Wednesday, December 5, 2012

ไม่มี "อนาคต" ของข่าวเพราะอนาคตคือ "วันนี้"

เรียงความยาว 122 หน้าโดยนักคิดนักวิเคราะห์สื่อสามคนของสหรัฐฯนี้วิพากษ์และเสนอทางออกให้กับ "วันพรุ่งนี้ของข่าว" อย่างน่าสนใจยิ่ง
เริ่มต้นด้วยคำนำที่ว่า "บทความนี้มิใช่การทำนายอนาคตของอุตสาหกรรมข่าวเพราะ 1. อนาคตคือปัจจุบันแล้ว และ 2. สิ่งที่เรียกว่า "อุตสาหกรรมข่าว" ไม่มีอีกต่อไปแล้ว
ข้อสรุปของบทความนี้มีหลายประเด็นที่คนข่าววันนี้จะต้องเก็บไปประเมินและปรับให้เข้ากับวิถีแห่งอาชีพของตน
๑. บทบาทของคนข่าวจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป...แต่จะสรุปว่าคนข่าว (journalist) ถูกทดแทนไปเสียทีเดียวก็คงไม่ถูกต้องนัก แต่ที่แน่ ๆ คือคนทำข่าวถูกโยกไปทำหน้าที่ที่ไม่เหมือนเดิม นั่นคือไม่ใช่เป็นผู้นำเสนอข่าวคราวที่เกิดขึ้น หากแต่เปลี่ยนบทเป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง, ตีความ, อธิบายความหมายของการหลั่งไหลของเนื้อหา, เสียง, ภาพ, วีดีโอที่สาธารณชนสาธารถผลิตได้ด้วยตนเองอย่างไม่หยุดยั้งตลอดวันตลอดคืน
๒. "ข่าว" มิอาจจะถูกเข้าใจว่าเป็น "สินค้าเบ็ดเสร็จ" ในตัวไม่ได้อีกต่อไป กองบรรณาธิการหรือห้องข่าวจำนวนมากยังติดอยู่ใน "กับดัก" ของระบบงานประจำวันที่ยังคิดว่าเป้าหมายสุดท้ายของงานของคนข่าวคือการทำข่าวเสร็จเป็นชิ้่น ๆ แล้วก็หมดหน้าที่สำหรับวันนั้น แต่วันนี้ คนข่าวพรุ่งนี้จะต้องสำเหนียกว่าสิ่งที่เรียกว่า "ข่าว" ในความหมายใหม่นั้นจะไม่มีขั้นตอนไหนที่เรียกว่า "ปิดข่าว" เหมือนที่ผ่านมา และจะไม่มีหนังสือพิมพ์รายวันหรือข่าวทีวีช่วงหนึ่งช่วงใดที่จะสามารถอ้างได้ว่า "วันนี้สรุปข่าวเรื่องนี้เพียงแค่นี้..." เพราะข่าวจะเคลื่อนไหวไปกับผู้บริโภคข่าวทุกนาทีทุกสถานที่และผ่านทุกเครื่องมือสื่อสาร ไม่ว่าคนที่มีอาชีพข่าวเองจะคิดว่าข่าวนั้น "จบ" สำหรับวันนั้นหรือไม่ก็ตาม
๓. ความสำคัญของข่าวไม่ได้หดหายไปไหน ความหมายของ "มืออาชีพข่าว" ที่ปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ไม่จำเป็นต้องหมดบทบาทไป สิ่งที่หมดไปก็คือกระบวนการข่าวแบบเดิม หรือความเชื่อเก่าว่าผู้บริโภคข่าวเป็นฝ่าย "ตั้งรับ" อย่างเดียว
สิ่งที่หายไปคือโลกที่ข่าวมาจาก "มืออาชีพ" แต่เพียงฝ่ายเดียวหรือที่บริโภคโดย "มิือสมัครเล่น" ที่ไม่สามารถผลิตเนื้อหาด้วยตนเอง หรือที่ไม่เรียนรู้วิธีการกระจายข้อมูลข่าวสารของตนเอง
เพราะ "ภูมิทัศน์" ของข่าวสารจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
๔. วิถีธุรกิจสื่อแบบเดิมเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว
แม้องค์กรสื่อจะพยายามหาทางเพิ่มรายได้ทุกวิถีทางเพื่อความอยู่รอด แต่แนวทางธุรกิจสื่อแบบศตวรรษที่ 20 ซึ่งสร้างกำไรอย่างสูงและต่อเนื่องให้กับเจ้าของกิจการจบสิ้นไปแล้ว อีกทั้งสิ่งแวดล้อมเดิมที่ผลิตผลพวงธุรกิจเช่นนั้นก็ไม่มีให้เห็นอีกต่อไป
๕. ข่าวด่วนข่าวเร็วไม่ได้เป็นทรัพย์สินเฉพาะของสื่อดั้งเดิมอีกต่อไปเพราะ platforms ต่าง ๆ สามารถทำหน้าที่กระจายข่าว breaking news พร้อม ๆ กับองค์กรข่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่แพ้กัน เพราะไม่มีสำนักข่าวใดจะแข่งกับทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊คในแง่ความเร็วและความกว้างได้อีกต่อไป
๖. "ความเปลี่ยนแปลง" เพิ่งจะเริ่มขึ้น ทุกอย่างจะปรับเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีและความต้องการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคมที่พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแห่งการปฏิสัมพันธ์หรือ engagement ในทุกบริบทของการสื่อสาร
๗. คำแนะนำสำหรับคนข่าวที่ต้องการจะปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงอันฉับพลันและรุนแรงคือ "เดินหน้าไปจนกว่าจะเข้าใจมัน" ดั่งที่มีผู้บริหารข่าวคนหนึ่งบอกกับคนที่คิดค้นการทำ news feed ในทวิตเตอร์ว่า
"ผมไม่ค่อยเข้าใจว่าคุณทำอะไรอยู่ แต่กรุณาทำต่อไป อีกหน่อยผมก็ต้องเข้าใจเอง..." แปลว่าคนข่าววันนี้แม้จะไม่แน่ใจว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่ก็รู้ว่าทิศทางนี้ถูกต้องแล้ว และจะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ จึงพยายามเดินหน้าไป ทำความเข้าใจกับสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ เพราะหากจะรอให้เข้าใจทุกอย่างก่อนแล้วจึงจะปรับตัว, ก็อาจจะสายไปเสียแล้ว
๘. กระบวนการผลิตข่าวจะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ คนข่าวอาชีพเต็มเวลาก็ยังมีความสำคัญอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ที่จะมาเสริมอย่างคึกคักคือ "นักข่าวพลเมือง" ที่มาในรูปของผู้อาสา, คนทำงานบางเวลา, และกระจายโดยคนที่ไม่ได้ถามว่า "อะไรเป็นข่าว?" แต่จะถามว่า "เพื่อนผมในโซเชียลมีเดียจะชอบเรื่องนี้ไหม?"
๙. ที่เป็นหัวใจของการโลกใหม่แห่งการสื่อสารก็คือความพร้อมและความมุ่งมั่นของคนข่าวที่จะ "ปรับตัว" ในทุก ๆ ทางเพื่อทำหน้าที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ตกขบวนรถด่วนที่เรียกว่า "พรุ่งนี้ของข่าว"
เพราะในท้ายที่สุดแล้วการทำหน้าที่เป็นคนข่าวที่มุ่งมั่นจริงจัง เน้นสาระที่เป็นสาธารณประโยชน์ มีจริยธรรมที่ได้มาตรฐานสากลยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสังคม
เพราะคนข่าวที่ดียังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสังคมที่มีคุณภาพและคุณธรรม
นี่คือสัจธรรมที่ปฏิเสธไม่ได้ และเป็นภารกิจที่คนข่าวที่รักอาชีพนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน


No comments: