Tuesday, July 26, 2011
ถ้าจะให้สื่อเป็นอิสระ, ไม่อยู่ใต้นายทุน, นักการเมือง...ผมเสนอแนวคิด "Public Journalism"
ผมเชื่อว่า "อนาคตของข่าว" จะยั่งยืน, เป็นกลาง, และกอบกู้สังคมที่เสื่อมทรามได้นั้น จะต้องมีมิติใหม่ของการเป็น "สื่อสาธารณะ" ที่ไม่ต้องอาศัยรายได้จากโฆษณาหรือเงินของนักการเมืองกับนักธุรกิจ (ทั้งต่อหน้าและลับหลัง)
คนข่าวมืออาชีพที่ต้องการเจาะข่าวลึกที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง และที่สื่อกระแสหลักไม่มีความสนใจหรือความเข้าใจเพียงพอ แต่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อสังคมนั้นจะต้องช่วยกัน "ออกแบบ" มิติของการทำข่าวลักษณะ "community-funded reporting" หรือ "ชุมชนจ่าย,มืออาชีพเจาะ"
หนึ่งในความริเริ่มเช่นนี้คือ Spot.us ซึ่งเป็นตัวอย่างของการที่ประชาชนพร้อมจะควักกระเป๋าตนเองเพื่อให้นักข่าวมืออาชีพสามารถเจาะข่าว, ขุดคุ้ยเรื่องไม่ชอบมาพากล,หรือให้ความสำคัญกับประเด็นของสังคมที่สื่อทั่วไปไม่ทำ หรือถูกแรงกดดันทางด้านเงินทองหรือผลประโยชน์ไม่ให้ไปเจาะเบื้องลึกของข่าวนั้น ๆ
รูปแบบการประสานระหว่าง "คนข่าวมืออาชีพ" กับ "ชุมชน" แนวนี้คือการสะท้อนว่าสังคมเองจะเป็นผู้สนับสนุนให้การทำงานของคนข่าวมืออาชีพให้มีความเป็นอิสระ, ความเป็นกลาง, กล้าหาญ, และมุ่งเข้าหาประเด็นข่าวที่สำคัญต่อชุมชนทั้งในระดับท้องถิ่น, ภูมิภาคและระดับประเทศ
สื่อกระแสหลักถูกวิพากษ์ว่าอยู่ใต้อิทธิพลของนายทุน, กลุ่มการเมือง, รัฐบาล, หรือฝ่ายค้าน...หรือไม่ก็เป็นกระบอกเสียงของกลุ่มที่มีผลประโยชน์หรืออุดมการณ์ไปทางใดทางหนึ่ง ไม่ได้ทำข่าวที่มีความสำคัญต่อสังคมอย่างแท้จริง และบางครั้งก็จงใจที่จะไม่ทำข่าวบางเรื่องเพราะ "ขายไม่ออก" บ้าง "ละเอียดอ่อนเกินไป" บ้าง หรือเป็นเพราะนายทุนหรือนักการเมืองที่หนุนหลังอยู่ไม่ต้องการให้ทำความจริงให้ปรากฏบ้าง
แต่การ "รายงานข่าวแบบชุมนุมมอบหมาย" อย่างนี้นอกจากจะเป็นการทำงานของนักข่าวในลักษณะไม่แสวงหากำไร, ไม่ป็นเชิงพาณิชย์,และหมกมุ่นกับ ratings หรือยอดขายหนังสือพิมพ์แต่เพียงอย่างเดียวแล้ว ยังเป็นการ "ทำงานร่วมกันอย่างสนิทแน่น" ระหว่างผู้คนในชุมชนเองกับคนข่าวมืออาชีพที่มีความรู้ความสามารถและความสำนึกในหน้าที่ต่อสังคมอย่างแท้จริง
ภายใต้กติกาของ community-funded journalism นี้ คนข่าวเองเสนอหัวข้อและแนวทางของเรื่องที่จะเจาะลึก และให้ประชาชนที่สนใจต้องการเห็นเรื่องนั้น ๆ ได้รับการรายงานและเจาะลึกบริจาคเงินตามจำนวนที่ตนเห็นควร หรือไม่ก็เป็นข้อเสนอจากบางกลุ่มของสังคมที่อยากเห็นปัญหาใดของชุมชนนั้นได้รับการรายงานและวิเคราะห์ และพร้อมที่จะรณรงค์ให้มีการบริจาคเพื่อให้นักข่าวหรือทีมข่าวมืออาชีพที่มีประวัติการทำงานที่เชื่อถือได้ลงมือไปทำข่าวนั้น ๆ
องค์กรที่บริหารโครงการ "คนข่าวอาชีพประสานชุมชนใส่ใจ" ก็จะเผยแพร่เรื่องราวทั้งตัวหนังสือ, ภาพ, เสียงและวีดีโอผ่านสื่อต่าง ๆ ที่อยู่ในเครือข่าย และผ่าน social media ได้อย่างกว้างขวางและคล่องแคล่ว
โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยสื่อกระแสหลักเป็นทางผ่านถึงสังคมอีกต่อไป
ผมเห็นความสำคัญและจำเป็นที่สังคมไทยจะเริ่มคิดและร่วมกันหาทางทำให้ community-funded reporting เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เพราะนี่คือคำตอบต่อคำถามที่ผมได้รับมาเสนอจากประชาชนทั่วไปเช่น
1. สื่ออยู่ใต้นายทุน, นักการเมือง...จะเป็นอิสระและเป็นกลางได้อย่างไร?
2. ทำไมสื่อไม่เจาะเรื่องที่สำคัญจริง ๆ ต่อสังคม? ทำไมสื่อทำแต่เรื่องหวือหวา...จะขายข่าวอย่างเดียว?
3. เราจะสร้างสื่อที่ทำงานเพื่อสาธารณะอย่างแท้จริงได้อย่างไร?
ถ้าสังคมต้องการ "สื่อเพื่อสังคม" ที่แท้จริง, สังคมต้องก้าวออกมาพร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสิ่งที่ผมเรียกว่า public journalism
ผมพร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของความริเริ่มนี้...ใครสนใจ แลกเปลี่ยนความเห็น และร่วมกันสร้างกลไกของสังคมใหม่นี้ได้เลยครับ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment