Tuesday, December 13, 2011

กฎหมายถือว่า blogger เป็น journalist หรือไม่?


คนเขียนบล็อก (blogger) ถือว่าเป็นคนทำสื่ออาชีพ (journalist) หรือไม่?

ประเด็นนี้่ถกเถียงกันมาพักใหญ่แล้ว แต่วันก่อนศาลที่เมืองพอร์ทแลนด์ของสหรัฐฯตัดสินคดีหนึ่ง ฟันธงว่าคนเขียนบล็อกในอินเตอร์เน็ทไม่ได้รับการปกป้องตามกฎหมายว่าด้วยการทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของคนอื่นเหมือนสื่อสารมวลชนอาชีพ

พูดง่าย ๆ คือหากตีความตามคำพิพากษานี้ blogger หาใช่ journalist ไม่

ซึ่งย่อมทำให้การถกเถียงกันในหัวข้อนี้ร้อนแรงต่อไปเพราะในหลายกรณี ผมเชื่อว่าคนเขียนบล็อกก็ทำหน้าที่่เป็นสื่อมวลชนอย่างเต็มรูปแบบ และบางคนทำได้ดีกว่าคนทำสื่ออาชีพด้วยซ้ำ แต่นั่นย่อมขึ้นอยู่กับคุณภาพของแต่ละคนในแต่ละกรณี ไม่อาจจะระบุเป็นข้อสรุปตายตัวได้

หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ journalist เป็น blogger แต่ blogger ไม่ใช่ journalist เสมอไป

คดีที่ผมยกมาเล่านี้เกิดที่เมืองพอร์ทแลนด์ของสหรัฐฯ คนเขียนบล็อกชื่อ Crystal Cox ซึ่งบอกว่าตัวเองเป็นสื่อมวลชนที่ทำข่าวประเภทสืบสวนสอบสวน เปิดโปงเรื่องราวในบริษัทลงทุนการเงินแห่งหนึ่งที่ชื่อ Obsidian Finance Group

เธอเขียนบทความหลายเรื่องต่อเนื่องกันในบล็อกของเธอที่วิพากษ์วิจารณ์ผู้ร่วมก่อตั้งคนหนึ่งของบริษัทนี้ชื่อ Kevin Padrick ซึ่งฟ้องหมิ่นประมาทเธอในศาลโดยอ้างว่าความเสียหายที่บทความในบล็อกของเธอนั้น "จะติดอยู่กับผมตลอดไป เพราะอะไรที่เกิดในอินเตอร์เน็ทไม่สามารถจะแก้ไขให้หายไปได้."

ผู้พิพากษา Marco A. Hernandez มีคำวินิจฉัยว่าคนเขียนบล็อกไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายว่าด้วยสื่อเพราะเธอไม่ได้สังกัด"หนังสือพิมพ์, นิตยสาร, รายคาบ,หนังสือ, ใบประกาศ, สำนักข่าว, บริการข่าว, หรือเครือข่ายข่าวหรือสารคดี, สถานีวิทย, สถานีโทรทัศน์" ใด ๆ

ผู้พิพากษาตัดสินว่าที่เธอเรียกตัวเองว่าเป็น "สื่อมวลชน" นั้นฟังไม่ขึ้นตามการตีความตัวบทกฎหมายของศาล

และเสริมว่าแม้ว่าเธอจะได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายสำหรับสื่อฉบับดังกล่าว, ศาลก็จะไม่ถือว่าเข้าข่ายอยู่ดีเพราะนี่เป็นคดีว่าด้วยการหมิ่นประมาททางแแพ่ง

นี่คือตัวอย่างของความแตกต่างระหว่างกฎหมายเดิมกับอินเตอร์เน็ทที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา

ในอเมริกา, มีรัฐอยู่ประมาณ 40 รัฐที่มี "กฎหมายคุ้มครอง" สำหรับสื่อ แต่หลายรัฐก็ได้ปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้คำว่า "สื่อ" รวมหมายถึงสื่อรูปแบบใหม่เช่นบล็อกเป็นต้น แต่อีกหลายรัฐก็ยังไม่มีการแก้ไขกฎกติกาเพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิตัล

กฎหมายไทยยังต้องสังคยนากันอีกมากหากจะให้ทันกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกเทคโนโลยีการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซท์, บล็อก, และโดยเฉพาะ social media อย่างเฟสบุ๊ก, ทวิตเตอร์และยูทูป

ยังต้องถกเถียง, แลกเปลี่ยน, ปรับวิธีคิด, ให้ความรู้, และเรียนรู้กันทุก ๆ ฝ่ายในสังคมจึงจะปรับเปลี่ยนกฎ, กติกา, มารยาทให้เกิดประโยชน์สูงสุดแด่สังคมโดยส่วนรวม

No comments: