Sunday, January 27, 2013

จาก backpack journalism สู่ back-pocket journalism

ในห้องข่าวของเรา, นักข่าวหลายคนใช้ smartphone อัดภาพ, วีดีโอและตัดต่อ ณ ที่เกิดเหตุ ส่งเข้ามาใน "ถังกลาง" ของโต๊ะข่าว Convergent Newsroom แล้วอย่างคึกคัก ผมเห็นข่าวที่เมืองนอก เร่ิ่มสอนนักศึกษานิเทศศาสตร์ให้ฝึกฝนทำ "back-pocket journalism" มาทดแทน "backpack journalism" แล้วก็ยังชื่นชมว่านักข่าวของเราเริ่มกระโดดเข้าสู่การใช้มือถือตัวเดียวทำข่าวได้อย่างคล่องแคล่วไม่น้อยเลย ที่น่าสนใจคือนักข่าวต่างจังหวัดจะปรับตัวใช้เทคโนโลยีในการทำข่าวได้ก่อนนักข่าวในกรุงเทพเสียอีก เพราะความจำเป็นในการผลิตผลงานและความไม่ลังเลในการทดลองสิ่งใหม่ ๆ ของคนข่าวไกลปืนเที่ยงที่น่ายกย่องกว่า เพราะปรับตัวได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าในหลาย ๆ กรณี ข่าวเมืองนอกที่ผมเห็นวันก่อนคือการสอนให้นักศึกษาใช้โทรศัพท์มือถือตัวเดียวเขียนข่าว, ถ่ายรูป, ถ่ายวีดีโอ, อัดเสียงและส่งเนื้อหาข่าวสารนั้นขึ้นเว็บไซท์หรือบล็อกของตัวเอง หรือส่งผ่านเข้าทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กได้เลยทันที พร้อม ๆ กับการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคข่าวสารที่ทุกวันนี้เป็นส่วนสำคัญของการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลและความเห็นกับคนทำข่าวอย่างทันท่วงทีและกว้างขวางแล้ว ผมเชื่อว่าความต้องการข่าวสารข้อมูลผ่านมือถือจะขยายตัวอย่างกว้างขวางและรวดเร็วในประเทศไทยโดยเฉพาะเมื่อระบบ 3G เปิดบริการอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่เดือนเมษายนปีนี้เป็นต้นไป คนข่าวคนไหนที่ยังไม่ฝึกปรือตัวเองให้สารมารถทำ back-pocket journalism ได้ในเร็ววันก็จะตกอยู่ในสภาพที่ถูกคนรุ่นใหม่ข้ามหน้าไปอย่างน่ารันทดยิ่งนัก เพราะสัจธรรมวันนี้ก็คือว่า "หากเราไม่เปลี่ยน, เราก็จะถูกเปลี่ยน" เท่าน้้นเอง
สถิติล่าสุด...Social Media ทุกค่ายล้วนเป็นเครื่องมือสำคัญของ "คนข่าวพรุ่ง นี้" เพราะเป็นช่องทางสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคข่าวสารที่สามารถกำหนด "บทสนทนา" ในแวดวงสังคมได้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

Sunday, January 20, 2013

คำว่า "ดูทีวี" จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

คนข่าวที่มองไปอนาคตต้องเตรียมเห็นความเปลี่ยนแปลงการนำเสนอเนื้อหาผ่านจอทีวี...โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยกำลังจะมี 3G เต็มรูปแบบในเร็ววัน เพราะการนำเสนอเรื่องราวถึงผู้เสพสื่อนั้นจะมีถึง 4 จอ...จอทีวี, จอคอมพิวเตอร์, จอแท็ปเบล็กและจอมือถือ พยากรณ์ได้ไม่ยากว่าจอเล็ก ๆ ของสมาร์ทโฟนจะมีความคล่องตัวและสะดวกสบายมากกว่าจออื่น ๆ ที่ผู้คนใช้ดูข่าว, สารคดี, ข่าวฉับพลันและบทวิเคราะห์ทั้งหลายทั้งปวง Netflix ของสหรัฐฯมั่นใจในความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมคนเสพข่าวสารและเนื้อหาทางจอถึงขั้นประกาศว่าจะเปลี่ยนสิ่งที่เรียกว่า "TV" ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือตลอดไปกันเลยทีเดียว ผู้บริหาร Netflix บอกว่าในอนาคตอันใกล้นี้เรื่องการวัดเรตติ้งส์, ผังรายการ, และการรีรันรายการทีวีจะกลายเป็นเรื่องอดีตที่เชยแสนเชยไปเลย ที่เขากล้าประกาศอย่างอหังการเช่นนี้เพราะ Netflix สามารถน้าวโน้มให้ Disney, Marvel และ Pixar ซึ่งล้วนเป็นบริษัทสร้างหนังยักษ์ ๆ ของฮอลลีวู๊ดยอมเอาหนังใหม่ ๆ มาลงที่เขาแทนที่จะไปให้กับเครือข่ายฟรีทีวีเช่น NBC, CBS หรือ NBC อย่างที่เคยทำมาแล้วหลายสิบปี หัวหน้าฝ่ายเนื้อหาของ Netflix ชื่อ Ted Sorandos อธิบายว่าเขาไม่ได้เพียงแต่ต้องการจะแย่งชิงหนังใหญ่จาก HBO หรือ Starz เท่านั้นแต่เขามีความมุ่งมั่นที่จะ "เปลี่ยนสิ่งที่เรียกว่า TV อย่างหน้ามือเป็นหลังมือกันทีเดียว" เขาบอกว่าห้าปีจากนี้ไป ทีวีจะไม่เหมือนที่เรารู้จักวันนี้เลยแม้แต่น้อย ที่ว่า ratings จะไม่มีความหมายเลยนั้น เพราะเขาเตรียมจะเอาหนังดี ๆ ฉายผ่าน Netflix ให้กับสมาชิกจ่ายสตางค์โดยจะไม่บอกตัวเลขว่ามีคนดูกี่คน "เพราะเราไม่จำเป็นต้องมีตัวเลขสวย ๆ มาก ๆ เพื่อดูดโฆษณามาอยู่กับเรา" แปลว่าไม่ว่าจะเป็นหนังดีที่ผู้คนแห่แหนมาสมัครเป็นสมาชิกท่วมท้นเพียงใด, เขาก็ไม่จำเป็นต้องออกข่าวเพื่อสร้างภาพที่ดีแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน เขาก็จะไม่กำหนดผังรายการตายตัวที่คนดูจะต้องเปิดมาดู ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง เหตุเพราะวิถีชีวิตของคนปัจจุบันไม่เอื้อที่จะให้คนมานั่งหน้าจอทีวีตามกำหนดของผังรายการ Netflix ใช้สูตร on-demand สำหรับสมาชิกซึ่งแปลว่าใครที่เป็นสมาชิกจะเปิดดูรายการไหนเมื่อไหร่ก็ได้ หาก Netflix ประสบความสำเร็จกับกลยุทธเช่นนี้ ผลที่ตามมาก็คือว่าฟรีทีวีทุกช่องจะต้องคิดหนักว่าจะปรับแนวทางของตัวเองอย่างไรจึงจะแย่งคนดูกับทีวี "ตามสะดวกผู้ดู" ได้ อีกด้านหนึ่งของยุทธศาสตร์ของ Netflix คือการ "ปล่อยของ" ทั้งหมดทีเดียว ซึ่งหมายความว่าแทนที่จะฉายหนังหรือละครเป็นตอน ๆ เหมือนฟรีทีวีทุกวันนี้ เขาจะให้คนดูสามารถดูเรื่องเดียวได้ตลอด ไม่มีการ "กั๊ก" เรื่องเอาไว้ให้ลุ้นตอนต่อไป ผู้บริหารทีวีรุ่นเก่าอ้างว่าการทำอย่างนั้นจะทำให้ลดความตื่นเต้นของการเล่าปากต่อปากและโอกาสทำการตลาด แต่ Netflix แย้งว่าทุกวันนี้คนดูก็สามารถดูรายการทั้งหมดทีเดียวผ่าน DVRs อยู่แล้ว "คนดูจะมีความพึงพใจสูงกว่าถ้าได้อะไรทั้งหมดตามจังหวะเวลาที่ตนต้องการ" หนึ่งในผู้บริหารรุ่นใหม่บอก Netflix เป็นบริษัทเสนอเนื้อหาทีวีให้คนดูรู้สึกเป็นตัวของตัวเองและกำหนดเวลากับสาระที่ตนชอบได้โดยไม่ต้องอาศัยฟรีทีวี ที่ผ่านมา บริษัทนี้เน้นไปในการหาสมาชิกครัวเรือ แต่ก้าวต่อไปคือการสร้างความแตกต่างเพิ่มขึ้นอีก และหนึ่งในแผนงานข้างหน้าคือการเกิดช่อง Just for Kids สำหรับเด็ก ที่แยกเนื้อหาออกจากสาระหลักอื่น ๆ เพื่อสร้างความเป็นตัวตนที่โดดเด่นยิ่งขึ้น จากนี้ Netflix ก็จะพัฒนาให้เกิดเอกลักษณ์พิเศษของตัวเองต่อไป นั่นคือการให้มีเสียงและภาพที่คนดูสามารถถ่ายทอดและรับรู้เองที่เรียกว่า Voice Recognition และ Visual Recognition ไม่แน่ เทคโนโลยีสมัยใหม่อาจะมีความเก่งกาจถึงขั้นที่พอใครเดินเข้ามาในห้อง รายกายดี ๆ ที่คนนั้นชอบก็โผล่ขึ้นจอทันที!

Saturday, January 12, 2013

การเรียนรู้ของปวงชนผ่านออนไลน์

การเรียนการสอนโดยเฉพาะวิชาว่าด้วยวารสารศาสตร์กำลังจะกลายเป็นเรื่องของ "ปวงชน" เมื่อสามารถเปิดสอน online ได้อย่างกว้างขวาง ห้องเรียนก็ไม่จำเป็นต้องอยู่กับที่ ไม่ต้องมีกระดานดำ โต๊ะ เก้าอี้อีกต่อไป เพราะโลกออนไลน์สามารถทำให้ทุกคนเรียนรู้ได้พร้อม ๆ กันเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้าน เช่นกรณีที่ Harvard กับ MIT เพิ่งประกาศเปิดสอนทางอินเตอร์เน็ทให้กับนักศึกษาโดยไม่มีขีดจำกัดใด ๆ อีกต่อไป เมื่อเร็ว ๆ นี้ Knight Center for Journalism in the Americas ของมหาวิทยาลัยเท็กซัสเปิดสอนวิชา "Introduction to Infographics and Data Visualization" ออนไลน์เป็นครั้งแรก มีนักศึกษาลงทะเบียนถึง 2,000 คน และเมื่อเปิดคอร์สที่สอง, ก็สามารถดึงดูดนักเรียนได้ถึง 5,000 คน แนวโน้มการเรียนการสอนผ่านเว็บจึงกำลังเฟื่องฟูอย่างยิ่ง ผมมองเห็นโอกาสทำนองเดียวกันสำหรับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของประเทศไทยที่ควรจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ผ่านเครื่องมือออนไลน์ที่กำลังกลาเป็นเครื่องมือธรรมดาที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย แต่กฎกติกาและวิธีคิดแบบเก่ายังฝังแน่นอยู่กับแวดวงการศึกษาของไทยทำให้การเปิดกว้างการเรียนการสอนให้ไปถึงคนหมู่มากในทุก ๆ แหล่งและคนทุกหมู่เหล่ายังไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ หวังว่าความพยายามส่วนเล็ก ๆ ของเราจะเป็นประกายไฟน้อย ๆ ที่จะกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวอย่างจริงจังในอนาคตอันใกล้นี้

Tuesday, January 1, 2013

แผนที่บอกคนมีปืนชื่ออะไร, บ้านเลขที่เท่าไหร่

คนข่าวยุคดิจิตัลต้องคิดใช้เครื่องมือทันสมัยเพื่อประกอบการรายงานข่าว "เจาะลึก" อย่างกรณีนี้ที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่อเมริกาตีพิมพ์แผนที่ interactive ระบุชื่อและที่อยู่ของคนมะกันที่ได้รับใบอนุญาตมีปืนพกของตัวเองได้
แผนที่ประกอบข่าวที่เห็นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Journal News ที่เมือง White Plains รัฐนิวยอร์กเพื่อตอกย้ำให้คนอ่านได้เห็นว่าใครมีปืนก็ควรจะเป็นข้อมูลให้กับคนอื่นในสังคมเดียวกันเพื่อจะได้ประเมินถูกว่าคนอยู่ร่วมเมืองเดียวกันมีความเสี่ยงจากคนมีอาวุธเพียงใด
เป็นผลจากโศกนาฏกรรมเมื่อเร็ว ๆ ที่มีวัยรุ่นคนหนุ่งเอาปืนของแม่ไปยิงเด็กชั้นประถมตายอย่างโหดเหี้ยมกว่า 20 คนรวมถึงครูใหญ่และจิตแพทย์ประจำโรงเรียนที่เมืองนิวทาวน์ รัฐคอนเนคติคัทอย่างเลือดเย็น
สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะกฎหมายของสหรัฐฯยอมให้ใครซื้อปืนเอาไว้ในครอบครองได้อย่างง่ายดาย ทำให้เหยื่อของเหตุการณ์เช่นนี้ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการมีอาวุธปืนครั้งใหญ่
ขณะที่การถกเถียงระหว่างผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยยังดำเนินไปอย่างเร้าร้อน หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ก็ไปสืบข้อมูลจากหน่วยงานรัฐที่ออกใบอนุญาตให้คนมีปืนไว้ในครอบครองได้ พร้อมชื่อและที่อยู่เพื่อประกาศให้รู้กันทั่ว และเมื่อเทคโนโลยีวันนี้เปิดทางให้ใช้ data journalism เพื่อรายงานให้รอบด้านและลงรายละเอียดที่สามารถตรวจสอบได้อย่างถ้วนถี่, บรรณาธิการและนักข่าวของสื่อท้องถิ่นฉบับนี้ก็จึงใช้เครื่องมือยุคดิจิตัลเพื่อแฉความจริงอีกด้านหนึ่งของปัญหาร้อนแรงของสังคม
หลายคนที่ถูกเอาชื่อมาเปิดเผยโวยวายว่าข้อมูลว่าเขาหรือเธอมีอาวุธปืนเป็นข้อมูลส่วนตัวที่สื่อไม่ควรจำนำมาเปิดเผย ถือเป็นการ "ละเมิดสิทธิส่วนตัว"
แต่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ยืนยันว่าข้อมูลเช่นนี้เป็น "สมบัติสาธารณะ" เพราะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชนโดยเฉพาะเมื่อสังคมเกิดความหวั่นเกรงหลังเกิดเหตุที่โรงเรียนประถม Sandy Hook ที่เมืองนิวทาวน์
อีกมุมหนึ่งของประเด็นนี้ก็คือว่าเมื่อข้อมูลว่าใครมีปืนอยู่บ้านไหนก็อาจจะทำให้คนที่คิดจะเข้าไปทำผิดกฎหมายในบ้านนั้นเช่นปล้นหรือขโมยของไม่กล้าเข้าไปที่พักพิงที่ปรากฏในรายงานนี้
แต่ขณะเดียวกันก็อาจจะทำให้เกิดจุดอ่อน เพราะโจรก็จะรู้ว่าบ้านไหน เจ้าของไม่มีอาวุธปืน ซึ่งอาจจะเป็นการดึงดูดให้คิดมิดีมิร้ายกับบ้านที่ไร้อาวุธก็ได้
ประเด็นถกเถียงก็กลับมาลงที่คำถามว่า
สิทธิ์ของใครสำคัญกว่ากัน: สิทธิ์ของพ่อแม่ที่ไม่ต้องการให้ลูกหลานตัวเองไปเล่นใกล้ ๆ บ้านที่มีปืนหรือสิทธิ์ของเจ้าของปืนที่ไม่ต้องการให้ใครรู้ว่าตนเองมีปืน?
สำหรับผม, สิทธิ์ของผู้ที่ไร้อาวุธย่อมจะเหนือกว่าผู้มีอาวุธ
และคนทำหน้าที่สื่อจะต้องแสวงหาข้อมูลที่มีความสำคัญในการตัดสินใจของสมาชิกในสังคมนั้น ๆ มาเปิดเผยเพื่อให้ทุกคนตัดสินว่าจะดำเนินชีวิตของตนให้อยู่เป็นปกติสุขและป้องกันเหตุร้ายได้อย่างไร