Sunday, January 29, 2012

เมื่อโรงพักใช้ Facebook นั่นก็คืออีกส่วนหนึ่งของ "อนาคตของข่าว"


ไม่ใช่แค่คนข่าวที่ต้องปรับตัวให้เข้ายุคดิจิตัล, ตำรวจไทยก็เริ่มเข้ามาใช้ social media ในการสร้าง "ชุมชนข่าว" ที่จะสอดประสานกับความต้องการของคนในเมืองหลวงที่ต้องการร่วมในการป้องกันและปราบปรามอาชญกรรมอย่างคึกคักแน่นอน

สน. หัวหมากเป็นหน่วยงานตำรวจแห่งแรก ๆ ที่เปิด Facebook เพื่อให้เป็นแหล่งรายงาน, แจ้ง, และรับคำร้องเรียนจากประชาชนเพื่อช่วยในการทำงานของเจ้าหน้าที่อย่างฉับพลันทันการ อีกทั้งยังเป็นแหล่งข่าวสารที่ชุมชนข่าวสามารถนำมาแลกเปลี่ยนกันได้อย่างทันท่วงทีและกว้างไกล

พื้นที่ขอบเขตกรดูแลรักษาความสงบของ สน. หัวหมากมีประมาณ 18 ตารางกิโลเมตร ประชาชนกรตามทะเบียนราษฎร์ 8 หมื่นคน แต่ประชากรแฝงอยู่ไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน มีสถิติคดีเกี่ยวกับทรัพย์และทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นบ่อยกว่าพื้นที่อื่น ๆ พอสมควร

พ.ต.อ. สรรค์หกิจ บำรุงสุขสวัสดิ์ผู้กำกับ สน. หัวหมากบอก "คม ชัด ลึก" ว่าได้เปิดโครงการ "โซเชียลเน็ตเวิร์กลาดอาชญากรรมอย่างจริงจังต่อเนื่อง" โดยได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย Abac จัดจ้างเจ้าหน้าที่สามคนมาสับเปลี่ยนดูแลระบบ social network ตลอด 24 ชั่วโมง

ตั้งแต่เปิดเฟซบุ๊คมา ประชาชนในพื้นที่หัวหมากหลายพันรายได้เข้ามาแจ้งข่าวสารและเบาะแสต่าง ๆ ตลอดเวลาสามเดือนตั้งแต่เปิดบริการมา มีส่วนทำให้ปัญหาอาชญกรรมของ สน. หัวหมากลดลงเพราะมีการแจ้งข่าวคราวของสังคมออนไลน์กันเช่นการซื้อขายยาเสพติดในพื้นที่มีสถิติการจับกุมเพิ่มขึ้นเท่าตัว

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการใช้ "เครือข่ายสังคมออนไลน์" สำหรับหน่วยราชการที่จำเป็นต้องใช้ crowdsourcing หรือ "แหล่งข่าวฝูงชน" เป็นหลักของการร่วมกันป้องกันและปราบปรามปัญหาของสังคมในทุก ๆ ด้าน

คนข่าวจะต้องรู้จักสร้างเครือข่ายและชุมชนข่าวที่โยงใยกับหน่วยทางการโดยเฉพาะที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไปของวิถีชีวิตประจำวันของประชาชนเช่นโรงพัก,ที่ว่าการอำเภอ, และหน่วยราชการทุกแห่ง

และนี่คือส่วนหนึ่งของ "อนาคตของข่าว" อย่างน่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง

Saturday, January 28, 2012

ข่าวด่วนข่าวร้อนทะลวงถึงบ้านอย่างนี้ไม่ดีแน่...


ใน "อนาคตของข่าว" แห่งโลกดิจิตัลนั้นความเสี่ยงที่ "เราส่งข่าวเจาะทะลุทะลวงถึงบ้านท่านทุกเช้า" อย่างนี้จะไม่มีให้เห็นเป็นอันขาด!

Tuesday, January 24, 2012

หัวหน้าโต๊ะข่าวก็ต้องปฏิวัติครั้งใหญ่ (3)


การปรับบทบาทครั้งใหญ่สำหรับห้องข่าวหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ "หัวหน้าโต๊ะ" หรือ "บรรณาธิการโต๊ะ" จะต้องเข้าใจบริบทใหม่ของ "อนาคตแห่งข่าว"

ที่สำคัญคือหัวหน้าโต๊ะจะต้องร่วมวางแผนกับ บก.บริหารและคนประจำกอง บก.ที่เป็น "ฝ่ายคัดกรอง" ให้เนื้อหา digital จ่ากภาคสนามได้นำเสนอผ่านทุกสื่อในยุค digital อย่างคล่องแคล่วรวดเร็วและสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคข่าว

บก. โต๊ะจะต้องเกาะติดข่าวสารและความเคลื่อนไหวรวมถึง "อารมณ์ข่าว"อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาผ่าน social media ทุกช่องทางเพื่อป้อนข่าวสารข้อมูลและ "มุมข่าว" ให้กับนักข่าวภาคสนามที่จะตามประเด็นได้ตรงตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนาทีต่อนาที

การเกาะติดข่าวสารจากทุกแหล่งนั้นย่อมรวมหมายถึงการเกาะติดทั้ง hashtags และ search ทุกช่องทางด้วยเช่นกัน

บทบาทที่สำคัญของ บก. โต๊ะในยุค digital อีกด้านหนึ่งคือการตั้งประเด็นให้คนในกอง บก.สร้างความกว้างและลึกของข่าวด้วยการใช้ crowdsourcing และ data mining อันหมายถึงการมองให้ทะลุว่าสามารถจะนำเสนอข่าวและข้อมูลให้น่าสนใจในทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นกราฟฟิก, แผนที่, ขอความเห็นจาก "ฝูงชน" และการเสาะแสวงหาแหล่งข่าวที่มีข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับข่าวนั้น ๆ อย่างกว้างขวางและทันการ

หน้าที่หลักอีกด้านหนึ่งของ บก. โต๊ะในห้องข่าวที่เข้าสู่กระบวนการปฏิวัติคือการช่วยฝึกฝนคนอื่นใน กอง บก.ให้ใช้เครื่องไม้เครื่องมือดิจิตัลในการทำงานด้านข่าว และหากตนเองยังไม่คล่องพอ ก็จะต้องเรียนรู้พร้อม ๆ กับคนอื่น ๆ ในกอง บก.เพื่อการตรวจสอบข่าว, การตัดต่อคลิบ, การเรียนรู้การ embed คลิบวีดีโอใน blog เป็นต้น

ความเร็วจะสำคัญกว่าความถูกต้องแม่นยำไม่ได้ ดังนั้น หน้าที่อีกประการหนึ่งของ บก. โต๊ะคือการตรวจสอบความถูกต้องของข่าวสารและข้อมูลที่ไหลเทเข้ามาในห้องข่าวตลอดเวลา ไม่ยอมให้ข้อกล่าวอ้างใดจากแหล่งข่าวใดถูกนำเสนอโดยไม่มีการสอบทานและตรวจสอบเพื่อความแม่นยำและเป็นธรรมตามหลักจริยธรรมแห่งการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชน ไม่ว่าจะเป็นยุคเก่า, ปัจจุบันหรืออนาคต

Friday, January 20, 2012

ปฏิวัติห้องข่าว...สำหรับคนข่าวภาพ (2)


คนข่าวภาคสนามที่เรียกตัวเองว่า "ช่างภาพ" หรือ "ช่างกล้อง" แต่ดั้งเดิม ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ และต้องถือว่าตนเป็นเป็น "คนข่าวภาพ" หรือ visual journalist ซึ่งย่อมหมายความว่าจะรายงานข่าวและภาพ, วีดีโอและทุกอย่างที่เสนอผ่านสายตาของผู้บริโภาคข่าวได้อย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพ

ในการปฏิบัติหน้าที่แบบ "Digital First" นั้น คนข่าวภาพจะวางตัวให้ทำกิจกรรมอย่างนี้

๑. ก่อนอื่นใช้มือถือรุ่นใหม่ถ่ายภาพเหตุการณ์หรือสิ่งที่พบเห็นทันทีและส่งทวีตหรือขึ้นบล็อกเป็น breaking news ทันที
๒. พร้อมกันนั้น เขาหรือเธอก็จะถ่ายวีดีโอ ไม่ว่าจะใช้กล้องวีดีโอใน smartphone หรือด้วยกล้องที่ใช้ในการรายงานข่าวทีวี
๓. คนข่าวภาพต้องคิดทันทีว่าจะถ่ายภาพหลาย ๆ มุมเพื่อสามารถจะทำเป็น slideshow ในภายหลัง และสามารถจะเลือกเอารูปที่โดด
เด่นที่สุดของเหตุการณ์นั้น ๆ สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ในวันต่อไป
๔. เขาต้องไม่ลืมที่จะอัดเสียงรอบด้าน หรือเสียงให้สัมภาษณ์ของแหล่งข่าวในเหตุการณ์นั้นด้วยอุปกรณ์อัดเสียงที่ทุกวันนี้มีมากมายและ ติดมากับกล้องในทุกรูปแบบ เพื่อจะได้ใช้ประกอบ slideshow ที่จะทำขึ้นเว็บไซท์หรือบล็อกของตัวเอง
๕. หากมีโอกาส เขาจะถ่ายรูปหน้าของคนเป็นข่าว (mugshots) เพื่อใช้ประกอบบทความหรือสารคดีหรือใช้ในอนาคตเมื่อแหล่งข่าวนั้น ๆ กลายเป็นข่าวอีกในวันข้างหน้า
๖. หากเป็นกรณีภัยพิบัติ เขาจะถ่ายรูปของตึกรามบ้านช่องหรือฉากเหตุการณ์เพื่อจะได้นำไปใช้งานอีกหลายด้านที่นำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ หากมีความจำเป็นต้องใช้ หรือไม่ก็เก็บไว้เป็นวัตถุดิบในวันข้างหน้า
๗. คนข่าวภาพต้องไม่ลืมสอบถามและจดชื่อเสียงเรียงนามและตำแหน่งแห่งหนให้ถูกต้องแม่นยำ เพราะข้อมูลเช่นนี้จะมีความสำคัญมากเมื่อต้องนำเสนอพร้อมกับผลงานภาพนิ่ง, วีดีโอ, กราฟฟิกที่จะมีขึ้นในสื่อต่าง ๆ
๘. คนข่าวภาพภาคสนามจะปรึกษากับหัวหน้าโต๊ะหรือบรรณาธิการที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดว่าจะตัดต่อวีดีโอหรือเลือกภาพนิ่งใดในการนำเสนอ ไม่ว่าจะเอาขึ้นเว็บไซท์, บล็อก, เฟซบุ๊ค, ยูทูปหรือเพื่อตีพิมพ์ในสื่อของตนในเวลาต่อมา

จะเห็นว่าในโลกสื่อยุคดิจิตัลวันนี้ คนข่าวที่คิดว่าตัวเองเป็นแค่ "ช่างภาพ" หรือ "ช่างกล้อง" และมีหน้าที่ถ่ายภาพหรือวีดีโออย่างเดียว ไม่เกี่ยวกับการรายงานข่าวหรือบรรยากาศสีสันบรรยากาศ ณ ที่เกิดเหตุจะกลายเป็นคนรุ่นเก่าและจะถูกคนข่าวรุ่นใหม่ที่ฝึกปรือมาเป็น digital journalists for all platforms แซงหน้าจนหาบทบาทของตัวเองไม่เจอ

Saturday, January 14, 2012

ปฏิวัติห้องข่าว...เริ่มที่นักข่าวภาคสนาม (1)


ผมถือว่าปีนี้จะเป็นปีแห่งการ "ปฎิวัติ" การทำงานของคนข่าวยุค "Digital First" หรือทั้งคิดทั้งปฏิบัติตนเป็น "คนข่าวดิจิตัล" อย่างแท้จริงหลังจากที่ตระเตรียมและเกาะติดวิถีชีวิตของคนข่าวมืออาชีพที่ปรับเปลี่ยนมาแล้วหลายปี

ห้องข่าวดิจิตัลคือศูนย์ปฏิบัติการที่คนทุกตำแหน่งทุกหน้าที่จะต้องปรับตัว,ปรับความคิด, ปรับทัศนคติต่อการทำงานข่าวอย่างเป็นรูปธรรม

ไม่ใช่เพียงบอกว่าเห็นด้วยกับการต้องปรับเปลี่ยน, แต่เดินกลับไปที่โต๊ะทำงานก็ยังใช้กระบวนการคิดและทำงานเหมือนเดิม

อย่างที่มีคำกล่าวในหลายวงการว่า "ยิ่งเปลี่ยน,ยิ่งเหมือนเดิม"

แต่สัจธรรมวันนี้สำหรับคนข่าวก็คือว่าหากเขาไม่เปลี่ยนให้สอดคล้องกับความเป็นไปของการรับรู้ข่าวสารในสังคม เขาก็จะไม่มีที่ยืนในสังคมที่ทุกอย่างขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง ไม่มีความปรานีสำหรับคนที่ปฏิเสธความเป็นจริงของวันนี้

เข้าสูตร Adapt or Die

หรือ Change...or be changed

นั่นแปลว่าหากคุณไม่เปลี่ยน, คุณก็จะถูกเปลี่ยนอยู่ดี

เริ่มจากกระบวนการทำงานของนักข่าวในภาคสนามซึ่งจะต้องใช้ความเป็นดิจิตัล และ social media รวมถึงความสามารถในการใช้ "ปัญญาแห่งฝูงชน" (wisdom of the crowd) ในการตรวจสอบ, แสวงหา, วิเคราะห์, ระดมความคิด, แจกแจงและแจกจ่ายข่าวสารและข้อมูลอย่างคล่องแคล่วทึ่จังหวะการทำงานตลอดทั้งวัน

ถ้าคุณเป็นนักข่าวสายทั่วไป, คุณใช้ทวิตเตอร์ในการรายงาน breaking news ณ นาทีที่เหตุการณ์เกิดขึ้น

หากคุณอยู่สายข่าวทำเนียบรัฐบาลหรือสภาฯ คุณต้อง live-tweet การประชุมที่มีความสำคัญ และเพื่อรวบรวมความเคลื่อนไหวของข่าวเดียวกันให้เห็นภาพรวม คุณก็จะส่งข้อความที่ทวีตหลาย ๆ ข้อความไปที่ blog ของคุณเพื่อให้เห็นภาพรวมและเบื้องหลังของข่าวที่สามารถตีความให้สอดคล้องกับความต้องการของคนอ่านได้

หากคุณใช้ Storify เป็น คุณก็สามารถรวบรวมข้อความทั้งของคุณและคนอื่น ๆ ที่ทวีตหรือที่เขียนลงเฟซบุ๊คและคลิบที่ส่งขึ้น YouTube ในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งเพื่อการเรียบเรียงและรวบรวมให้เห็นการไหลเทของเหตุการณ์หรือความเห็นในแต่ละเรื่องนั้น ๆ อย่างเป็นระเบียบและตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำได้อย่างต่อเนื่อง

ทุกวันนี้ คนข่าวที่คล่องแคล่วจรู้จักวิธีใช้ Twitter, Facebook, Google+ และ YouTube ให้ได้ประโยชน์สูงสุดในการทำข่าวและสร้างชุมชมข่าวของตน

ไม่ว่าคุณจะอยู่สายข่าวไหน การทำงานของคุณจะผสมผสานวิธีการทำงานแบบดั้งเดิมแต่ทรงประสิทธิภาพ นั่นคือการเช็คข่าวด้วยโทรศัพท์, ด้วยการนัดพบแหล่งข่าว และตรวจสอบข่าวดิจิตัลผ่านการเฝ้าติดตาม #hashtags หรือ feeds ในทวิตเตอร์และหน้าของเฟซบุ๊ค อีกทั้งใช้ Searches ของ social media อย่างเป็นระบบ

คุณต้องเรียนรู้ที่จะใช้ TweetDeck หรือ HootSuite หรือ Twitter Lists ในการเฝ้าระวังแหล่งข่าวสำคัญ ๆ รวมไปถึงการค้นหาและ hashtags ของคนอื่น ๆ ที่เกาะติดเรื่องราวที่อยู่ในสายข่าวของคุณอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

ในฐานะนักข่าวดิจิตัลในภาคสนาม คุณทวีตข่าวที่เกิดขึ้น และส่งข้อความเบื้องหลังข่าวไปถึงบรรณาธิการข่าวของคุณทันทีที่คุณตรวจสอบความแม่นยำอย่างรวดเร็วและฉับพลัน

อย่าให้ "ความเร็ว" มาทำลาย "ความแม่นยำ" หรือ "ความน่าเชื่อถือ" เป็นอันขาด

ดั่งคำขวัญที่ผมคิดว่าควรจะต้องเขียนตัวโต ๆ ติดไว้ข้างฝาของห้องข่าวทุกห้อง: Get it first. But first, get it right.

ในกระบวนการทำงานข่าวประจำวันนั้น นักข่าวดิจิตัลต้องรู้จักใช้ crowdsourcing อย่างชาญฉลาด..นั่นแปลว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับคนทั่วไปที่เข้ามาอยู่ใน social media เช่นหากเป็นข่าวใหญ่หรือที่มีความสำคัญต่อชุมชน คุณก็ควรจะเข้าไป live chat กับเพื่อนหรือผู้ตามคุณในเฟซบุ๊คหรือทวิตเตอร์เพื่อขอความเห็นเพิ่มเติม, ความเห็นแย้ง, หรือมุมมองที่คุณมองข้าม

บ่อยครั้ง, คนที่อยู่ในแวดวงเครือข่ายสังคมจะสนทนากันในหัวข้อที่กำลังเป็นข่าวร้อนอยู่แล้ว คนข่าวจึงควรจะเข้าไปร่วมสนทนา หรือสอดแทรกข้อมูลและเบื้องหลังข่าวที่ตนได้มาจากการเช็คข่าวเพื่อให้การแลกเปลี่ยนใน social media เข้าประเด็นของเนื้อหาที่คุณกำลังเกาะติดอยู่ หรือเรียนรู้มุมมองใหม่ที่คุณคาดไม่ถึง

เพราะ "ปัญญาแห่งฝูงชน" นั้นมีอยู่จริงและบ่อยครั้งจะทำให้ปัญญาของคนทำข่าวได้รับการเสริมส่งให้กว้างขวางและลุ่มลึกขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ

นักข่าวรุ่นใหม่จะต้องมีความคึกคักในการแสวงหาและใช้ "ฐานข้อมูล" หรือ databases เพื่อการนำเสนอลักษณะ interactive และให้การเสนอข้อมูลมีทั้งภาพ, กราฟฟิค, วีดีโออย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

นักข่าวดิจิตัลต้องรู้จักการใช้ #hashtag ไม่ว่าจะเป็นหัวข้อของเรื่องราวที่คุณติดตามอยู่ หรือชื่อของชุมชนที่คุณรับใช้ด้านข่าวสาร หรือสองอย่างผสมกันเพื่อความสะดวกในการติดตามข่าวและความเห็นในหัวข้อนั้น ๆ ทั้งจากคุณเองและผู้ที่ติดตามการทำงานของคุณในทุกรูปแบบ

เพราะเมื่อคุณใช้ #hashtag ใดในการทำข่าวหัวข้อใด, ชุมชนทั้งหมดที่เกาะติดเรื่องราวของคุณอยู่ก็สามารถจะใช้เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างกันเองหรือกับคุณอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

อย่าลืมว่านักข่าวดิจิตัลต้องเตือนตัวเองเสมอว่าจะต้องคิดวิธีนำเสนอข่าวในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอ, แผนที่, ภาพ, ข้อความ, เอกสารต้นทาง, ลิงก์ไปยังแหล่งข่าวและข้อมูลอื่น ๆ

การสร้าง "อัตตลักษณ์" ของตัวเองควบคู่ไปกับ "brand" ขององค์กรข่าวของตนคือเส้นทางแห่งการสร้างความเป็น "คนข่าวมืออาชีพยุคดิจิตัล" อย่างถาวรและแท้จริง

Monday, January 9, 2012

เมื่อ YouTube ขยับใหญ่อีกก้าว ทำเป็น YouTV, โอกาสทองสำหรับคนข่าวยุคใหม่ก็เปิดกว้าง


อีกไม่นานเกินรอ คนทำข่าวให้ฟรีทีวี, เคเบิลทีวี, ทีวีดาวเทียมจะต้องปรับตัวอีกรอบ...เพราะ YouTube กำลังเตรียมก้าวกระโดดใหญ่ที่จะทำให้ทุกคนหันมาดูทีวีผ่านยูทูบ

ซึ่งก็จะเป็นการปฏิรูปพฤติกรรมของคนดูทีวีขนานใหญ่อีกรอบหนึ่ง

และนั่นแปลว่าคนทำข่าวเองจะต้องปรับตัวระลอกใหม่เพื่อทำเนื้อหาสาระตอบสนองคนทั่วโลกที่จะหันมาดูทีวีบนคอมพิวเตอร์, มือถือและแท็บเบล็ทแทนที่จะดูจากจอผ่านดาวเทียมหรือสัญญาณการส่งภาพอย่างที่ใช้อยู่ปัจจุบัน

คนดูทีวีจะมีพฤติกรรมใหม่ที่จะดูรายการเฉพาะที่ตนสนใจเป็นพิเศษ ณ เวลาที่สะดวกกับตนเอง ดังนั้นคำว่า "ผังรายการ" ในความหมายปัจจุบันก็จะเปลี่ยนไปเกือบหมดสิ้นเมื่อความแรงและเร็วของอินเตอร์เน็ททำให้ผู้คนสามารถดูทีวีผ่าน YouTube ที่ผลิตรายการเป็นพัน ๆ หมื่น ๆ ช่องตามความสนใจของคนทั่วไป

คุณชอบดูกีฬาประเภทไหนก็มีรายการเฉพาะให้ดู คุณอยากไปเที่ยวที่ไหนก็ดูเฉพาะรายการที่แยกจุดท่องเที่ยวให้ คุณชอบขี่ม้า ก็จะมีช่องขี่ม้าให้ดูเป็นการเฉพาะ

แผนใหญ่ของ YouTube ที่จะทำเป็นช่อง YouTV ทางอินเตอร์เน็ทก็คือการเอาใจคนดูทีวีที่ขอดูเฉพาะช่องที่ตนสนใจ ณ ขณะใดขณะหนึ่งโดยไม่ต้องรอดูตามฟังรายการอย่างที่ดูฟรีทีวี, เคเบิล และดาวเทียมอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบัน

ข้อได้เปรียบอย่างมหาศาลของรายการทีวีทางอินเตอร์เน็ทคือการที่สามารถผลิตเนื้อหาให้กับตลาดเฉพาะเจาะจงที่เรียกว่า nich audience และคนดูสามารถเลือกที่จะดูรายการที่ตนสนใจเมื่อไหร่ก็ได้ ที่ไหนก็ได้

ซึ่งจะแตกต่างไปจากอดีตที่ผ่านมาเมื่อคนดูต้องติดตาม "ผังรายการ" ที่สถานีทีวีเป็นผู้กำหนด

YouTube บอกว่ากำลังจะระดมคนทำรายการไม่ว่าจะเป็น producers, publishers, programmers หรือ performers จากสื่อกระแสหลักปัจจุบันเพื่อจะสร้างช่องรายการในยูทูปเป็นร้อย ๆ ช่องซึ่งจะเริ่มปรากฏให้ชมกันได้ในหกเดือนข้างหน้า

ปรากฏการณ์เช่นนี้ย่อมหมายความว่า "สงครามแย่งหน้าจอ" กำลังจะระเบิดขึ้นอย่างดุเดือดระหว่างทีวีกระแสปัจจุบันกันทีวีทางอินเตอร์เน็ทความเร็วสูง

คนดูทีวีแต่เดิมที่นั่งรวมตัวกันหน้าจอฟรีทีวีตามเวลาที่ฟังรายการกำหนด เริ่มกระจายตัวไปดูช่องเคเบิลเมื่อไม่นานมานี้เอง วันนี้การขยายตัวอย่าวรวดเร็วของทีวีดาวเทียมก็สร้างทางเลือกใหม่ให้กับคนดูอีกทางหนึ่งอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือโฆษณาที่เคยทุ่มปีละหลายหมื่นล้านมาที่ฟรีทีวี ก็เริ่มจะหลุดมาที่เคเบิลทีวี ยิ่งเมื่อทีวีดาวเทียมสามารถตอบสนองความต้องการของคนดูได้อีกทางหนึ่งอย่างคล่องแคล่วทั่วประเทศ งบโฆษณาสินค้าก็ไหลเทมาด้านนี้อย่างรวดเร็วและเป็นกอบเป็นกำ

ในวันข้างหน้าอีกไม่นานสิ่งที่ YouTube จะริเริ่มขึ้นก็จะเป็น Web-based channels ซึ่งก็ยิ่งจะแย่งคนดูออกไป ยิ่งหากเครื่องทีวีเริ่มมีอุปกรณ์รับ Wi-Fi ได้ ช่องรายการเฉพาะกิจต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะถูกนำเข้าสู่ห้องนอนของทุกคนได้อย่างสะดวกดายยิ่ง

สำหรับคนข่าวยุคดิจิตตัล, การที่คนดูมีทางเลือกมากขึ้นและเฉพาะเจาะจงมากขึ้นด้วยอุปกรณ์ที่ถูกลงและตอบสนองวิถีชีวิตยุคใหม่ได้มากขึ้นก็ย่อมแปลว่าโอกาสแห่งการผลิตเนื้อหาสาระในทุกรูปแบบก็จะมีมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ

อยู่ที่ว่าคุณพร้อมที่จะกระโจนเข้าสู่อนาคตอย่างกระตือรือร้นและวิ่งเข้ารับความท้าทายอย่างเชื่อมั่นและสร้างสรรค์เพียงใดเท่านั้น

Saturday, January 7, 2012

ปัจจัยอะไรกำหนดว่าคุณมี "อนาคต" กับข่าวหรือไม่


ผมเห็นแนวทางวิเคราะห์ "อนาคตของข่าว" ของ Ross Dawson จาก News Limited ของออสเตรเลียแล้วน่าสนใจสำหรับการวิเคราะห์ต่อเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาว่าอนาคตของคนทำสื่อยุคดิจิตัลควรจะมองอย่างไร

เพราะโลกทำข่าวยุคใหม่มีทั้งการผลิตตัวหนังสือ, ภาพ, วีดีโอ, ข้อมูล, กราฟิคและการนำเสนอรูปแบบอื่น ๆ ที่จะได้รับการพัฒนาต่อไปในวันข้างหน้า, จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจว่า "ช่องทาง" ของการนำเสนอต่อสาธารณชนนั้นจะขยับขยายออกไปอย่างไรขัดจำกัดอย่างไร

ข้อแรกย่อมหมายถึง Interfaces ที่จะเป็นประตูทางผ่านสำหรับการนำเสนอให้น่าสนใจ, เรียบง่าย, และสื่อสารอย่างราบรื่น
ต่อมาคือความทันท่วงทีหรือ timeliness ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องรวดเร็วทันใจและฉับพลัน วินาทีต่อวินาที
แต่เท่านั้นไม่พอ ความเร็วจะต้องมากับความสดใหม่หรือ novelty ซึ่งแปลว่านอกจากเร็วแล้วยังจะต้องลึกและเจาะหาความหมายของข่าวที่ต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลและรวมรวบมุมมองจากประชาชนในแวดวงเครือข่ายสังคมด้วย

Insight หมายถึงการเสนอเบื้องหลังที่มีนอกเหนือไปจากการตอบคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น, ที่ไหน, เมื่อไหร่และเกิดกับใคร หากแต่จะต้องสามารถบอกให้รู้เบื้องลึกของเหตุการณ์นั้น ๆ ด้วย

Design คือรูปแบบการนำเสนอที่มีชีวิตชีวาและสวยงามน่าดูน่าชม

ที่สำคัญกว่านั้นคือ Reputation หรือชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของคนข่าวและสื่อที่ใช้นำเสนอ

แต่การจะสร้างความน่าไว้วางใจได้นั้นคนข่าวต้องไม่เพียงแค่รายงานข่าวเท่านั้น หากแต่ยังต้อง Filter ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันหมายถึงการกรั่นกรอง แยกแยะ และรวบรวม ตัดต่อให้เนื้อหาน่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคข่าวสารอย่างมีนัยสำคัญด้วย

อีกประเด็นที่มองข้ามไม่ได้คือ Relevance สำหรับผู้เสพข่าว เพราะเขาจะต้องถามเสมอว่า "มันเกี่ยวอะไรกับฉัน?" และคนข่าวจะต้องตอบคำถามนี้ในทุกจังหวะของการทำหน้าที่อันสำคัญยิ่งอีกด้วย

จากนั้นชุมชนของข่าวสารข้อมูลคือหัวใจของการขยายผลแห่งการกระจายเนื้อหา หรือ Communities of News Consumers ซึ่งจะเป็นปัจจัยตัดสินว่าการทำหน้าที่ของคนข่าวยุคใหม่จะได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนในสังคมมากน้อยเพียงใด

ลงท้าย ความสำเร็จหรือล้มเหลวของคนข่าวยุคใหม่ย่อมอยู่ที่ว่าจะสามารถใช้ความเร็ว, ความใหม่, ความลึก, ความน่าเชื่อถือที่จะสร้าง "ชุมนุมแห่งข่าวสาร" ของตนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนได้มากน้อยเพียงใด

เพราะนั่นคือตัวตัดสินว่าจะเจ๊งหรือเจ๊าของคนข่าวจริง ๆ

กระป๋องหนังสือพิมพ์กับความเป็นคนข่าว


ไม่ว่าการทำข่าวจะเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างไรตามก้าวย่างแห่งเทคโนโลยี แต่ความน่าเชื่อถือของ "ยี่ห้อ" หรือ "brand" ของสื่อที่สั่งสมมาพร้อมกับการทำหน้าที่สื่อมืออาชีพอย่างซื่อสัตย์ก็ยังเป็น "เสาหลัก" แห่งการสื่อสารกับสาธารณชนไม่เสื่อมคลาย

เพราะสังคมคาดหวังว่าสื่อที่มี "สังกัด" ที่ยึดมั่นในหลักการแห่งจริยธรรมของการทำหน้าที่นั้นจะต้องมีมาตรฐานในระดับที่พึ่งพาอาศัยได้ว่าจะต้องเห็นประโยชน์แห่งสาธารณะมากกว่าการแสวงหาผลประโยชน์เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

และสื่อที่จะสามารถคงไว้ซึ่งความน่าไว้วางใจเช่นนี้จะต้องมีประวัติการทำงานที่ยืนยาว หนักแน่น และพิสูจน์ด้วยการผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน

ผมมองดูกล่องหนังสือพิมพ์หน้าบ้านคราวใด ก็ยังมีความเลื่อมใสศรัทธาในการทำงานของคนสื่อที่ตั้งหน้าตั้งตาจะผลิตข่าวสารและความเห็นออกมาวันแล้ววันเล่าอย่างพากเพียรและซื่อตรงต่ออุดมการณ์ ไม่ว่าจะมีแรงกดดันทางการเมืองหรือเศรษฐกิจเพียงใด, ไม่ว่าคนทำสื่อนั้น ๆ จะถูกข่มขู่คุกคามให้ต้องเลือกข้างตามอำนาจทางการเมืองในแต่ละยุค แต่พวกเขาก็ไม่หวั่นไหว ไม่หลงระเริง และไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อสิ่งเย้ายวนใจที่ผ่านมาเป็นระยะ ๆ ตามแนวโน้มของสังคมการเมืองและเศรษฐกิจ

การ "รักษาเนื้อตัวษาตัว" ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการคุกคามด้านหนึ่ง หรือเป็นเหยื่อแห่งความละโมบอีกด้านหนึ่งนั้นมิใช่เรื่องง่าย และจำเป็นต้องมีความอดทนอดกลั้นและขันติอย่างสูงยิ่ง

ดังนั้น หากคุณยังสัมผัสได้ถึงวิญญาณอิสระและความพยายามทำหน้าที่ของตนอย่างตรงไปตรงมาท่ามกลางแรงกดดันของสังคมที่มีความขัดแย้งอย่างสูงยิ่ง, ก็ย่อมแปลว่าคุณยังสามารถไว้ใจได้ว่าอย่างน้อยก็ยังมีคนทำสื่อที่ยังทำตามปณิธานที่จะเป็น "หมอเฝ้าบ้าน" และ "ยามเฝ้าประตู" ที่ซื่อสัตย์, ไม่หักหลัง, ไม่หลงไหลได้ปลื้มกับอามิส, และไม่ยอมก้มหัวให้กับอิทธิพลที่มาจากความไม่ชอบธรรมทั้งหลายทั้งปวง

กระป๋องใส่หนังสือพิมพ์หน้าบ้านผมจึงเป็นเครื่องเตือนใจให้ผมต้องเป็นคนข่าวที่สังคมพึงคาดหวังตลอดเวลา ไม่ว่าฝนจะตก, ฟ้าจะร้อง, หนังสือพิมพ์ของคุณจะมาวางอยู่ตรงเวลาเพื่อรับใช้ความต้องการอาหารสมองที่สร้งสรรค์และเป็นประโยชน์ทุกเมื่อเชื่อวันโดยไม่สร้างความผิดหวังเป็นอันขาด

Tuesday, January 3, 2012

เมื่อเจ้าพ่อสื่ออย่าง Rupert Murdoch กระโดดลงมาเล่น Twitter เอง


และแล้วเจ้าพ่อสื่ออย่าง Rupert Murdoch เจ้าของ News Corp ก็ทนความเย้ายวนของโลก social media ไม่ได้ เริ่มเข้าไปเล่นทวิตเตอร์เมื่อเริ่มต้นปีใหม่ 2012 อย่างคึกคัก และมีผู้เข้าไปติดตามเกือบจะทันทีหลายหมื่นคน ขณะที่ผมเขียนอยู่นี้เขามี follwers กว่า 66,000 คนแล้ว

เมอร์ดอกเคยเป็นเจ้าของสื่อเก่าอย่างหนังสือพิมพ์ และเคยประกาศยืนหยัดอยู่กับกระดาษมาหลายปี จนวันดีคืนดีก็ยอมรับว่า "พรุ่งนี้ของข่าว" นั้นจะต้องเข้าสู่โลกดิจิตัล ยิ่งเมื่อเข้าไปเป็นเจ้าของ Dow Jones ที่มี Wall Street Journal เป็นธงแล้ว ก็ยิ่งสำเหนียกในความสำคัญของการสร้างเสื้อหาเพื่อให้ครบวงจรของสื่อ

Wall Street Journal แม้ก่อนเมอร์ดอกเข้าไปเป็นผู้กำหนดนโยบายก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ด้านนี้ด้วยการมีรายได้จากผู้อ่านทางดิจิตัลไม่แพ้ที่อ่านหนังสือพิมพ์แล้ว

เมอร์ดอกกระโดดเข้าสู่การทำสื่อแบบดิจิตัลอย่างรวดเร็วเมื่อเห็นชัดว่ารายได้จากสื่อสิ่งพิมพ์ที่เขาเป็นเจ้าของมากมายทั่วโลกนั้นเริ่มจะหดตัวลง และเขาก็ประกาศจะแจ้งว่าอนาคตของสื่ออยู่ที่ดิจิตัล

ปีนี้อายุ 80 แล้ว, เมอร์ดอกเจอวิกฤตรอบใหม่เมื่อเร็ว ๆ นี้เมื่อรัฐสภาอังกฤษตั้งคณะกรรมการพิเศษสอบสวนข้อกล่าวหาว่าหนังสือพิมพ์ News of the World ของเขาแอบดักฟังแหล่งข่าวอย่างผิดกฎหมาย จนเขาและลูกชาย James Murdoch ซึ่งเป็นคนดูแลหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นต้องสั่งปิดหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นลงท่ามกลางเสียงประณามอย่างรุนแรงจากสังคมทั่วโลก

การปรากฏตัวของเจ้าพ่อสื่อเก่าใน Twitter เป็นครั้งแรกตอกย้ำว่าคนที่อยู่กับความเป็นไปทางธุรกิจของสื่ออย่างใกล้ชิดวันต่อวันอย่างเมอร์ดอกได้ประจักษ์สัจธรรมแล้วว่าเขามิอาจจะมองข้ามความสำคัญของ social media ในการวางแผนวางอนาคตสำหรับสื่อได้อีกต่อไป

และเพียงแค่ "ตระหนัก" ในความสำคัญของเครือข่ายสังคมอย่าง Facebook, Twitter และ YouTube ยังไม่พอ เขาจะต้องลงไป "คลุกวงใน" ด้วยอย่างใกล้ชิดเพื่อจะได้สัมผัสถึงอารมณ์และพลังขับเคลื่อนทุกจังหวะ

แม้เมอร์ดอกจะผิดพลาดในการตัดสินใจซื้อ MySpace ซึ่งมาก่อน Facebook เพราะไม่อาจจะแข่งขันกับการพัฒนารูปแบบและบริการให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมแห่งสังคมได้ แต่เขาก็รู้ว่าเขาไม่อาจจะนิ่งดูดายให้คู่แข่งวิ่งล้ำหน้าไปในลู่ของดิจิตัลได้

เมื่อ iPad ออกวางตลาด, เมอร์ดอกก็กระโดดเข้าไปเล่นด้วยอย่างรวดเร็ว ด้วยการเปิดตัว The Daily ในแทบเบล็ทแห่งนี้เป็นเจ้าแรก ๆ ด้วยคำแนะนำของ Steve Jobs

แม้ apps The Daily จะไม่เปรี้ยงปร้างอย่างที่เมอร์ดอกคาดหวัง แต่เขาก็ถือว่านั่นเป็นการลงทุนเพื่อเรียนรู้การก่อเกิดของพลังแห่งโลกดิจิตัลในรูปแบบใหม่ที่ไม่อาจจะมองข้ามได้เป็นอันขาด

เมอร์ดอกเข้ามาเล่นทวิตเตอร์วันแรก ๆ ก็ยังเขินอายพอสมควร หนึ่งในข้อความที่เขาเขียนบอกว่า "I'm getting killed for fooling around here and friends frightened what I may really say."

คล้าย ๆ กับจะบอกว่ายังไม่แน่ใจว่าเขาจะเล่นบทอะไรในโลก social media ("ผมมาป้วนเปี้ยนแถวนี้จะถูกฆ่าหรือเปล่า...เพื่อน ๆ ก็ตกอกตกใจกันว่าผมจะหลุดอะไรออกมาบ้าง..."

รองนายกฯอังกฤษ John Prescott ก็ทวีตมาทักทายทันที "ขอต้อนรับเข้าสู่ทวิตเตอร์ ผมทิ้งข้อความสวัสดีปีใหม่ใน voicemailของผมแล้ว..."

อ่านปุ๊ปก็รู้ว่าท่านรองฯแซวเจ้าพ่อสื่อเรื่องที่หนังสือพิมพ์ของเขาถูกสอบสวนเรื่องแอบเจาะฟังโทรศัพท์ของแหล่งข่าวจนเป็นเรื่องอื้อฉาวเกรียวกราวถึงวันนี้

แต่เมอร์ดอกก็ไม่หวั่นไหวในโลกทวิตเตอร์ อีกข้อความหนึ่งที่เขาส่งออกไปคือการวิพากษ์ว่าธนาคารของอังกฤษมีวันหยุดมากไปหรือเปล่าทั้งที่ประเทศกำลังทำท่าจะเจ๊ง

"Maybe Brits have too many holidays for (a) broke country!"

แม้เขาจะลบข้อความนั้นออกหลังจากคิดใหม่แล้ว แต่ก็ช้าไปสำหรับคนเล่นทวิตเตอร์หลายร้อยคนที่ส่งความเห็นมาสมทบกันอย่างคึกคัก บางคนตั้งข้อสังเกตว่าตัวเมอร์ดอกเองก็ทวีตจากเกาะ Saint Barthelemy แถวหมู่เกาะคารีเบียนมิใช่หรือ?

และนักทวีตบางคนก็เริ่มให้ใช้ #murdochdeletedtweets กันอย่างสนุกสนาน

อีกบางทวีตของเขาวิจารณ์หนังสือ Steve Jobs by Walter Isaacson ว่า "Interesting but unfair" (น่าสนใจแต่ไม่แฟร์เท่าไหร่)

น่าติดตามต่อไปว่าเมอร์ดอกจะอยู่ในโลก social media ได้นานเท่าไหร่ เพราะที่ปรึกษาของเขาเริ่มเป็นห่วงว่าเขาจะสามารถรักษากติกามารยาทของการเป็นนักทวีตที่ดีคือรับฟัง, ปฏิสัมพันธ์และถ่อมเนื้อถ่อมตนพอสมควรในโลกแห่งเครือข่ายสังคมได้มากน้อยเพียงใด

แต่อย่างน้อยเมอร์ดอกก็ยอมรับแล้วว่าเขามิอาจนั่งชี้นิ้วสั่งการจากโต๊ะทำงานได้อีกต่อไป จะต้องลงมือเกลือกกลั้วหรือ engage กับผู้อ่านผู้ชมผู้ฟังและ "ปัญญาแห่งฝูงชน" หรือ wisdom of the crowd อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป

Sunday, January 1, 2012

สำหรับคนข่าวอาชีพ...สมาร์ทโฟนต้องทำได้มากกว่าแค่รายงานข่าวด่วน


คนข่าววันนี้ใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อการถ่ายรูป,วีดีโอเพื่อส่งข่าวปัจจุบันทันด่วน...แต่จะต้องสำนึกว่าหากใช้ smartphones เพียงเพื่อถ่ายรูปและ upload ขึ้นเว็ปไซท์หรือเข้า social media เท่านั้น, เดี๋ยวนี้ "ใคร ๆ" ที่เรียกต้วเองว่า "นักข่าวพลเมือง" ก็ทำได้แล้วอย่างกว้างขวาง

ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของ "คนข่าวอาชีพ" ที่จะต้อง "เพิ่มค่า" ของงานของตนด้วยการสืบเสาะค้นหาและตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมของข่าวสารที่มีมากกว่าเพียงแต่ "breaking news" ซึ่งย่อมหมายถึงการทำให้ "ภาพ, เสียง, วีดีโอ" นั้น ๆ มีมาตรฐานของมืออาชีพมากว่าเพียงแค่ส่งข่าวและภาพหยาบ ๆ ไปให้ผู้บริโภคข่าวแล้วสรุปว่าได้ทำหน้าที่ของตนแล้ว

การเพิ่มค่าของงานของคนข่าวอาชีพในวันพรุ่งนี้ที่ต้องเริ่มวันนี้คือการรายงานผ่าน social media ที่กำลังปรับตัวเพื่อให้คนข่าวอาชีพใช้ในการสื่อกับสาธารณชนได้อย่างกว้างขวาง, ครอบคลุม, และต่อเนื่องมากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็น Subscribe ของ Facebook, Profileและ Hangout ของ Google+ กับการปรับเปลี่ยนโฉมใหม่ของ Twitter ที่จงใจเอื้อต่อการทำหน้าที่ของคนข่าวอาชีพอย่างคึกคักยิ่ง

ทั้ง Facebook, Twitter และ Google+ ต่างล้วนปรับปรุงให้เพื่อรองรับคนทำสื่อและผู้ผลิตเนื้อหาสาระสามารถสร้างฐานผู้บริโภคข่าวและข้อมูลอย่างไร้ขีดจำกัด...ซึ่งจะเห็นได้ในโปรแกรมเสริมที่ลงท้ายด้วย ...for journalists เพื่อให้คนข่าวอาชีพทำหน้าที่ของตัวเองผ่านเครือข่ายสังคมโดยตรง มิต้องผ่าน "บรรณาธิการ" คนใดอีกเพราะคนทำสื่อที่ใช้ social media สามารถสวมบท "curator" แทน "editor" แล้วอย่างไม่พักต้องสงสัย

คำว่า "curator" ต่างจาก "editor" ตรงที่ว่าบทบาทอย่างแรกในฐานะ curator คือการเข้าไปค้นหาข้อมูลจากทุกแหล่งในอินเตอร์เน็ทและเลือกสรรคัดคัดกรองให้กับผู้ติดตามถามหาในแวดวงของเขา ขณะที่ editor มีบทบาทจำกัดเพียงแค่การเรียบเรียงตัดต่อจากเนื้อหาที่คนข่าวอาชีพส่งมาให้เท่านั้น

คนข่าววันพรุ่งนี้แม้จะไม่ใช่ editor แต่ก็ก้าวกระโดดไปทำหน้าที่ curator ได้ทันที...ด้วยการเปิดช่องทางที่จะให้ผู้บริโภคข่าวสารมีปฏิสัมพันธ์กับคนข่าวอย่างต่อเนื่อง, คึกคักและเสริมบทบาทของกันและกันอย่างไร้ข้อจำกัด

การใช้ smartphones เพื่อทำหน้าที่แค่ "คนข่าว" ในสถานการณ์ "อนาคตของข่าว" จึงต้องมีการ "เสริมคุณค่า" อย่างประจักษ์แจ้งจากนี้ไป