Sunday, August 21, 2011

การรักษา 'ระยะห่าง' คือหัวใจแห่งมาตรฐานวิชาชีพสื่อ


คำว่า "รักษาระยะห่าง" ได้รับการเอ่ยขานกันในเกือบทุกแวดวงที่เป็นห่วงใยประเด็น "จริยธรรม" แห่งวิชาชีพโดยเฉพาะในแวดวงสื่อมวลชนที่กำลังถูกสังคมจับตาถึงมาตรฐานแห่งการดำรงไว้ซึ่งความเป็นมืออาชีพที่ไม่ถูกกลุ่มผลประโยชน์ใดเข้ามาครอบงำและกำหนดวิถีปฏิบัติในการทำหน้าที่

คนข่าวยุคใหม่ที่ใช้ความเร็วและสร้างเครือข่ายเพื่อการทำหน้าที่ของตนจะต้องระมัดระวังเรื่อง "รักษาระยะห่าง" อย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้น เพราะในการทำหน้าที่ของคนข่าวนั้นคำว่า connection กับ networking บางครั้งผู้เกี่ยวข้องก็อาจะแยกไม่ออก หรือจงใจที่จะไม่แยกแยะให้ให้เห็นความแตกต่าง

การสร้าง network เพื่อสร้างความสันพันธ์ในเชิงสร้างแหล่งข่าวเพื่อการทำงานให้รอบด้านและลุ่มลึก กับการสร้าง connection ส่วนตัวเพื่อให้เกิด "ความใกล้ชิดเป็นพิเศษ" นั้นย่อมมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

เพราะผู้บริโภคข่าวย่อมจะต้องการแน่ใจว่าคนข่าวที่เขาไว้วางใจนั้นจะต้องไม่รายงานข่าวหรือวิเคราะห์เนื้อหาของข่าวที่มาจากความ สนิทสนมคุ้นเคยเป็นส่วนตัวกับแหล่งข่าวอันอาจจะส่อไปในทางที่มีอคติ ไม่ว่าจะในทางบวกหรือทางลบ

คนข่าวที่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือในสายตาของสังคมได้นั้นจะต้องดำรงความเป็นอิสระทางด้านความคิดและแนวทางการทำงานด้วยการ "รักษาระยะห่าง" กับแหล่งข่าวอย่างเหมาะสม, ไม่ใกล้ชิดคุ้นเคยจนสงสัยได้ว่ามีผลประโยชน์ส่วนตนที่ไปเกี่ยวพัน หรือทำกิจกรรมส่วนตัวร่วมกันในลักษณะที่อาจถูกตีความว่าสามารถทำให้คนข่าวคนนั้นลำเอียงหรือโอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับแหล่งข่าวนั้น ๆ

นักข่าวบางคนอาจจะอ้าง "เวลาส่วนตัว" ในการทำ "กิจกรรมส่วนตัว" กับ "เพื่อนส่วนตัว" เพื่ออธิบาย "ความสนิทสนมเป็นพิเศษ" ของตนกับแหล่งข่าว

แต่เมื่อใครอาสาเข้ามาทำหน้าที่เป็น "สื่ออาชีพ" ที่อ้างสิทธิ์ของความเป็นสื่อมวลชนกับสังคมโดยส่วนรวมแล้ว สิ่งหนึ่งที่คนข่าวจะต้องยอมสละไปคือ "ความเป็นส่วนตัว" ที่จะเอ่ยอ้างเพื่อจะยังดำรงไว้ซึ่งวิถีชีวิตเหมือนคนอาชีพอื่น ๆ

เพราะการที่สังคมให้ความเคารพนับถือและสิทธิพิเศษบางประการกับ "ฐานันดรที่สี่" นั้นก็ย่อมแปลว่าสังคมคาดหวังในมาตรฐานแห่งจริยธรรมจากคนอาชีพสื่อสารมวลชนที่สูงกว่าคนอาชีพอื่น ๆ เช่นกัน

การ "รักษาระยะห่าง" อันเหมาะควรระหว่างคนข่าวกับแหล่งข่าวจึงเป็นหนึ่งใน "มาตรฐาน" ที่สำคัญยิ่งสำหรับคนข่าว, ไม่ว่าจะยุคนี้หรือยุคไหน, ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวไกลไปถึงจุดใด

เพราะท้ายที่สุดจริยธรรมไม่เคยล้าสมัย, และ "ความศรัทธาเชื่อถือ" ไม่เคยถูกเทคโนโลยีมาบดบังให้เลือนหายได้

No comments: