Saturday, December 17, 2011
เราต้องสร้าง 'นักเขียนความเรียง' (essayist) พร้อมกับ 'นักข่าวภาคสนาม'
การจากไปของนักเขียน, นักหนังสือพิมพ์, พิธีกรทีวี และนักโต้วาทีอย่าง Christopher Hitchens วัย 62 เป็นที่กล่าวขวัญถึงในแวดวงสื่อของสหรัฐฯและอังกฤษไม่น้อย ...แม้ว่าคนที่เขียนไว้อาลัยเขาจำนวนหนึ่งจะยอมรับว่าไม่ชอบนายคนนี้เพราะนิสัยก้าวร้าว, พูดจากรรโชก, และถกเถียงอย่างดุเดือดเลือดพล่านเสมอ
ผมอ่านเขาใน "God is Not Great" ในฐานะที่เขาไม่เคยเชื่อในเรื่องพระเจ้าจนถึงวินาทีสุดท้ายของการต่อสู่กับมะเร็งที่กล่องเสียง และได้ผ่านผลงานเขียนของเขาใน Vanity Fair บ่อยครั้ง
จะชอบเขาหรือไม่ จะเห็นด้วยกับเขาหรือไม่ (เขาแปรสภาพนักคิดนักเขียนจากซ้ายสุดมาอยู่ขวาสุดขอบได้อย่างไม่รู้สึกขวยเขิน) แต่ทุกคนที่เขียนเกี่ยวกับเขาเมื่อเขาจากไปเมื่อวันที่ 15 ธันวาฯที่ผ่านมายอมรับตรงกันอย่างหนึ่งว่า
เขาเป็นนักหนังสือพิมพ์ประเภท essayist ที่หาตัวจับยากยิ่งในอเมริกา (เขาเกิดที่อังกฤษแต่ไปมีอาชีพสื่อที่วอชิงตัน) ด้วยภาษาราบรื่น, แหลมคม, และสามารถโต้เถียงประเด็นการเมือง, สังคมและเศรษฐกิจได้อย่างน่าทึ่งยิ่ง
ฮิทเช่นส์ (หนังสือเล่มนี้คือการเขียนถึงชีวประวัติของตัวเองที่หนักไปทางเหล้าและบุหรี่กับความเป็นเลิศด้านภาษาและตรรกะการเมืองที่ชวนทุกคนถกแถลงได้ทุกหัวข้อ) เป็น "นักเขียนความเรียง" หรือ essayist ที่ผมคิดว่าเป็นคนทำสื่อพันธุ์ที่หายากขึ้นทุกวัน
แต่การเป็น "นักเขียนความเรียง" ที่ใช้ภาษาสละสลวย, แม่นยำ, แหลมคม, ท้าทายและเรียงลำดับความคิดพร้อมเหตุผลของตนอย่างน่าอ่านและสื่อความหมายได้อย่างมีความหมายนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดโดยเฉพาะในยุคของสื่อดิจิตัลที่มองผิวเผินแล้วต้องการความเร็วและความสั้นมากกว่าความลุ่มลึกและความแหลมคมแห่งภาษา
ผมกลับเห็นว่าอนาคตของข่าวจะยั่งยืนและสอดคล้องกับความต้องการของสังคมในอนาคตไม่ได้เลยหากเราไม่ฝึกฝนคนข่าวรุ่นใหม่ที่เข้าไปสัมผัสกับ social media อย่างคึกคักให้สามารถเป็น essayist ไปด้วยอย่างจริงจังและมุ่งมั่น
เพราะหากเรามีแต่เพียง digital reporter และขาด essayist แล้วไซร้, การทำหน้าที่ในฐานะ "ผู้สื่อสารเพื่อความหลากหลายทางความคิดของสังคม" ก็จะไม่สมบูรณ์ และจะขาดสิ่งที่สำคัญที่สุดในกระบวนการสื่อความหมาย
นั่นคือการใช้ภาษาที่มีศิลป์เพื่อเสนอข่าวและความเห็นที่ลึก เน้นเหตุและผล แทนที่จะมุ่งหาความเร็วและความสั้นแต่เพียงอย่างเดียว
อนาคตของข่าวจึงต้องการ "นักเขียนความเรียง" ไปพร้อม ๆ กับ "นักข่าวภาคสนาม" ที่ทำหน้าที่เสนอข่าวอย่างรวดเร็วฉับพลันขณะที่พยายามจะเรียงร้อยความเป็นไปที่สืบเสาะได้อย่างรอบด้าน,ลึก, และชัดเจน
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment