Thursday, July 21, 2011

อนาคตของข่าว...ใครไม่ปรับก็พับฐาน



ผมยืนยันกับคนข่าวทุกครั้งที่มีโอกาสว่านี่คือ "ยุคทองของคนทำข่าว" เพราะเทคโนโลยีเสริมส่งให้คนที่มีความมุ่งมั่นทางด้านสื่อสารมวลชนสามารถทำงานได้รวดเร็ว,ลึกและกว้างกว่าทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา

แต่หากไม่ปรับตัว, ไม่เรียนรู้วิธีทำงานใหม่, และหลงเข้าใจผิดคิดว่า "ความเร็ว" คือทุกอย่าง มองข้ามความสำคัญของ "ความลึกและความกว้าง" ของข่าว, ก็มีสิทธิที่จะหลงทางและกลายเป็นแค่นักข่าว breaking news ที่ไม่ใช้สมองและความสามารถในการแยกแยะข่าวและข้อมูลให้กับประชาชน

เพราะโลกดิจิตัลไม่จำเป็นต้องหมายถึงแต่เพียงความเร็วที่ผิวเผินเท่านั้น หากคนข่าวยุคนี้ใช้ความได้เปรียบใหม่ ๆ ได้ถูกต้อง ก็สามารถจะใช้เทคโนโลยีทำหน้าที่เป็น "นักข่าวสืบสวนสอบสวน" หรือ investigative reporting ได้อย่างลุ่มลึกและแสดงความโดดเด่นเหนือการทำหน้าที่เพียงแค่รายงานข่าวว่าใครพูดอะไรเมื่อไหร่ (he said/she said) อย่างที่เราเห็นกันเกลื่อนกลาดอย่างชัดเจนได้

ยิ่งสังคมมีข้อมูลข่าวสารล้นพ้น ยิ่งมีปัญหา information overload ที่ตามไล่ล่าผู้บริโภคข่าวเกือบจะทุกนาที ก็ยิ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างนักข่าวที่มีคุณภาพยุคดิจิตัลมากขึ้น เพราะหน้าที่ของการแยกย่อย, วิเคราะห์, ลำดับเรื่อง, เล่าความ, เสนอเบื้องหลังข่าว, และแสดงความเห็นรอบด้านยิ่งมีความสำคัญยิ่ง

บทบาทของการเป็น "หมาเฝ้าบ้าน" และ "ยามเฝ้าประตู" ของคนข่าวในยุคของ Mojo (Mobile Journalists) ไม่ได้ลดน้อยถอยลง, ตรงกันข้ามกลับมีความสำคัญหนักหน่วงยิ่งขึ้น เพราะสังคมต้องการ "มืออาชีพ" ทางด้านการกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารที่มาจากทุกสารทิศอย่างล้นหลามมากกว่าแต่ก่อนด้วยซ้ำไป

แต่ "อนาคตของข่าว" จะปรับเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง เพราะนี่คือการ "ปฏิวัติสื่อสารมวลชน" อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเพราะที่เราเคยเรียกว่า "ผู้บริโภคข่าว" นั้นวันนี้ได้กลายเป็น "ผู้ร่วมผลิตและกระจายข่าว" ที่สามารถใช้ social media ในการทำหน้าที่ "นักข่าวพลเรือน" อย่างคึกคักและมีประสิทธิภาพยิ่ง

ผมหวังจะเสนอความคิดความอ่านว่าด้วย "อนาคตของข่าว" ในบล็อกนี้เพื่อแลกเปลี่ยนวิธีวิเคราะห์และเสนอสูตรสำหรับการปรับตัวของสื่อไทยโดยเฉพาะสำหรับคนข่าวรุ่นใหม่ในอันที่จะสร้างศักยภาพของตนขึ้นมเป็น digital journalists อย่างแท้จริงจากวันนี้เป็นต้นไป

1 comment:

Pipope Panitchpakdi said...

ขอบคุณมากครับที่สร้าง blog นี้ ผมเองก็ยังพยายามจะทดสอบ ความเป็นไปได้สูงสุดของนักข่าวพลเรือนในรูปแบบการรายงานยาว (long form) ซึ่งหลายคนบอกว่าไม่มีที่ยืนในโลก 140 คำ ซึ่งผมว่าไม่จริง เพียงแต่คนยังไม่ค่อยทำกัน บทบาทใหม่ของนักข่าวในฐานะ ผู้ดูแล (Curator) ความรู้และข้อมูล อีกเช่นกัน เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมาก จะเผ้าติดตาม blog ครับ