Wednesday, September 21, 2011

"มิเตอร์จับเท็จ" นักการเมือง...ส่วนหนึ่งของอนาคตแห่งข่าว


หน้าที่สำคัญประการหนึ่งของคนข่าวไม่ว่าจะยุคไหนคือการตรวจสอบว่าใครพูดจริง, ใครพูดไม่จริง, ใครพูดความจริงเพียงด้านเดียว, หรือพูดบิดเบือนความจริงเพื่อให้ตนได้ประโยชน์?

ยิ่งคนที่อาสาเข้ามาทำงานเพื่อประชาชนในฐานะนักการเมืองหรือข้าราชการด้วยแล้ว, ก็ยิ่งจะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนพูดต่อสาธารณชน

ผมเห็นเว็บไซท์ Politifact.com ที่เขาประกาศว่าจะตรวจสอบทุกคำพูดและคำกล่าวอ้างของนักการเมืองหรือของบุคคลสาธารณะว่าเป็นการกล่าวตามข้อเท็จจริงหรือม่ก็เห็นความพยายามที่น่าสนใจ สมควรที่คนทำสื่อโดยเฉพาะในยุคดิจิตัลที่จะต้องทำหน้าที่การตรวจข้อมูลและข่าวสารเพื่อบอกกล่าวกับประชาชนว่าสิ่งที่ "ผู้รับใช้ประชาชน" นำมาบอกกล่าวหรือหาเสียงหรือสร้างความนิยมให้กับตนเองหรือกล่าวหาผู้อื่นเพื่อประโยชน์แห่งตนนั้นมีความจริงมากน้อยเพียงใด

เป็นการทำหน้าที่ของสื่อที่รับผิดชอบที่ไม่เพียงแต่รายงานว่าใครพูดอะไรเมื่อไหร่ที่ไหนเท่านั้น (ข่าวประเภท He said/She said)หากแต่ยังจะต้องค้นหากลับไปยังแหล่งที่มาของข้ออ้างนั้น หรือตรวจสอบจากทุกแหล่งข่าวที่พึงจะหาได้ว่า คำพูดหรือข้อกล่าวอ้างของนักการเมืองแต่ละคนในแต่ละเรื่องนั้น "ชัวร์หรือมั่วนิ่ม" กันแน่

เว็บไซท์ Politifact.com เอาจริงเอาจังกับบทบาทการ "จับโกหก" ของสาธารณบุคคลถึงขั้นที่ใช้ "มิเตอร์จับเท็จ" ที่เขาเรียกว่า Truth-O-Meter เพื่อจะบอกกับสาธารณชนว่าคำพูดของนักการเมืองคนไหนเมื่อไหร่มีความจริงมากน้อยเพียงใด

เขาแบ่งเป็นประเภทของ "ชัวร์หรือมั่วนิ่ม" ว่าจริง, เท็จ, จริงบางส่วน, เท็จบางส่วน, หรือ "มั่วทั้งเพ" ไปเลย

แน่นอน การที่ฝ่ายข่าวของสื่อใดจะทำหน้าที่ตรวจสอบเช่นนี้ได้จะต้องมีความมั่นใจในความถูกต้องแม่นยำ, ความเป็นมืออาชีพ, และความน่าเชื่อถือที่สั่งสมจากประสบการณ์ ไม่โอนเอียงเข้าข้างใดข้างหนึ่ง หรือกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายใด เพราะ "ความน่าเชือถือ" นั้นเองคืออาวุธที่ทรงคุณค่าที่สุดสำหรับคนทำสื่อไม่ว่าจะยุคใดสมัยใด

ยิ่งทุกวันนี้มีแหล่งข่าวและกลไกของการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมากมาย, การทำหน้าที่ "จับโกหก" สาธารณบุคคลก็ยิ่งทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อยู่ที่ว่าสื่อจะเห็นความสำคัญของการใช้ "มิเตอร์จับเท็จ" ในการสร้าง "อนาคตแห่งข่าว" ที่ได้มาตรฐานแห่งวิชาชีพหรือยัง?

No comments: