกาที่ระบุไว้อย่างชัดเจนทุกรายละเอียดสำหรับคนข่าวในเครือเนชั่นในคู่มือเล่มนี้ถือเป็นพันธสัญญาแห่งวิชาชีพกับผู้คนทั้งสังคมเพื่อยืนยันในความสุจริตจริงใจและจริงจังแห่งภารกิจที่จะทำหน้าที่เป็นทั้ง “สุนัขเฝ้าบ้าน” กับ “ยามเฝ้าประตู” และ “กระจกส่องสังคม” อย่างไม่ลดละในทุกกรณี
เราเชื่ออย่างมั่นคงว่าเมื่อเราเรียกร้องสิทธิและหน้าที่ในอันที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของความเป็นไปในสังคม, สังคมก็ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ในอันที่จะตรวจสอบผู้ทำหน้าที่สื่อสารมวลชนได้เช่นกัน
ทุกบรรทัดในคู่มือแห่งจริยธรรมเล่มนี้จึงเป็นคำปฏิญญาณของคนข่าวในเครือเนชั่นทุกคนที่จะดำรงไว้ซึ่งมาตรฐานแห่งวิชาชีพที่ไม่มีวันสั่นคลอนหวั่นไหวในหน้าที่ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคหรือแรงกดดันเพียงใด
...เพื่อสะท้อนความคิดอ่านรอบด้าน, ความเห็นอันหลากหลาย, ข้อเท็จจริงแห่งเหตุการณ์ทุกแง่ทุกมุมที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง, โดยปราศจากอคติ, ความแปลกแยกที่ทับซ้อนความถูกต้องเป็นธรรมและวาระซ่อนเร้นที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์อันเป็นของส่วนรวม
จึงประกาศไว้เป็นสัจธรรมกับผู้อ่าน, ผู้ฟัง, ผู้ชมและผู้ร่วมกระบวนการแห่งข้อมูลข่าวสารของเครือเนชั่นว่า
ผิดจากนี้จึงมิใช่เรา

Tuesday, October 11, 2011

และเมื่อ data journalism ทำให้คนข่าวนำเสนอเรื่องราวหลากหลายอย่างมีสีสัน


นักข่าวที่ต้องการมีอนาคตแจ่มใสและคึกคักจะต้องฝึกปรือตนเองให้ "เล่าเรื่องด้วยข้อมูลหลากหลาย" ที่อาจจะเรียกว่า
"data journalism" ซึ่งผมเหมารวมเอาทั้งภาพประกอบ, กราฟฟิค, คลิบวีดีโอ, โดยหัวใจคือความเป็น interactive ของการนำเอาวัตถุดิบเหล่านี้มานำเสนอได้อย่างมีสีสันและอุดมไปด้วยความหมาย

ความเป็น data journalist ย่อมหมายถึงการที่คนข่าวจะก้าวข้ามข้อจำกัดในปัจจุบันไปสู่การสามารถเรียงร้อยข้อความ, ภาพ, กราฟฟิค, และข้อมูลทุกรูปแบบเพื่อนำเสนอสิ่งที่น่าสนใจ และแต่ละรูปแบบก็แตกต่างกันไปตามแต่เนื้อหา, สถานการณ์และผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารด้วย

แน่นอน หากเราจะเป็นคนข่าวแห่งอนาคต เราก็ต้องมองเห็นโอกาสทองของการนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจทุกรูปแบบที่เรียกร้องความสนใจจากผู้รับสาร ไม่ว่าจะเป็นการเสนอสถิติอย่างมีชีวิตชีวาหรือการเล่าเรื่องสลับซับซ้อนด้วยการใช้ความเป็นอินเตอร์แอคทีฟของวิธีการเสนอ

จินตนาการจึงเป็นหัวใจของคนข่าวที่จะพัฒนาตัวเองให้ก้าวเข้าสู่ยุคที่เทคโนโลยีสามารถเสริมส่งให้การนำเสนอข่าวสารและข้อมูลอย่างพิสดารกว่าที่ผ่านมา

อาจจะหมายความว่าคนข่าวต้องเรียนรู้พื้นฐานของการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์บ้าง, การเขียนโค้ดอย่างง่าย ๆ เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดหรือกำแพงที่ขวางกั้นระหว่างความเป็นนักข่าวในความหมายเก่ากับ "digital journalist" ในบริบทใหม่ที่สามารถผสมผสานระหว่างการเจาะข่าวลึกและการนำเสนอข่าวสืบสวนสอบสวนด้วยความช่ำชองในการใช้ data journalism ไปพร้อม ๆ กัน

นี่คือสิ่งท้าทายสำหรับยุคสมัยของคนข่าวที่ไม่วิ่งหนีความแปลกใหม่เพียงเพราะกลัวความไม่คุ้นชินแต่ก่อนเก่าเท่านั้น

Friday, October 7, 2011

Steve Jobs กับบทบาทกำหนดอนาคตของข่าว


หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทั่วโลกหลายฉบับวันไว้อาลัยการจากไปของ Steve Jobs (ฉบับวันศุกร์ที่ 7 ตุลาฯ)ทำให้ผมเชื่อว่าสื่อกระแสหลักก็ยังสามารถแสดงความมีจินตนาการ, ความสามารถในการสื่อสารและความลุ่มลึกแห่งอารมณ์ผ่านการจัดหน้า, การพาดหัวและการเขียนบรรยายเบื้องหน้าเบื้องหลังชีวิตของคนที่เป็นข่าวน่าสนใจอย่างเจ้าพ่อแอบเปิลคนนี้

นี่เป็นเพียงหนึ่งในหน้าหนึ่งมากมายหลายฉบับที่ผมอ่านเจอวันนี้ และตราตรึงกับการออกแบบและแนวคิดสร้างสรรค์ของการพาดหัว, จัดหน้าและสื่อสารกับคนอ่านได้อย่างน่าทึ่งยิ่ง

อีกแง่หนึ่ง Steve Jobs ก็มีส่วนสำคัญยิ่งในการทำให้คนทำสื่อต้องปรับตัวขนานใหญ่ เพราะ iPhone และ iPad ที่เขานำมาเสนอสังคมโลกนั้นเปลี่ยนแปลงวิธีคิด, วิธีทำงาน, วิธีนำเสนอข่าวสารและเนื้อหาของสื่อทุกแขนงอย่างมีความหมายอันสำคัญไม่น้อยเลย

หนังสือพิมพ์, ทีวีและวิทยุส่วนใหญ่ต้องมี applications ของตัวเองใน iPhone และ iPad เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคข่าวยุคดิจิตัล

จำได้ว่าสตีฟ จ๊อปส์เคยวิจารณ์ว่า apps ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ไม่ดีเท่าที่เขาอยากเห็น และวิพากษ์ว่า apps ของ วอลสตรีทเจอร์นัลขณะนั้น "ช้าและเทอะทะ"

คนวงในแอบเปิลบอกว่าสตีฟให้ความสนใจกับการรักษาคุณภาพของสื่อโดยผ่านนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เขามีส่วนผลักดันอย่างมุ่งมั่น

ประโยคหนึ่งของเขาที่ประกาศในที่สัมมนาเรื่องสื่อเมื่อปีที่แล้วยังก้องกังวานอยู่ทุกวันนี้

Steve Jobs บอกว่า

"เราพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อเสริมส่งให้ The New York Times, The Washington Post, The Wall Street Journal ค้นพบหนทางที่จะทำเนื้อหาถึงคนอ่านที่พร้อมจะจ่ายเงินให้เพื่อที่จะรักษาคุณภาพแห่งสื่อมาตรฐานโลกได้...เราสนับสนุนเต็มที่ครับ"

ไม่ต้องสงสัยว่าสตีฟ จ๊อปส์มีส่วนสำคัญยิ่งในการพลิกวิถีปฏิบัติ, แนวทางความคิดและปรัชญาแห่งการทำงานของสื่อ และผลักดันให้เกิดการปรับตัวจากสื่อเก่ามาเป็นสื่อดิจิตัล...ที่มีส่วนสำคัญยิ่งต่อการกำหนด "อนาคตของข่าว" อย่างปฏิเสธไม่ได้เลย

Wednesday, October 5, 2011

ทวิตเตอร์เร็วกว่าแผ่นดินไหว!


โฆษณาชิ้นนี้อาจจะดู "เวอร์" ไป แต่คนเล่นทวิตเตอร์หลายคนอาจจะบอกว่า "จริง!"...

แผ่นดินไหวเมืองหนึ่ง ส่งข่าวผ่านทวิตเตอร์แป๊บเดียว คนอยู่อีกเมืองหนึ่งรู้ก่อน เตรียมตัวได้ทัน...คำว่าเร็วเหมือนสายฟ้าแลบอาจจะช้าไปด้วยซ้ำ

Tuesday, October 4, 2011

สองสื่อยักษ์ในสมรภูมิเดียวกัน, แต่รบด้วยยุทธศาสตร์ต่างกัน


สื่อสองค่ายใหญ่ของโลก...มองอนาคตของข่าวจากคนละมุม, ตัดสินใจใช้กลยุทธเพื่อความอยู่รอดกับคนละแบบ ท้ายที่สุดจะพิสูจน์ว่าใครถูกใครผิด และไม่นานก็จะรู้ผล เพราะในโลกดิจิตัลวันนี้ วัดผลกันได้เร็วและไม่ยาก

ที่ยากคือคนในแวดวงสื่อเองนี่แหละที่ไม่รู้ว่าสูตรไหนของใครจะแน่กว่ากัน, พลาดท่าเสียทีมีสิทธิ์จะม้วยมรณาได้เหมือนกัน

New York Times ของสหรัฐฯตัดสินใจใช้วิธีเก็บเงินคนอ่าน เพราะลำพังหวังพึ่งโฆษณาอย่างเดียว ไม่พอกิน, The Guardian อังกฤษบอกว่าเปิดกว้างให้อ่านฟรีเพื่อสร้างจำนวนคนอ่านให้เยอะ รายได้มาจากโฆษณา

นิวยอร์กไทมส์มีเจ้าของเป็นตระกูลธุรกิจสื่อมาช้านาน อยู่ได้ด้วยรายได้โฆษณาและเก็บสมาชิกคนอ่านมาตลอด แต่เดอะการ์เดียนมีเจ้าของคือ Scott Trust ซึ่งบริหารเป็นมูลนิธิของตระกูล Scott เดิม ไม่หวังทำกำไร แต่ก็ขาดทุนไม่ได้

The Guardian ขาดทุนมาทุกปีตั้งแต่ 2004 ปีที่แล้วปีเดียว, หนังสือพิมพ์ฉบับนี้กับ Observer ซึ่งอยู่ในเครือเดียวกันขาดทุนรวมกันมากกว่า 47 ล้านยูโร (หรือประมาณ 1,959ล้านบาท)

ตระกูล Scott ตั้งมูลนิธิ Scott Trust ขึ้นมาเพื่อบริหารสื่อในเครือนี้ตั้งแต่ 1936 โดยมีปณิธานที่ประกาศต่อสาธารณชนว่าเพื่อรักษาอิสระแห่งกองบรรณาธิการของ The Guardian ตลอดไป ("To secure the editorial independence of The Guardian in perpetuity"

องค์กร Scott Trust หารายได้ทางอื่นเพื่อมาอุ้มการทำสื่อหนังสือพิมพ์รายวัน เช่นนิตยสารและเว็บไซท์ขายรถมือสอง Auto Trader
ซึ่งทำกำไรดีพอที่จะมาเกื้อหนุนให้ The Guardian รักษามาตรฐานของความเป็นหนังสือพิมพ์รายวันได้มายาวนาน

โดยถือปรัชญาว่าการทำหน้าที่สื่อที่มีอิทธิพลต่อสังคมสำคัญกว่าการทำกำไรทางธุรกิจ

แต่กระนั้นก็ตาม, The Guardian คงจะขาดทุนต่อไปอีกนานนักไม่ได้ เพราะเมื่อปี 2007 Scott Trust ต้องตัดสินใจขายทรัพย์สินหลายอย่างเพื่อถมช่องว่างทางรายได้ที่เกิดจากการขาดทุนของ The Guardian ที่ยังเลือดไหลไม่หยุด ฃ

นักวิเคราะห์การเงินคนหนึ่งบอกว่าถ้า The Guardian ยังขาดทุนต่อเนื่องไปอย่างนี้ เงินจะหมดภายในห้าปี แม้จะก่อตั้งมาแล้ว 190 ปีก็มีสิทธิ์ล้มหายตายจากไปได้

บรรณาธิการของ The Guardian ชื่อ Alan Rusbridger เป็นผู้บุกเบิกทางด้าน digital media ของสื่อในเครือ ประกาศนโยบาย "Digital First" อย่างแข็งขันและประกาศด้วยความมั่นใจว่าเขาจะให้คนอ่านเข้าในเว็ปไซท์และติดตามข่าวสารผ่านแท็บเบล็ทและมือถือฟรีต่อไปโดยไม่มีกำหนด

เพราะเขามั่นใจว่าจะสามารถสร้างผู้อ่านได้มหาศาล และมากพอที่จะดึงรายได้จากโฆษณามาแก้ปัญหาขาดทุนของเครือได้

เขายอมรับว่าบริษัทสื่อของเขาไม่ใช่องค์กรการกุศล "เราได้รับอนุญาตให้ใช้งบประมาณจำนวนมากในการทำข่าวสืบสวนสอบสวน แม้ว่าการทำอย่างนั้นจะไม่สามารถทำรายได้กลับมาทันที แต่สถานทางการเงินของเราปัจจุบันอย่างนี้ไม่สามารถจะรักษาต่อไปได้อีกนาน"

และต้องถือเป็นความกล้าหาญอย่างยิ่งที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว The Guardian ประกาศขึ้นราคาหนังสือพิมพ์อีก 20% ด้วยการอ้อนกับคนอ่านว่าขอให้ช่วยสนับสนุนการทำสื่อมีคุณภาพ หาไม่แล้วการทำข่าวสำคัญ ๆ ที่สังคมต้องการได้อ่านก็จะค่อย ๆ หายไปเพราะภาวะขาดทุนของสื่อที่เอาจริงเอาจังกับข่าวในยุคอินเตอร์เน็ท

บรรณาธิการคนนี้ยืนยันว่าเป้าหมายหลักของเขาคือการสร้างเนื้อหาในอินเตอร์เน็ทอย่างเข้มข้น และในแง่ของการสร้างจำนวนคนเข้ามาอ่านนั้น เว็ปไซท์ของ The Guardian ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง เพราะมีจำนวนคนเข้ามาคลิกมากเป็นอันดับต้น ๆ ของเว็ปข่าวในโลกทีเดียว

แต่ New York Times เดินไปข้างหน้าด้วยปรัชญาอีกแบบหนึ่ง นั่นคือจะให้คนเข้ามาอ่านเดือนละไม่เกิน 20 ข่าว เกินกว่านั้นจะต้องเสียเงิน

นิวยอร์กไทมส์อายุ 160 ปี ก็เริ่มขาดทุนมาหลายปีที่ผ่านมา และถูกกดดันให้ต้องกู้เงินจากผู้ถือหุ้นของตนเพื่อเอาตัวรอดจากพายุดิจิตัลครั้งนี้

ทั้ง The Guardian และ The New York Times เป็นยักษ์ใหญ่ในแวดวงสื่อมวลชนระดับโลก ทำศึกสงครามในสมรภูมิเดียวกัน แต่ใช้กลยุทธ์คนละแบบโดยสิ้นเชิง

ยอดขายของหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับหดตัวลงมาหลายปีแล้ว และเป้าหมายของทั้งสองสื่อนี้คือการทุ่มลงทุนสร้างเนื้อหาในโลกออนไลน์และหั่นค่าใช้จ่ายในการผลิตสิ่งพิมพ์

แกนหลักของนิวยอร์กไทมส์คือผู้พิมพ์ผู้โฆษณา Arthur Ochs Sulzberger Jr ซึ่งเป็นลูกหลานของเจ้าของผู้ก่อตั้ง ซึ่งประกาศเมื่อเดือนมีนาคม ปีนี้ว่าจะตั้ง pay wall หรือจะเก็บเงินคนเข้ามาอ่าน โดยให้คนที่เข้ามาอ่านเกิน 20 ครั้งต่อเดือนที่ราคา 15 ถึง 35 เหรียญอยู่ที่ว่าคุณอ่านจากเว็บอย่างเดียว หรือจะได้บริการทางมือถือและ iPad ด้วย

ผลเริ่มต้นในสามเดือนแรก มีคนพร้อมจ่ายเงินเข้ามาแจ้งความจำนง 224,000 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่เขาอ้างว่าได้คาดการณ์เอาไว้แล้ว เพราะต้องยอมรับว่าเมื่อเก็บเงินคนอ่าน, จำนวนคนที่เข้ามาในเว็บไซท์ก็จะต้องลดลงฮวบฮาบ แต่เว็บไซท์ของนิวยอร์กไทมส์ก็ยังมีคนเข้ามาเดือนละ 47 ล้านคน

วิธีคิดของนิวยอร์กไทมส์คือการจะทำสื่อที่มีเนื้อหาคุณภาพน้ันจะต้องลงทุน และไม่สามารถให้ฟรี ๆ ได้...เขาต้องการพิสูจน์ว่าคนที่ต้องการสาระแห่งสื่อดี ๆ ยังพร้อมที่จะจ่ายเงิน

แนวทางของเดอะการ์ดเดียนนั้นบอกว่าการคิดเงินคนเข้ามาอ่านเนื้อหาในโดลดิจิตัลเท่ากับเป็นการเอาวิธีคิดแบบเก่ามาใช้กับโลกสมัยใหม่เพราะการทำสื่อในโลกดิจิตัลนั้นจะต้องเปิดกว้างให้กับผู้บริโภคข่าวโดยไม่จำกัด

ใครถูกใครผิด, ไม่ช้าก็รู้

สำหรับสื่อเล็ก ๆ ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างเรา, ยุทธศาสตร์ก็คือการเรียนรู้, ทดลอง, และทำหลาย ๆ อย่างพร้อมกันไปเพื่อประเมินตลอดเวลาว่าสูตรไหนผ่าน, ส่วนไหนเหลว

พูดง่าย ๆ สั้น ๆ ปรัชญาของผมคือ...เราอยู่มันทุกแห่งหน, และพร้อมจะทดลอง, เรียนรู้และทดลอง, ทดลองไม่หยุดหย่อนครับ

Sunday, October 2, 2011

แล้วอนาคตของหนังสือล่ะ?


ผมต้องสารภาพว่าแม้จะใช้ชีวิตส่วนใหญ่ตั้งแต่หนุ่มแน่นเป็นต้นมากับตัวหนังสือบนกระดาษ แต่วันนี้ผมเป็นแฟนของ e-books และยังไปเดินร้านหนังสือและซื้อหนังสือเป็นประจำ...

แต่ทุกวันนี้ผมอ่านจาก iPad และ iPhone มากกว่าเดิมหลายเท่า เพราะสะดวก, อ่านง่าย, และเก็บข้อความน่าสนใจได้อย่างคล่องแคล่วอีกทั้งยังส่งเนื้อหาที่น่าสนใจไปยังคนที่เราอยากให้อ่านเหมือนเราได้มากขึ้น

ยิ่งเมื่อ Amazon.com เปิดตัว Kindle Fire ในราคาถูกว่า iPad กว่าครึ่งและย้ำให้ความสำคัญกับคนอ่านหนังสือมากขึ้นกว่าเดิม, ก็ทำให้ผมเริ่มคิดหนักว่าอนาคตของหนังสือจะไปทิศทางไหน?

ข่าวการปิดตัวของเครือข่ายร้านหนังสือดังอย่าง Borders และร้าน "คุณป้าหัวมุมถนน" ยิ่งทำให้เห็นภาพว่าหนังสือเป็นเล่มที่เป็นส่วนหนึ่งของงชีวิตประจำวันของเรานั้นกำลังจะค่อย ๆ หดหายไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นแน่แท้

ไม่ต้องสงสัยว่าคนจะหันมาอ่านหนังสือใน tablets มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากราคาของมันลดลงมาต่ำกว่า $99 ซึ่งผมเชือว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้

ผมยังทำใจไม่ได้หากบรรยากาศของการหยิบหนังสือมาอ่านทีละเล่ม, เดินเข้าร้านหนังสือที่เคยชินเพื่อถามหาหนังสือออกใหม่, และความรู้สึกที่ได้สัมผัสหนังสือด้วยมือของตนเอง...จะต้องสลายหายไปอย่างถาวร

แต่เมื่อยอดขาย e-books ที่เมืองนอกเริ่มแซงหน้ายอดขายหนังสือปกหนาหรือ hard cover และทำท่าว่าจะทะยานขึ้นตลอดเวลา ก็เริ่มมีการทำนายทายทักที่สหรัฐฯแล้วว่าภายในปี ค.ศ. 2025 หรือจากนี้ไปสิบปีเศษ ๆ หนังสือที่พิมพ์เป็นเล่มก็จะกลายเป็น "ของเก่าหายาก" เพราะผู้คนจะหันไปอ่านจาก tablets หรือมือถือเป็นส่วนใหญ่

เหมือนที่สารานุกรมอย่าง Britannica ที่คุณหาอ่านจากกระดาษวันนี้ไม่ได้แล้ว...และนั่นเป็นปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดได้ไม่ถึง 10 ปีมานี้เอง

เขาทำนายว่าในสองสามปีข้างหน้ายอดขาย e-books จะนำหน้ายอดขายหนังสือทั้งหมด และ e-magazines ก็จะแซงหน้าแมกกาซีนที่พิมพ์ด้วยกระดาษทั้งหลายเช่นกัน เพราะเหล่าบรรดา applications ใน tablets จะมาทดแทนการอ่านนิตยสารเล่มหนา ๆ หนัก ๆ บนกระดาษอาร์ททั้งหลายกันถ้วนหน้า

คนเขียนหนังสือและคนทำ "สำนักพิมพ์" ทั้งหลายก็จะต้องปรับตัวกันตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หากจะยังรักษาฐานคนอ่านรุ่นปัจจุบันและรุ่นใหม่ที่มีทางเลือกในการบริโภคข่าวสาร, สาระและเนื้อหาอย่างกว้างขวาง, รวดเร็วและฉับพลันเกินกว่าที่เราจะคาดการณ์ได้

แม้จะใจหาย, แต่เราก็ต้องหายใจต่อไปเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีใครยับยั้งได้อีกต่อไป

Friday, September 30, 2011

บีบีซีภาคภาษาจีนใช้ Weibo หรือทวิตเตอร์แบบจีนเจาะข่าวจีน




"เวยโป๋" (Weibo) หรือ 微博 คือ micro blog ของจีนที่เลียนแบบ Twitter ทุกกระเบียดนิ้ว ขณะนี้มีคนเข้าใช้ประมาณ 200 ล้านคนทั้ง ๆ ที่เพิ่งจะเปิดบริการมาได้ประมาณสองปีเท่านั้น

หัวหน้าฝ่ายข่าวบีบีซีภาคภาษาจีนที่ลอนดอนให้สัมภาษณ์ว่าเขาใช้ social media ของจีนสื่อสารกับผู้อ่านและผู้ฟังจีน (เว็บไซท์และวิทยุกับทีวีบีบีซีถูกห้ามในเมืองจีน) ผ่าน "เวยโป๋" อย่างมีประสิทธิภาพ

และหลายครั้งยังใช้ทวิตเตอร์ของจีนนี่แหละเจาะหาแหล่งข่าว ค้นหาข้อมูลที่ปกติจะหาจากแหล่งข่าวอื่นไม่ได้ จนสามารถทำรายงานลักษณ์ะสืบสวนสอบสวนหรือ investigative reporting เกี่ยวกับบางประเด็นในเมืองจีนได้อย่างน่าพอใจ

นี่คือ "อนาคตของข่าว" ที่เป็นมาตรฐานสากล...นั่นคือการใช้ social media อย่างกว้างขวาง, คล่องแคล่ว, และรอบคอบเพื่อทำหน้าที่การรายงานข่าวในรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

Thursday, September 29, 2011

พอ Kindle Fire เปิดตัวที่ $199 เพื่อชน iPad ที่ $499...คนข่าวก็ต้องขยับจาก Digital First เป็น Mobile First


พอ Amazon เปิดตัวแท็บเบล็ท Kindle Fire ราคา $199 (6,000 บาท)เพื่อชนกับ iPad ที่ราคา $499 15,000 บาท)
ก็เห็นภาพชัดขึ้นทันทีว่าคนข่าวดิจิตัลจะหันมาใช้มันเป็นเครื่องมือทำข่าว, สื่อสาร, และเสนอเนื้อหาสาระผ่าน tablet อย่างเป็นกิจลักษณะมากขึ้น

เพราะ iPad เป็นอุปกรณ์สำหรับคนระดับบน แต่ Kindle Fire กำลังจะทำให้แท็บเบล็ทกลายเป็น "ความจำเป็นประจำวัน" ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง

ณ ราคาหกพันบาทวันนี้ เป็นไปได้ว่าในปีสองปีข้างหน้า ทุกค่ายจะต้องพยายามทำให้มันราคาต่ำลงมาอีก เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการซื้อขายมากกว่าเป็นแท็บเบล็ทอย่างเดียว

เจ้าของอะเมซอน Jeff Bezos ประกาศเมื่อวานตอนเปิดตัว Kindle Fire ว่ามันไม่ใช่ tablet แต่เป็น service ซึ่งแปลว่าเขาสามารถจะขายมัน ณ ราคาต่ำกว่าทุนเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนเอามันไปใช้ซื้อหนัง, วีดีโอ, เพลง,และหนังสือและเล่นเกมส์จาก Amazon.com และเขาสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมจากการขายโฆษณาได้อีก

วงการสื่อก็จะต้องปรับตัวอีกครั้งหนึ่ง หาก tablet มีราคาพอ ๆ กันมือถือและสามารถทำอะไรได้ไม่น้อยกว่ากันโดยเฉพาะหากเนื้อหาของข่าวสารและข้อมูลทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นตัวหนังสือ, เสียง, วีดีโดและ animations สามารถเอาขึ้นไปได้เพื่อกาบริโภคของผู้ใช้อย่างทันท่วงที

จากกลยุทธ Digital First อาจจะต้องปรับอีกรอบหนึ่งเป็น Mobile First

นั่นย่อมแปลว่าไม่เพียงแต่คนทำข่าวเท่านั้นที่ต้องปรับตัวตลอดเวลา แต่หัวหน้าข่าวและบรรณาธิการก็ต้องเข้าใจการปรับเปลี่ย design สำหรับการนำเอาเนื้อหาขึ้นสู่ tablet อย่างคล่องแคล่วและ update เนื้อหาได้ตลอดเวลา

อาจจะหมายถึงการสร้างหน่วยงานใหม่ที่มีความสามารถครบวงจรตั้งแต่ข่าว, เนื้อหา, การออกแบบ, การตลาดและการปรับกลยุทธในภาพรวมทั้งหมดเพื่อรองรับเทคโนโลยีการสื่อสารที่ไม่เคยหยุดนิ่งแม้แต่วันเดียว

Wednesday, September 28, 2011

ฝืมือคนข่าวต้องไวจึงได้ช็อทนี้



นักข่าวที่ถ่ายคลิบนี้ทันต้องใช้กล้องมือถือที่เบียดเสียดคนใกล้ชิดนายกฯยิ่งลักษณ์เพื่อยิงช๊อทเด็ดนี้เท่านั้น หากเป็นกล้องทีวีใหญ่ที่คอยถ่ายตอนให้สัมภาษณ์อย่างเป็นทางการหน้าทำเนียบรัฐบาลเท่านั้น ก็จะพลาดมุมนี้ไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง

นายกฯไม่ได้บอกว่า "ขำ" อะไรจึงได้ยิ้มและหัวเราะกับตัวเองได้ขนาดนั้น...วันนั้นตรงกับวันที่ 20 กันยายน, หลังประชุมคณะรัฐมนตรี และนายกฯถูกนักข่าวรุมถามมากมายหลายเรื่อง จังหวะดี, นายกฯยิ่งลักษณ์ก็ถือโอกาสหลบเข้าลิฟท์เพราะไม่ต้องตอบคำถาม

ช็อทนี้บอกคนข่าวว่าแม้นายกฯจะดูเครียดและต้องสวมบทเอาจริงเอาจังเวลาตอบคำถาม, แต่ก็มีช่วงเวลาที่เป็นตัวของตัวเอง...เมื่อหลบเข้าลิฟท์ไปได้ และนึกว่านักข่าวตามไม่ทัน และไม่รู้หรอกว่าตัวนายกฯเองมีความรู้สึกขบขันเพียงใด

ความเป็นคนข่าวฉับไวนี่แหละที่ทำให้จับคลิบนี้ได้ (จากเว็บไซท์ประชาชาติธุรกิจ)

Tuesday, September 27, 2011

คนข่าวดิจิตัล...หนึ่งสมอง, สองมือ, กระเป๋าใบเดียว



วันก่อน ผมไปฟัง Dr Dave Clark ซึ่งเป็นทั้งนักข่าวและครูสอนด้าน multimedia journalism ที่ปักกิ่งและมะนิลาเล่าถึงวิธีทำงานของนักข่าวยุคใหม่ที่สามารถใช้อุปกรณ์หลายชิ้น ใส่กระเป๋าใบเดียว และทั้งรายงาน, ถ่ายทำ, ตัดต่อด้วยตนเอง ผลิตผลงานวีดีโอที่มีคุณภาพมาตรฐานได้อย่างน่าอัศจรรย์

Dr Clark เป็นนักข่าวชาวอังกฤษ แต่ทำหน้าที่เป็น Programme Director ด้าน Multimedia ให้กับหนังสือพิมพ์ China Daily ด้วย และผลิตผลงานหลากหลายพร้อม ๆ กับสอนนักเรียนและนักข่าวให้รู้จักใช้เทคโนโลยีผสมผสานกับความคล่องตัวของนักข่าวยุคใหม่เพื่อทำงานเป็น "ทีมงานคนเดียว" อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ผมถ่ายวีดีโอคลิบนี้มาให้ดูว่าในกระเป๋าใบเดียวของเขานั้นมีอะไรบ้าง...น่าทึ่งอย่างยิ่งครับ

Sunday, September 25, 2011

ตอบคำถาม Why และ How สำคัญกว่า Who, What, Where, When?


หากคนข่าวยุคดิจิตัลทำคำถามเพียงแต่สามสี่ข้อแรก, ก็เท่ากับละทิ้งหน้าที่ของการเป็น "คนข่าวมืออาชีพ" เพราะการที่ระบบอินเตอร์เน็ททำให้สามารถสื่อสารได้รวดเร็วทันการนั้น, ไม่ได้แปลว่าคนข่าวที่มีมาตรฐานจะหลงระเริงกับความสะดวกง่ายดายโดยลืมไปว่าคุณค่าของการเป็นสื่อที่มีความรับผิดชอบนั้นจะต้องยึดมั่นหลักการเดิมของการทำสื่อที่มีคุณภาพ

นั่นคือการตอบคำถามว่า Why? ต่อทุกข่าวที่มีความสำคัญของสังคม, และหากในการทำหน้าที่รายงานข่าวแล้วยังไม่สามารถจะสืบสวนหาคำตอบต่อคำถามว่า "ทำไม?" ก็ย่อมแปลว่าเรายังไม่ได้แสดงความรู้ความสามารถที่สมควรจะได้รับความไว้วางใจจากสังคม

นอกจากต้องตอบคำถามว่า Why? แล้ว, คนทำสื่อที่มีหลักการถูกต้องมั่นคงก็จะต้องตอบให้ได้ด้วยว่า How? นั่นคือการแสวงหาข้อมูลและเบื้องหลังของข่าวคราวตลอดจนการวิเคราะห์สถานการณ์ไปในอนาคตว่าสิ่งที่เกิดมาแล้ว, และอธิบายได้ว่าสาเหตุมาจากอะไร ยังจะต้องบอกต่อด้วยว่าแล้วเรื่องนี้จะกระทบต่อผู้คน "อย่างไร?" ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม, และไม่ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องในข่าวนั้นจะพยายามปกปิดข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์แห่งตนอย่างไร

ดังนั้น, ความเร็วของยุคดิจิตัลต้องไม่หมายถึงความผิวเผิน, ร้อนรน, กระโดดจากข่าวหนึ่งไปสู่อีกข่าวหนึ่งโดยไม่สนใจที่จะล้วงลึกเข้าไปถึงส่วนลึกของเรื่องนั้น ๆ หากแต่จะต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อทำหน้าที่เจาะลึกและกว้าง, และอธิบายว่า "ทำไมและอย่างไร?" ได้อย่างรอบด้าน, แม่นยำและน่าเชื่อถืออีกด้วย

แต่เพียง "ความร้อน" (heat) ย่อมไม่ใข่คำตอบ คนทำสื่อที่มีฝีมือจริง ๆ ในยุค "อนาคตแห่งข่าว" นั้นจะต้องสนองตอบความต้องการของสังคมด้วย "แสงสว่าง" (light) อย่างจะแจ้งอีกด้วย

Wednesday, September 21, 2011

"มิเตอร์จับเท็จ" นักการเมือง...ส่วนหนึ่งของอนาคตแห่งข่าว


หน้าที่สำคัญประการหนึ่งของคนข่าวไม่ว่าจะยุคไหนคือการตรวจสอบว่าใครพูดจริง, ใครพูดไม่จริง, ใครพูดความจริงเพียงด้านเดียว, หรือพูดบิดเบือนความจริงเพื่อให้ตนได้ประโยชน์?

ยิ่งคนที่อาสาเข้ามาทำงานเพื่อประชาชนในฐานะนักการเมืองหรือข้าราชการด้วยแล้ว, ก็ยิ่งจะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนพูดต่อสาธารณชน

ผมเห็นเว็บไซท์ Politifact.com ที่เขาประกาศว่าจะตรวจสอบทุกคำพูดและคำกล่าวอ้างของนักการเมืองหรือของบุคคลสาธารณะว่าเป็นการกล่าวตามข้อเท็จจริงหรือม่ก็เห็นความพยายามที่น่าสนใจ สมควรที่คนทำสื่อโดยเฉพาะในยุคดิจิตัลที่จะต้องทำหน้าที่การตรวจข้อมูลและข่าวสารเพื่อบอกกล่าวกับประชาชนว่าสิ่งที่ "ผู้รับใช้ประชาชน" นำมาบอกกล่าวหรือหาเสียงหรือสร้างความนิยมให้กับตนเองหรือกล่าวหาผู้อื่นเพื่อประโยชน์แห่งตนนั้นมีความจริงมากน้อยเพียงใด

เป็นการทำหน้าที่ของสื่อที่รับผิดชอบที่ไม่เพียงแต่รายงานว่าใครพูดอะไรเมื่อไหร่ที่ไหนเท่านั้น (ข่าวประเภท He said/She said)หากแต่ยังจะต้องค้นหากลับไปยังแหล่งที่มาของข้ออ้างนั้น หรือตรวจสอบจากทุกแหล่งข่าวที่พึงจะหาได้ว่า คำพูดหรือข้อกล่าวอ้างของนักการเมืองแต่ละคนในแต่ละเรื่องนั้น "ชัวร์หรือมั่วนิ่ม" กันแน่

เว็บไซท์ Politifact.com เอาจริงเอาจังกับบทบาทการ "จับโกหก" ของสาธารณบุคคลถึงขั้นที่ใช้ "มิเตอร์จับเท็จ" ที่เขาเรียกว่า Truth-O-Meter เพื่อจะบอกกับสาธารณชนว่าคำพูดของนักการเมืองคนไหนเมื่อไหร่มีความจริงมากน้อยเพียงใด

เขาแบ่งเป็นประเภทของ "ชัวร์หรือมั่วนิ่ม" ว่าจริง, เท็จ, จริงบางส่วน, เท็จบางส่วน, หรือ "มั่วทั้งเพ" ไปเลย

แน่นอน การที่ฝ่ายข่าวของสื่อใดจะทำหน้าที่ตรวจสอบเช่นนี้ได้จะต้องมีความมั่นใจในความถูกต้องแม่นยำ, ความเป็นมืออาชีพ, และความน่าเชื่อถือที่สั่งสมจากประสบการณ์ ไม่โอนเอียงเข้าข้างใดข้างหนึ่ง หรือกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายใด เพราะ "ความน่าเชือถือ" นั้นเองคืออาวุธที่ทรงคุณค่าที่สุดสำหรับคนทำสื่อไม่ว่าจะยุคใดสมัยใด

ยิ่งทุกวันนี้มีแหล่งข่าวและกลไกของการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมากมาย, การทำหน้าที่ "จับโกหก" สาธารณบุคคลก็ยิ่งทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อยู่ที่ว่าสื่อจะเห็นความสำคัญของการใช้ "มิเตอร์จับเท็จ" ในการสร้าง "อนาคตแห่งข่าว" ที่ได้มาตรฐานแห่งวิชาชีพหรือยัง?

Sunday, September 18, 2011

วันหนึ่งหากหุ่นยนต์เขียนข่าวดีกว่ามนุษย์...

หากวันนั้นมาถึง คุณในฐานะเป็นนักข่าวอาชีพจะทำอย่างไร?

"วันนั้น" ผมหมายถึงเมื่อคอมพิวเตอร์เขียนข่าวแทนนักข่าวตัวเป็น ๆ ได้อย่างที่มีการทดลองสร้าง "Robot Journalist" ที่เขียนข่าวกีฬาได้ และเกือบจะทำได้ดีกว่านักข่าวกีฬาที่เป็นมนุษย์ปกติอย่างที่รายงานในรายการวิทยุของ NPR ที่วิเคราะห์ผ่านโครงการ Narrative Science

เขาทำนายไว้อย่างท้าทายว่าอีกห้าปี เจ้าหุ่นยนต์นักข่าวนี้อาจจะเขียนข่าวได้ดีถึงขั้นได้รางวัลพูลิทซอร์ทีเดียว...เรียกว่าสามารถเอาชนะนักข่าวธรรมดาได้

กระบวนการของการให้คอมพิวเตอร์เขียนข่าวอย่างเป็นกิจลักษณะคือการป้อนข้อมูลทั้งหลายเข้าไป (ก็โดยมนุษย์นี่แหละ) เพื่อบอกให้เขียนตามสูตรที่กำหนดเอาไว้ (ก็โดยมนุษย์เองอีกนี่แหละ) และสามารถผลิตผลงานออกมาเนี๊ยบกว่าที่นักข่าวที่เป็นคนธรรมดาเขียนได้เอง

ผมว่าความเป็นไปได้นั้นมีอยู่ เพราะถึงจุดหนึ่งเมื่อมนุษย์สอนให้ "นักข่าวหุ่นยนต์" มีความ "ฉลาด" ได้ด้วยการใส่ข้อมูลและสูตรต่าง ๆ เข้าไปได้แล้ว มันก็สามารถผลิตผลงาน "ดิจิตัล" ออกมาได้อย่างเป็นระบบ...

นี่ย่อมแปลว่าหากคนข่าววันนี้ไม่ปรับตัวและใช้สมองอย่างชาญฉลาด และฝึกฝนตนให้ใช้วิธีคิดอย่างสร้างสรรค์เกินกว่าคอมพิวเตอร์จะทำได้, "วันนั้น" ก็จะมาถึงโดยไม่ช้าเกินไปนัก

"วันนั้น" คือวันที่หุ่นยนต์ทำหน้าที่ "คนข่าว" ได้ดีกว่า "คน" จริง ๆ

น่ากลัว น่าหวาดหวั่น และน่าสยองยิ่งนักสำหรับคนทำสื่อที่ยืนยันว่าจะไม่ปรับไม่เปลี่ยนและไม่สนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวเอง

(แน่ใจได้อย่างไรว่าข้อความข้างบนนี้ไม่ได้เขียนโดยหุ่นยนต์นักข่าว?)

Saturday, September 17, 2011

เชื้อเชิญให้คนอ่านวิจารณ์ท่าน...เพื่อความอยู่รอดของคุณเอง


ยิ่งเข้ายุคสื่อดิจิตัล, ยิ่งต้องให้ผู้เสพข่าวได้ร่วมแสดงความเห็นและกำหนดวิธีการทำงานของคนทำสื่ออาชีพ เพราะการตรวจสอบจะเข้มข้นขึ้น และคนข่าววิชาชีพไม่สามารถจะซ่อนตัวอยู่หลังกำแพงแห่งคำว่า "สื่อมวลชน" โดยไม่ให้มวลชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับเนื้อหาและสาระอีกต่อไป

Washington Post เปิดเว็ปไซท์ย่อย ๆ ใหม่ เรียกมันอย่างง่าย ๆ ตรง ๆ ว่า "Ask the Post" ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดช่องทางการสื่อสารอย่างเป็นระบบเพื่อรับฟังความเป็นจากคนอ่านอย่างเป็นกิจลักษณะ ไม่ใช่เพียงรออ่านอีเมล์จากคนอ่านที่เกิดอารมณ์ไม่พอใจกับบางเรื่องบางข่าวหรือบางรูปเท่านั้น

การเปิดเว็ปไซท์เพื่อให้เป็นเวทีเปิดและให้คนอ่านสามารถเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ทั้งกับคนทำสื่อกับคนอ่านกันเองจึงเป็นการเปิดกว้างที่มีนัยสำคัญสำหรับการสร้างฐานคนอ่านและผู้เสพข่าวอย่างต่อเนื่องท่ามกลางการท้าทายของข่าวสารที่หลั่งไหลมาทุกวินาที

เว็บไซท์ "ท่านถาม เราตอบ" อย่างนี้จะต้องมีบรรณาธิการดูแลเป็นการเฉพาะเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของความเห็นที่ไหลเข้ามและเพื่อประสานให้คนในห้องข่าวได้ตอบคำถามหรือสนองความคิดเห็นที่มาจากผู้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดและให้เกิด engagement สูงสุด

ผมชอบที่เขาขอให้คนอ่านวิพากษ์หน้าหนึ่งของเขาทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจเลือกว่าข่าวไหนสำคัญกว่าข่าวไหน รวมไปถึงภาษาข่าวและภาพที่ใช้ รวมไปถึงการจัดหน้าและการสะท้อนถึงความลุ่มลึกของข่าวในภาวะที่ข่าว breaking news ไม่ใช่จุดขายของสื่อหนังสือพิมพ์อีกต่อไปแล้ว

ในเว็บไซท์นี้ บก.แต่ละโต๊ะข่าวจะมาสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้อ่านอย่างเป็นกันเอง เสมือนเป็นการตั้งเวทีคุยกันได้ทุกเรื่องทุกวันกับทุกคน

นี่คือแนวทางการอยู่รอดในวันนี้ของสื่อสิ่งพิมพ์ที่ต้องปรับตัวให้แข่งขันกับกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและต่อเนื่อง..เพราะหากคนอ่านของคุณเงียบสนิทหรือไม่สนใจจะวิพากษ์คุณ, ก็ย่อมแปลว่าหน้าที่งานการของคุณกำลังจะหมดความหมายในวิถีชีวิตประจำวันของเขาและเธอแล้ว

Thursday, September 15, 2011

สมัครงานเป็นนักข่าว...เขียนสมัครมาแค่ 140 ตัวอักษรผ่านทวิตเตอร์!


อนาคตของข่าวก็คืออนาคตของคนข่าวเองนี่แหละ...และดูเหมือนการปรับตัวจะต้องเกิดขึ้นถี่ขึ้นกว่าเดิมในทุก ๆ ด้าน

อย่างบรรณาธิการของสื่ออังกฤษคนนี้ประกาศอย่างขึงขังผ่านบล็อกของตัวเองว่าต่อแต่นี้ ใครจะสมัครเป็นนักข่าวของเขาไม่ต้องเขียนใบสมัครยาวเหยียดหรือกรอกฟอร์มสวยหรูให้วุ่นวายเหมือนที่ทำกันมาหลายร้อยปีแล้ว

แกบอกว่าแกเบื่อมากกับคนที่มาสมัครงานกับสื่อของแกวันนี้ แล้วยังเขียนเหมือนยังอยู่ในโลกยโบราณ นั่นคือ "เรียนท่านบรรณาธิการ...ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะสมัครงานตำแหน่งนักข่าวกับหนังสือพิมพ์ของท่าน ข้าพเจ้าได้แนบประวัติการทำงานและผลงานในอดีตมาให้ท่านได้อ่านพร้อมกันนี้แล้ว ข้าพเจ้าหวังว่าท่านจะโอกาสแต่ข้าพเจ้าในการได้มาร่วมงานกับท่าน...ขอแสดงความนับถืออย่างสูง...."

หรือเขียนอะไรเชย ๆ อย่างนี้

บรรณาธิการคนนี้บอกว่าต่อไปนี้ใครจะสมัครตำแหน่งนักข่าวให้สมัครด้วยการเขียนทวิตเตอร์ความยาวไม่เกิน 140 ตัวอ้กษรเท่านั้น ไม่ต้องยาวกว่านี้ ไม่ต้องสาธยายความรู้ความสามารถหรือประสบการณ์ให้น่ารำคาญ

"ผมเพียงต้องการนักข่าวที่เขียนข่าวที่คนอื่นหาไม่ได้ เขียนได้อย่างเร็วและถูกต้องแม่นยำเท่านั้น อย่างอื่นไม่ต้องมาโม้ให้เสียเวลาของผมและของคุณ..."

สมัครงานผ่าน Facebook ผมก็ว่าทันสมัยแล้ว นี่จะให้สมัครงานผ่าน Twitter เพราะต้องการพิสูจน์ว่าคนสมัครสามารถเสนอตัวเองใน 140ตัวอักษรได้เก่งแค่ไหน

ผมชักจะเห็นด้วยกับ บก. อังกฤษคนนี้เสียแล้วซิครับ...

เห็นหรือยังครับว่าอนาคตคนข่าวไม่ง่ายอีกต่อไปแล้วครับ

Tuesday, September 13, 2011

Thaipublica...อีกประกายไฟใหม่ของอนาคตแห่งข่าว


การประกาศเปิดตัวของ Thaipublica ที่เรียกตัวเองวาเป็น "สำนักข่าวสืบสวนสอบสวนเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์" เป็นเรื่องน่าติดตามสำหรับคนข่าวที่สนใจ "อนาคตของข่าว" แน่นอน

และน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสใหม่ของการทำสื่อออนไลน์เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับสังคมไทย

ผมอยากเห็นคนข่าวรุ่นใหม่ที่มีอุดมการณ์ทำข่าวอย่างมืออาชีพ,เป็นอิสระ, แสวงหาความจริงมาเปิดเผยต่อสังคมไทยที่จะมีความกล้าและมุ่งมั่นที่จะก้าวเข้ามาสู่โลกออนไลน์เพื่อผลิตสาระและเนื้อหาในรูป multimedia เพื่อเสนอผลงานต่อสังคมอย่างมีมาตรฐานและใช้โอกาสแห่งความคล่องแคล่วของโลก digital นี้สนองตอบความฝันของตนที่จะเป็นสื่อวิชาชีพที่ไม่ต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลของทุน, การเมืองหรือสังกัดของสำนักหรือค่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

Thaipublica บอกว่าเลียนแบบของ Propublica.org ของอเมริกาซึ่งเน้นการทำข่าวเชิง investigative reporting โดยได้เงินสนับสนุนจากองค์กรสาธารณะและผู้บริจาคที่ต้องการเห็นการทำข่าวเชิงลึกอย่างจริงจัง ถือได้ว่าเป็นสื่อทางเลือกที่ได้รับความสนใจในแวดวงผู้สนใจวิวัฒนาการของสื่อในรูปแบบใหม่ ๆ ไม่น้อย

Thaipublica มีชื่อของนักคิดนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ที่มีผลงานปรากฏมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสฤณี อาชวานันทกุล,
บุญลาภ ภูสุวรรณ, ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา และอีกหลายคนในแวดวงที่คนอ่านหนังสือคุ้นเคย จึงน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความสนใจกระตุ้นให้คนทำสื่อรุ่นใหม่ ๆ เกิกแรงบรรดาลใจให้เปิดงานด้านแนวทางนี้อย่างมีนัยสำคัญ

ตามคำให้สัมภาษณ์ของผู้ร่วมก่อตั้ง แหล่งรายได้เบื้องต้นของ Thaipublica มาจากทุนตั้งต้นที่มาจากผู้สนับสนุนที่มีเจตนารมณ์ ถือเป็น "เงินบริจาค" ที่ไม่มีเงื่อนไข อีกทั้งยังจะหารายได้จากโฆษณา และจากสมาชิกหากอ่านเกินเนื้อหาจำนวนหนึ่งที่ให้อ่านฟรีได้

ผมเห็นแนวโน้มที่จะมีสื่ออนไลน์ในรูปแบบนี้ก่อเกิดขึ้นต่อเนื่องอีกอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะคนทำสื่อที่ไม่ต้องการผูกติดกับกลุ่มทุน, กลุ่มการเมือง, หรือถูกมองว่าเป็นเพียงกระบอกเสียงของกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

แน่นอนว่านี่คือการท้าทายสื่อกระแสหลักที่ถูกมองว่ามีข่าวคราวสืบสวนสอบสวนในหัวข้อสำคัญ ๆ ไม่เพียงพอ และไม่อาจจะตอบสนองความต้องการของสังคมที่ไม่เพียงแค่ "ข่าวเร็วข่าวร้อน" เท่านั้น หากแต่ต้องการ "ข่าวลึก, ข่าวเจาะ" ที่จะสร้างปัญญามากกว่าเพียงแค่ทำข่าว "ไฟไหม้ฟาง" เท่านั้น

ทุกประกายไฟใหม่ที่ส่องสว่างในท้องฟ้าแห่งข่าวสารบ้านเมืองย่อมควรได้รับการต้อนรับจากผู้สนใจใคร่สร้างสิ่งใหม่ ๆ ของ "อนาคตแห่งข่าว" ทั้งสิ้น

Saturday, September 10, 2011

ข่าวไฟไหม้ฟาง...ต้องถูกแทนที่โดย "ข่าวอธิบายความ"


คนข่าวมองไปในอนาคตจะต้องเห็นสัจธรรมข้อหนึ่ง นั่นคือ "ข่าวร้อนข่าวด่วน" จะกลายเป็น "สินค้าแบกะดิน" เพราะมีขายกันเกลื่อนกลาด และเป็นสิ่งที่ตามไล่ล่าแจกผู้คนที่มีเครื่องมือทันสมัยที่สามารถรับรู้ข่าวสารได้ตลอดทุกนาทีของวันเวลาไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนหรือทำอะไรอยู่

Breaking news จึงเป็นของร้อนเพียงชั่วไม่กี่นาที เพราะจะมีข่าวที่ร้อนกว่าเข้ามาแทนที่ในไม่กี่วินาทีข้างหน้า ดังนั้นข่าวด่วนข่าวเร็วจึงไม่ควรจะเป็น "อาหารจานหลัก" ของคนข่าวที่ต้องการจะสร้าง "คุณค่า" ให้กับงานของตนในวันนี้หรือวันข้างหน้าอีกต่อไป

หรือพูดอีกนัยหนึ่ง ข่าวร้อนข่าวเร็วนั้นบ่อยครั้งก็เป็นเพียง "ข่าวไฟไหม้ฟาง" เท่านั้น

ผู้บริโภคข่าวจะตีค่าของผลงานเราไม่ใช่ว่าเราสามารถเสนอข่าวร้อนได้เร็วกว่าคนอื่นตั้งหนึ่งวินาทีหรือสองวินาที หากแต่ brand ของงานข่าวจะอยู่ที่ว่าใครสามารถเสนอข่าวที่ลึกกว่า, อธิบายที่มาที่ไปและวิเคราะห์ได้สอดคล้องต้องกับความต้องการของคนที่ติดตามข่าวสารได้มากกว่า

นั่นคือ "ความแตกต่าง" ที่จะตัดสินว่าคนข่าวคนไหนจะได้รับความสนใจและสามารถอยู่ในเวทีแห่งการแข่งขันได้ยาวนานกว่ากัน

ดังนั้น "ข่าวด่วน" จึงสู้ "ข่าวสำคัญ"ที่มีผลต่อความเป็นอยู่หรือวิถีชีวิตของผู้คนไม่ได้

คนข่าวจึงต้องเรียนรู้และฝึกฝนตนเองในการทำรายงานข่าวที่มีลักษณะ "ข่าวยั่งยืน" และ "ข่าวอธิบายความ" ที่บางคนเรียกว่า Evergreen journalism และ Explanatory journalism โดยเน้นที่ข่าวและรายงานซึ่งมีนัยสำคัญต่อสังคม ไม่ใช่เพียงแค่พาดหัวหวือหวาที่เกิดแล้วก็ตายได้ภายในไม่กี่ชัวโมง

Evergreen journalism ย่อมหมายถึงการที่นักข่าวเจาะข่าวที่มีเนื้อหาลุ่มลึกและสามารถดึงดูดความสนใจและความเห็นหลากหลายจากผู้คนที่ติดตาม ยิ่งเมื่ออยู่ในรูปแบบ digital แล้ว รายงานชิ้นนั้น ๆ ก็ยังปรากฏอยู่ในรูปแบบรายงานสดต่อไปได้ยาวนาน และเพิ่มพูนเนื้อหาสาระไปได้ตลอดเวลาตามสถานการณ์และรายละเอียดเพิ่มเติมหรือข้อมูลเสริมจากประชาชนทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ

Explanatory journalism คือรูปแบบการรายงานข่าวที่เน้นการอธิบายเรื่องที่สลับซับซ้อนหรือมีหลายมิติ แม้จะไม่ใช่เรื่องฮิอฮาที่สร้างความเกรียวกราวในพาดหัว แต่เป็นประเด็นที่มีผลกระทบต่อผู้คนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

และนั่นแหละคือ "ข่าวจริง" ที่จะอยู่ยงคงกระพันในโลกสื่อ digital ได้อย่างสง่างามตลอดไปไม่ว่าสื่อเก่าจะถูกท้าทายหนักหน่วงเพียงใดก็ตาม