Sunday, July 31, 2016

CEO กับความปั่นป่วนแห่งความเปลี่ยนแปลง

คุณอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารไทยพาณิชย์ให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ" ล่าสุด ยืนยันว่าความอยู่รอดขององค์กรในภาวะความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงนั้นจะต้อง "ปรับตัว ทำใหม่หมด"
เขาใช้คำว่า transformation ซึ่งหากจะให้ตรงความหมายจริงอาจต้องใช้คำว่า complete transformation
อันเป็นภารกิจที่หนักหน่วงยากเย็นและต้องฟันฝ่าอย่างที่ไม่เคยเห็นไม่เคยพานพบมาก่อน
คุณอาทิตย์พูดได้ตรงมาก บอกว่า "การได้มาของผลประกอบการทุกวันนี้มาด้วยการสั่งสมบุญเก่า ไม่ว่าจะเป็นฐานลูกค้าในทุกกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ดีต่อกันมานาน..."
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ธนาคารไทยพาณิชย์จึงต้องมี "กระบวนการเปลี่ยนแปลงตัวเอง...แต่กระบวนการนั้นจะรุนแรงรวดเร็วทันกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลกหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ สิ่งนี้คือแบบฝึกหัดที่กำลังทำกันอยู่ในองค์กร"
คำว่า "กระบวนการเปลี่ยนแปลงตัวเอง" อาจจะมาจากศัพท์แสงใหม่ในแวดวงผู้เกาะติดโลกดิจิตัลทุกวันนี้ นั่นคือ disruption
คำว่า disruption ผมแปลเองว่าคือ "การป่วน" ให้ของเดิมต้องเปลี่ยนอย่างรุนแรง
บางคนคิดว่าเทคโนโลยีมา disrupt จากข้างนอก จึงคอยปรับให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง แต่ความจริงการจะอยู่รอดในสถานการณ์แห่งความปั่นป่วนนั้นทุกองค์กรต้องเริ่มด้วยการ "ป่วนตัวเอง" หรือ disrupt yourself ก่อน
นั่นคือการปรับโครงสร้างการทำงาน การนิยามบทบาทหน้าที่ใหม่ของทุกคน และการเขียน job description ใหม่สำหรับทุกคนตั้งแต่ CEO ไปถึงพนักงานเดินสาร
ซึ่งเป็นงานยากที่สุด เพราะนั่นหมายถึงการยกเครื่องวัฒนธรรมทางความคิดและวิธีการทำงานโดยสิ้นเชิง
วัฒนธรรมไทยโดยพื้นฐานแล้วจะยืนอยู่คนละข้างกับการปรับเปลี่ยนอย่างหนักหน่วงเช่นนี้
เพราะความสะดวกสบายเป็นหลักคิดดั้งเดิมที่เปลี่ยนยากยิ่ง
ทุกคนอยู่ใน comfort zone ของตัวเอง การพยักหน้ารับฟังและเข้าใจว่าจะต้องเปลี่ยนไม่ได้แปลว่าความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น
จึงน่าสนใจที่คุณอาทิตย์ในฐานะ CEO บอกว่าเขาได้เริ่มกระบวนการความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยการจัดโปรแกรมให้ผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร 20 คน รวมตัวเองเป็น 21 คน นั่งคุยกันทุกวันตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงเที่ยง เป็นเวลา 100 วัน เพื่อร่วมกันสร้างข้อตกลง ปลดล็อก เปลี่ยนน็อตในองค์กรว่าจะเปลี่ยนน็อตตัวไหนก่อน จะถอดชิ้นไหนออกมา
"ความท้าทายของจุดเริ่มต้นนี้อยู่ที่ทำอย่างไรที่เมื่อตกลงกันในห้องแล้ว เมื่อผู้บริหารแต่ละส่วนเดินออกจากห้อง จะไม่กลับไปทำเหมือนเดิม ทำเท่าเดิมตามความคิดเดิม..."
คุณอาทิตย์ยอมรับว่าเรื่องนี้ไม่ง่ายเลย เพราะไทยพาณิชย์เป็นที่รวมของจอมยุทธ์ทั่วแผ่นดิน ยิ่งเป็นจอมยุทธ์ ยิ่งมีความเชื่อมั่นในตัวเอง
ท้ายที่สุดเป้าหมายของการปรับตัวขนานใหญ่อย่าที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ 110 ปีของไทยพาณิชย์คือ "ความอยู่รอด"
วลีเด็ดที่สะท้อนถึงความตระหนักถึงสัจธรรมโลกใหม่วันนี้ของคุณอาทิตย์ที่ต้องขีดเส้นใต้ เพราะมันใช้สำหรับทุกองค์กร ทุกหน่วยงานและคนทำงานทุกวิชาชีพวันนี้คือ
"สถานการณ์ ณ ขณะนี้ไม่ได้บอกว่าถ้าเราทำกำไรสูงสุดได้ทุกปี เราจะอยู่รอด..."