Monday, November 28, 2011

ตัวอย่างของจริง...พลังของ social media ในการทำข่าวสืบสวนสอบสวน


Paul Lewis นักข่าว Guardian เจ้าของรางวัลข่าวสืบสวนสอบสวนเล่าถึงการที่เขาใช้ social media โดยเฉพาะ Twitter ในการทำข่าว investigative reporting เพราะเขาเชื่อในพลังของ "นักข่าวพลเรือน" ในโลกยุคดิจิตัลที่ประชาชนทั่วไปมีกล้องมือถือและ tablets ที่เป็นอุปกรณ์ของการบันทึกภาพ, เสียง, วีดีโอและเขียนรายงานข่าวได้ในจังหวะและโอกาสที่นักข่าวอาชีพไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ

กรณีแรกคือชายคนหนึ่งชื่อ Ian Tomlinson ที่ตำรวจบอกว่าตายระหว่างการประท้วง "ด้วยสาเหตุธรรมชาติ" แต่มีเหตุอันน่าสงสัยทำให้นักข่าวคนนี้เข้าไปในทวิตเตอร์เพื่อถามว่า "มึใครเห็นเหตุการณ์นี้บ้างไหม? ถ้ามี, ช่วยติดต่อผมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกันหน่อย..."

ชายคนนี้ไม่ได้เป็นผู้ประท้วงด้วยซ้ำ เขาเพียงแค่เดินทางกลับบ้านจากที่ทำงานผ่านเส้นทางที่กำลังมีเรื่องประท้วงกันอยู่

คนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นมีหลายคน มีรูปในมุมต่าง ๆ แต่ไม่มีใครมีคลิบวีดีโอเด็ดเท่ากับนักการธนาคารอเมริกันคนหนึ่งที่บังเอิญวันนี้มีกล้องมือถือและผ่านไปในจุดที่เกิดเรื่องที่ลอนดอนพอดี

เขาอ่านเจอทวิตเตอร์ของนักข่าวคนนี้จากนิวยอร์ค จึงส่งคลิบนั้นมาให้ทางอินเตอร์เน็ท และเมื่อนักข่าวได้คลิบ และสืบสวนต่อเนื่องไป ก็ได้ความว่าที่ตำรวจแถลงก่อนหน้านี้ว่าชายคนนี้ตายด้วย "เหตุปกติ" นั้นเป็นเรื่องโกหก

คลิบของ "citizen reporter" คนนี้ยืนยันว่าเขาถูกตำรวจซ้อมจนตาย

อีกคดีหนึ่งเป็นคนอัฟริกา (Jimmy Mubenga,ผู้ลี้ภัยการเมืองจากแองโกล่า, พำนักที่ลอนดอน) ที่ตายบนเครื่องบิน เพราะเจ้าหน้าที่อังกฤษต้องการจะกักกันตัวเขา และเขาดิ้นสู้ ปรากฏว่าถูกควบคุมตัวบนเครื่องบินด้วยวิธีการที่ทำให้เขาหายใจไม่ออก พอเครื่องบินจอดก็กลายเป็นศพแล้ว

ตำรวจแถลงข่าวว่าเขาตาย "ด้วยเหตุปกติ" อีกเช่นกัน

นักข่าวคนเดียวกันนี้บอกว่าเมื่อได้ข่าวเรื่องนี้ก็มีความอยากรู้อยากเห็นว่าอยู่ดี ๆ ชายวัยกลางคนซึ่งดูมีสุขภาพปกติจึงตายได้ง่าย ๆ...เขาหันไปหาทวิตเตอร์อีกเช่นเคย ถามว่าใครอยู่บนเที่ยวบินนั้น ใครเห็นอะไรที่ผิดปกติกับชายคนนี้หรือไม่

ไม่กี่วันต่อมา เขาก็ได้รับโทรศัพท์จากชายคนหนึ่งที่อยู่บนเที่ยวบินนั้น เห็นวิธีการที่ตำรวจล็อกคอชายคนนั้น และเขาร้องตะโกนว่าหายใจไม่ออกอยู่หลายรอบ จนแน่นิ่งไป ซึ่งแปลว่าเขาตายเพราะการกระทำของตำรวจต่อหน้าผู้โดยสารคนอื่น

นักข่าว Paul Lewis ติดตาม "นักข่าวพลเมือง" คนนั้นเพื่อขอข้อมูลที่ละเอียด และเจาะไปถึงผู้โดยสารคนอื่นที่อยู่ในเที่ยวบินเดียวกันนี้เพื่อตรวจสอบข่าวให้ละเอียดรอบคอบถี่ถ้วน

ลงท้าย ด้วยการใช้ crowd sourcing หรือ "ปัญญาแห่งฝูงชน" ในการทำข่าวผ่าน social media ข่าวที่ปกติจะแสวงหาความจริงได้ยากยิ่งก็กลายเป็นเรื่องที่สามารถทำความจริงให้ประจักษ์ได้อย่างน่าอัศจรรย์

นี่คือพลังของ social media ในการส่งเสริมการทำข่าว investigative reporting อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด

Paul Lewis ยอมรับว่าข้อมูลและข่าวสารผ่าน Twitter และ Facebook นั้นมีไม่น้อยที่เป็นข่าวลือและข่าวปล่อยซึ่งนักข่าวอาชีพต้องแยกแยะให้ได้ ไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ใช้ social media ไปในทางที่ผิด

แต่ขณะเดียวกันเครือข่ายสังคมออนไลน์เหล่านี้ก็เป็นอาวุธทรงพลังในการช่วยให้คนทำข่าวสามารถเจาะเรื่องราวอย่างลุ่มลึกและกว้างไกลกว่าที่คนทำสื่อจะสามารถมาได้ก่อนหน้านี้อย่างวิเศษสุดเช่นกัน

No comments: