Friday, July 22, 2011

ดุลยภาพที่เปลี่ยนไปของคนข่าวกับสังคม


คนข่าวยุคดิจิตัลย่อมตกอยู่ในสภาพของความไม่แน่นอนสูง เพราะความเปลี่ยนแปลงในโลกอินเตอร์เน็ทเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่ความเป็น "มืออาชีพ" หมายถึงการสร้างเนื้อหาที่มีสาระที่ตรวจสอบได้ แยก "ข่าวปั่น"และ "ข่าวปล่อย" ออกจากข่าวจริงรอบด้านที่ตรวจสอบได้โดยไม่ตกเป็น "เครื่องมือ" ของกลุ่มผลประโยชน์ใด

เป็นภารกิจที่จะต้องดำรงความเป็นตัวของตัวเองวันแล้ววันเล่า, ข่าวแล้วข่าวเล่า, อย่างมีสติ,และคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระชน ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อแรงกดดันหรือการคุกคามไม่ว่าจะมาจากฝ่ายไหนก็ตาม

อินเตอร์เน็ทได้เสริมสร้างให้เกิดความแข็งแกร่งและเพิ่มพลังของคนทำข่าวและผลิตสาระทุกรูปแบบอย่างน้อยสี่ประการ

1. มันทำให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตเนื้อหาข่าวและสาระลดลงอย่างมีนัยสำคัญ, เปิดทางให้มี "ผู้เล่น" เข้ามาในสนามแห่งนี้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และอนุญาตให้สามารถทดลองความคิดอ่านใหม่ ๆ ได้อย่างเสรีกว่าแต่ก่อนมากมายหลายเท่า

2. มันทำให้ที่ตั้งของจุดภูมิศาสตร์หมดความหมาย เพราะผู้บริโภคข่าวสารสามารถรับรู้และเข้าถึงเนื้อหาสาระของคนทำข่าวได้จากทุกแห่ง และทำให้ผู้คนทั่วไปเข้าถึงข่าวคราวและข้อมูลอย่างง่ายดายกว่าแต่ก่อนอย่างมหาศาล

3. มันให้ "เครื่องมือ" การทำสื่อกับทุกคนที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นช่องทาง search หรือ ฐานข้อมูลออนไลน์, การทำชาร์ทอย่างสะดวกและสามารถสัมภาษณ์ใครต่อใครผ่าน Skype ได้...นักข่าวสามารถใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นล่าสุดรายงาน, สัมภาษณ์, ตัดต่อ, ส่งคลิบเสียงและภาพอย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะทำงานอยู่ ณ จุดใดก็ตาม

4. มันปรับดุลยภาพระหว่างคนทำข่าวกับผู้บริโภคข่าวอย่างมีความหมายสำคัญยิ่ง เพราะยุคดิจิตัลทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนข่าวอาชีพกับผู้บริโภคข่าวสลับสับเปลี่ยนเข้าสู่ความเป็นสังคมประชาธิปไตยมากขึ้น ในหลายโอกาส, บทบาทของ "นักข่าวพลเมือง" ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า "นักข่าวอาชีพ" และการสื่อสารทิศทางเดียวจากสื่อไปถึงผู้บริโภคข่าวอย่างที่เคยมีมาหลายร้อยปีนั้นต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นการสื่อสารหลากหลายมิติอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

แน่นอนว่าบทบาทของ "คนข่าวอาชีพ" ในฐานะ "Watchdog" และ "Gatekeeper" ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะเมื่อเกิดภาวะ "ข่าวสารล้นเกิน" และจำเป็นจะต้องมีนักสื่อสารมวลชนที่ได้รับการฝึกฝนเป็นพิเศษในการทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนข่าวสารและตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้มีอำนาจในบ้านเมืองตามหลักจริยธรรมของสื่อมวลชนที่สังคมต้องการอย่างยิ่ง

แต่อหังการของคนทำสื่อที่เคยถือตนเป็น "ฐานันดรสี่" นั้นวันนี้, ในยุคดิจิตัลเช่นนี้, จะหดหายไปและความถ่อมตนและมุ่งมั่นทำหน้าที่ของตนอย่างแข็งขัน, ซื่อตรง, และโปร่งใสจะเข้ามาแทนที่

หาไม่แล้ว, คนข่าวที่ยังหลงติดยึดอยู่กับอดีตและปฏิเสธที่จะปรับเปลี่ยนก็จะเป็น "ไดโนเสาร์" ตัวสุดท้ายของโลกสื่อดิจิตัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ

5 comments:

Gee said...

Khun Suthichai is right on every point ka, especially the last two paragraphs. I don't live in Thailand so I don't know much the latest status of the Thai mass media and professionalism. But I think the future of Thai journalism will follow the path of western or U.S. media, where print journalism is dying and journalists, in order to survive, need to learn quickly new ways of news reporting not taught when they were in college.
It is so wonderful that Khun Suthichai founded the Nation University to train new crops of Thai journalists to keep up in the ever-changing digital era. Not sure if Chula or Thammasat has personnel (faculty) and resources to do it.
One comment on citizen journalists na ka. I think they will add a lot to the news content generation, especially when they happen to be at the news-breaking site and no reporters are there.
"User generated content" is getting more and more widespread, but we need to check its credibility and validity, especially when it comes to news. So I hope readers, viewers or even news editors would keep that in mind.
Thanks again for this blog post na ka. Hope every reporter would read it.

Respectfully,

Daradirek "Gee" Ekachai
Milwaukee, Wisconsin

Pipope Panitchpakdi said...

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมเห็นว่าเป็นปรากฎการณ์ที่น่าติดตามก็คือ ประเพณ๊ของการรายงานข่าวที่เปลี่ยนไป ถึงแม้นสื่อมวลชนกระแสหลักจะมีความเชี่ยวชาญ (enterprise) แต่ขณะเดียวกัน ประเพณีของการหนังสือพิพม์ (Journalistic convention) บางส่วนก็ทำให้ความสามารถในการทำการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาไม่สามารถเกิดขึ้นได้
ในขณะที่พื้นที่ของการรายงานข่าวโดยประชาชน ถึงแม้นจะต้องตรวจสอบความน่าเชื่อถือ มีพื้นที่ของการวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมามากกว่า สนใจในเรื่องการักษาระยะน้อยกว่า มีความ political correctness น้อยกว่า
แต่ด้วยเหตผลเดียวกัน ทำให้บางครั้ง ความคิดเชิงงวิพากษ์จะอยู่ในพื้นที่นิวมีเดีย มากกว่าสื่อกระแสหลัก

พิภพ พานิชภักดิ์

Anonymous said...

Many thanks for your comment.

Unknown said...

I appreciate your comments. Will do our best to promote the new generation of digital journalists.

Unknown said...

ขอบคุณสำหรับความเห็นครับ จะพยายามสร้างให้เกิดคนทำสื่อรุ่นใหม่ที่พร้อมรับการความท้าทายทางดิจิตัลทุกรูปแบบครับ