Saturday, December 15, 2012

คนข่าวไม่มีสิทธิ์ซ้ำเติมเยาวชนด้วยการสัมภาษณ์เด็กในโศกนาฏกรรม

ข่าวโศกนาฏกรรมโรงเรียนประถมที่เมือง Newtown, Connecticut สหรัฐฯเมื่อวาน (เด็กถูกหนุ่มวัย 20 ยิงกราดเสียชีวิต 20 ผู้ใหญ่รวมถึงครูใหญ่อีก 6 มือปืนยิงตัวเองตายทีหลัง) เกิดคำถามสำหรับคนข่าวว่าสมควรจะพยายามสัมภาษณ์เด็กที่เห็นเหตุการณ์หรือไม่?
ในภาพนี้จะเห็นนักข่าวทีวีสัมภาษณ์แม่ของเด็ก และยังขอให้เด็กเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นักข่าวซีเอ็นเอ็น Cooper Anderson ซึ่งรุดไปรายงานข่าวนี้ด้วยบอกผ่านทวิตเตอร์ว่าเขาจะไม่สัมภาษณ์เด็กเพราะเห็นว่าไม่เหมาะสมในบรรยากาศเช่นนี้ เพราะจะเท่ากับเป็นสร้างแรงกดดันเด็กเพิ่มขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม
แน่นอน นักข่าวบางคนอาจจะอ้างว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องสืบเสาะหาคนที่อยู่ในเหตุการณ์ทุกคนเพื่อรายงานเรื่องทั้งหมดให้ประชาชนทราบ จึงอาจจะจำเป็นต้องสัมภาษณ์เด็กด้วย
แต่ผมเห็นว่าไม่ควรอย่างยิ่งที่จะเอาไมค์จ่อปากเด็กเพื่อให้พูดว่าเห็นอะไรในที่เกิดเหตุ หรือมีความรู้สึกอย่างไร
หลักการทำข่าวอย่างนี้สำหรับผมก็คือจะต้องไม่สัมภาษณ์เด็กโดยเฉพาะ ณ ที่เกิดเหตุ เพราะในภาวะเช่นนั้นเยาวชนที่เรียนชั้นประถมหรือมัธยมคงตกอยู่ในสภาพช็อก จิตใจไม่อยู่ในสภาพปกติ แต่ต้องการมีคนปลอบใจหรือให้กำลังใจมากกว่าที่จะถูกนักข่าวซักถามรายละเอียดที่ก่อความรู้สึกตกอกตกใจก่อนหน้านี้ไม่นาน
ที่สำคัญคือจะต้องให้โอกาสพ่อหรือแม่เด็กไตร่ตรองให้ดีเสียก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะให้สัมภาษณ์หรือไม่ (ไม่ว่าจะเป็นสื่อหนังสือพิมพ์อย่างเดียวหรือทีวีด้วย)
หากนักข่าวต้องการได้เรื่องราวและความจริงที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์นั้น ๆ ก็ควรจะต้องรอให้อารมณ์ของผู้อยู่ในเหตุการณ์ (โดยเฉพาะพ่อแม่ของเด็กที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต) อยู่ในสภาพที่พร้อมจะพูดอย่างสมัครใจ
นักข่าวต้องตระหนักเสมอว่าในภาวะจิตใจที่เป็นทุกข์และสะเทือนใจอย่างหนักนั้น ความสามารถของผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่จะพิจารณาว่าอะไรควรพูดอะไรไม่ควรพูดนั้นมีจำกัด
ดังนั้น ถ้าคุณเป็นนักข่าวในสถานการณ์เช่นนี้ จะต้องถามตัวเองก่อนที่จะพยายามสัมภาษณ์พ่อแม่หรือเด็กว่า
๑. คุณกำลังซ้ำเติมความรู้สึกที่หวั่นไหวอยู่แล้วอย่างไรหรือไม่?
๒. ผู้รับสารจะประนามการกระทำของคุณต่อเหยื่อของเหตุการณ์หรือไม่?
๓. การสัมภาษณ์จะทำให้ได้อะไรเพิ่มเติมที่จะทำให้คนอ่านหรือคนดูของคุณเข้่าใจเรื่องราวดีขึ้นอย่างไรหรือไม่?
๔. ถ้าคุณอยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน, คุณจะอยากให้ลูกของคุณถูกสัมภาษณ์โดยนักข่าวอย่างนี้หรือไม่?
สำหรับผมแล้ว นักข่าวไม่มีสิทธิ์จะสัมภาษณ์เด็ก ๆ ที่กำลังได้รับความรู้สึกสะเทือนใจอย่างหนัก แม้ผู้ปกครองจะไม่ห้ามก็ตาม หรือแม้แต่เด็กเองบอกว่าพร้อมจะพูด หรือแม้นักข่าวจะอ้างว่าเด็กคนนั้น "ดูไม่มีปัญหาอะไร" เพราะคุณไม่มีทางรู้เลยว่าจริง ๆ แล้วเด็กจะรู้สึก "ปกติ" พอที่จะสนทนากับคุณเพื่อให้ออกข่าวไปสู่สาธารณะหรือไม่
หลักการง่าย ๆ ชัด ๆ สำหรับผมก็คือช่างภาพ, นักข่าวควรจะเคารพในสภาพจิตใจที่อ่อนไหวของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายโดยเฉพาะหากเป็นเด็กหรือเยาวชน
ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวสังกัดสื่อยุคดั้งเดิมหรือคนข่าวยุคดิจิตัลก็ตาม!

No comments: