Monday, December 24, 2012

Newsweek ฉบับอำลาโลกผู้อ่านสิ่งพิมพ์

นี่คือนิตยสารข่าวอันเลื่องลือของสหรัฐฯ...Newsweek...ฉบับสุดที่พิมพ์ด้วยกระดาษหลังจากเปิดตัวมา 80 ปีพอดี
ภาพปกเป็นรูปสำนักงานใหญ่ของนิตยสารแห่งนี้ที่แมนฮัตตัน นิวยอร์ก พร้อมกับ #lastprintissue
อย่างที่ชาวทวิตเตอร์ใช้ในการส่งข้อความเพื่อให้ติดตามประเด็นใดประเด็นหนึ่งต่อกัน
เหมือนจะประชดว่าการที่นิตยสารกระเดื่องนามอันยาวนานต้องโบกมืออำลาจากรูปแบบกระดาษ หันมาเสนอเนื้อหาสาระทางออนไลน์อย่างเดียวนั้นเป็นเพราะสื่อดิจิตัลอย่างทวิตเตอร์นี่กระมัง
เหตุผลหลักที่นิวสวีคตัดสินเสนอเนื้อหาผ่านออนไลน์อย่างเดียวเ็นเพราะรายได้โฆษณาของสิ่งพิมพ์หดหายต่อเนื่อง และคนอ่านหันไปบริโภคข่าวและบทวิเคราะห์ทางออนไลน์มากขึ้นทุกขณะ
บรรณาธิการของ Newsweek ที่ชื่อ Tina Brown บอกว่านี่คือ "บทใหม่" ของนิตยสารเล่มนี้
ในยุครุ่งโรจน์ นิตยสารเล่มนี้เคยขายยอดสูงถึง 3 ล้านฉบับต่อสัปดาห์ สองปีก่อนบริษัท Washington Post ขายให้กับนักธุรกิจ Sidney Harman ในราคา 1 เหรียญ และสามเดือนต่อมาก็ถูกควบรวมกับ Daily Beast
นี่คือสัญญาณเตือนภัยวันนี้สำหรับ "คนข่าวพรุ่งนี้" อีกสัญญาณหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้เป็นอันขาด

Sunday, December 23, 2012

คนข่าวพรุ่งนี้ต้องเป็น "มนุษย์พันธุ์ N"

เป้าหมายการสร้าง "มนุษย์พันธุ์ N"  ให้อยู่ใน DNA ของคนข่าวเนชั่นในปีใหม่นี้คือการฝึกปรือให้เป็นผู้ปรับตัวเรียนรู้และเสริมศักยภาพของการเป็น "คนข่าวพรุ่งนี้" เสียตั้งแต่วันนี้
นั่นย่อมหมายถึงการฝึกฝนอย่างเข้มข้นมากขึ้นในการสามารถทำหน้าที่รายงาน, วิเคราะห์, ถ่ายภาพ, วิดีโอ, ใช้ social media อย่างคล่องแคล่วฉับพลัน ขณะเดียวกันก็เรียนรู้ที่จะวิเคราะห์ข่าวเชิงลึกและรอบด้าน อีกทั้งยังสร้างปฏิสัมพันธ์หรือ engagement กับผู้บริโภคเนื้อหาสาระทุกรูปแบบที่มิจำกัดแต่เพียงข่าวเร็วข่าวด่วนลักษณะ breaking news เท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่ report, edit and curate พร้อม ๆ กันไปด้วยอย่างมีประสิทธิภาพสูงกว่าความเป็นคนข่าวระดับ "กลาง ๆ" ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ในวิชาชีพนี้ในจังหวะนี้อยู่
ปี 2556 จึงเป็นปีท้าทายที่สำคัญยิ่งสำหรับคนข่าวเนชั่นอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ได้ปรับตัวต่อเนื่องมาประมาณ 10 ปี และผ่านหลักหมุดสำคัญยิ่งในปีนี้เมื่อมีการต่อตั้ง Convergent Newsroom เพื่อหลอมรวมการทำหน้าที่ของทุกสื่อทุกรูปแบบมาอยู่ในศูนย์บัญชาการข่าวอันทรงพลัง ณ จุดเดียวโดยการฝึกให้นักข่าว, หัวหน้าข่าว, บรรณาธิการข่าว, ช่างภาพ, producers รวมถึงคนหน้าจอ, หลังจอ, กอง บก. หนังสือพิมพ์ตลอดถึง webmasters ทุกโต๊ะให้สามารถทำงานประสานกันอย่างไร้ขีดจำกัด
การ "รื้อกำแพง" ที่แบ่งแยกบทบาทหน้าที่ของสื่อแบบเดิม ๆ ยังเป็นกระบวนการที่จะต้องเดินหน้าทำให้ครบถ้วนสมบูรณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกนาที
"มนุษย์พันธุ์ N" จึงเป็นคนข่าวเผ่าพันธุ์ใหม่ที่จะขี่ยอดคลื่นของการปรับเปลี่ยนครั้งประวัติศาสตร์ของวงการสื่อสารมวลชนอย่างคึกคักยิ่ง

Tuesday, December 18, 2012

ยุทธศาสตร์ "4 จอ" (Four-screen media strategy) สำหรับคนข่าวพรุ่งนี้

คนข่าวที่เตรียมตัวสำหรับอนาคต (ที่มาถึงแล้ว...เร็วว่าที่ใครจะคาดคิดได้) จะต้องผลิตผลงานสำหรับ "4 จอ" ที่ผู้บริโภคข่าวสัมผัสในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นจนเข้านอนอย่างปฏิเสธไม่ได้
นั่นคือจอทีวี, จอคอมพิวเตอร์, จอแท็บเบล็ทและจอมือถือที่ไม่อาจจะแยกแยะออกจากกันได้ต่อไป
เราต้องเข้าใจและทำงานให้สอดคล้องกับสิ่งที่เรียกว่า "The four-screen media strategy" ที่พุ่งเป้าไปที่ TVs, computers, smart phones, tablets อย่างสอดประสานกลมกลืนกันอย่างคล่องแคล่ว
นั่นย่อมหมายถึงการฝึกปรือการทำรายงานและเสนอข่าวและสาระผ่านวีดีโอที่มีคุณภาพ, ทันเหตุการณ์, ลุ่มลึกและสะท้อนถึงสิ่งที่ผู้บริโภคสามารถจะมีปฏิสัมพันธ์หรือ engagement ด้วยอย่างไร้กำแพงขวางกั้น ไม่ว่าจะเป็นกำแพงในโลกจริงหรือกำแพงในจินตนาการที่รื้อยากยิ่งกว่ากำแพงเมืองจีน
ผู้ที่ต้องการจะส่งสารไม่ว่าจะเป็นสาระหรือโฆษณาก็กำลังได้รับการเชื้อเชิญให้รู้จัก "กลยุทธสื่อ 4 จอ" ในการสื่อสารกับฝูงชนที่มีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับ 4 จอนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน


Saturday, December 15, 2012

คนข่าวไม่มีสิทธิ์ซ้ำเติมเยาวชนด้วยการสัมภาษณ์เด็กในโศกนาฏกรรม

ข่าวโศกนาฏกรรมโรงเรียนประถมที่เมือง Newtown, Connecticut สหรัฐฯเมื่อวาน (เด็กถูกหนุ่มวัย 20 ยิงกราดเสียชีวิต 20 ผู้ใหญ่รวมถึงครูใหญ่อีก 6 มือปืนยิงตัวเองตายทีหลัง) เกิดคำถามสำหรับคนข่าวว่าสมควรจะพยายามสัมภาษณ์เด็กที่เห็นเหตุการณ์หรือไม่?
ในภาพนี้จะเห็นนักข่าวทีวีสัมภาษณ์แม่ของเด็ก และยังขอให้เด็กเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นักข่าวซีเอ็นเอ็น Cooper Anderson ซึ่งรุดไปรายงานข่าวนี้ด้วยบอกผ่านทวิตเตอร์ว่าเขาจะไม่สัมภาษณ์เด็กเพราะเห็นว่าไม่เหมาะสมในบรรยากาศเช่นนี้ เพราะจะเท่ากับเป็นสร้างแรงกดดันเด็กเพิ่มขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม
แน่นอน นักข่าวบางคนอาจจะอ้างว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องสืบเสาะหาคนที่อยู่ในเหตุการณ์ทุกคนเพื่อรายงานเรื่องทั้งหมดให้ประชาชนทราบ จึงอาจจะจำเป็นต้องสัมภาษณ์เด็กด้วย
แต่ผมเห็นว่าไม่ควรอย่างยิ่งที่จะเอาไมค์จ่อปากเด็กเพื่อให้พูดว่าเห็นอะไรในที่เกิดเหตุ หรือมีความรู้สึกอย่างไร
หลักการทำข่าวอย่างนี้สำหรับผมก็คือจะต้องไม่สัมภาษณ์เด็กโดยเฉพาะ ณ ที่เกิดเหตุ เพราะในภาวะเช่นนั้นเยาวชนที่เรียนชั้นประถมหรือมัธยมคงตกอยู่ในสภาพช็อก จิตใจไม่อยู่ในสภาพปกติ แต่ต้องการมีคนปลอบใจหรือให้กำลังใจมากกว่าที่จะถูกนักข่าวซักถามรายละเอียดที่ก่อความรู้สึกตกอกตกใจก่อนหน้านี้ไม่นาน
ที่สำคัญคือจะต้องให้โอกาสพ่อหรือแม่เด็กไตร่ตรองให้ดีเสียก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะให้สัมภาษณ์หรือไม่ (ไม่ว่าจะเป็นสื่อหนังสือพิมพ์อย่างเดียวหรือทีวีด้วย)
หากนักข่าวต้องการได้เรื่องราวและความจริงที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์นั้น ๆ ก็ควรจะต้องรอให้อารมณ์ของผู้อยู่ในเหตุการณ์ (โดยเฉพาะพ่อแม่ของเด็กที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต) อยู่ในสภาพที่พร้อมจะพูดอย่างสมัครใจ
นักข่าวต้องตระหนักเสมอว่าในภาวะจิตใจที่เป็นทุกข์และสะเทือนใจอย่างหนักนั้น ความสามารถของผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่จะพิจารณาว่าอะไรควรพูดอะไรไม่ควรพูดนั้นมีจำกัด
ดังนั้น ถ้าคุณเป็นนักข่าวในสถานการณ์เช่นนี้ จะต้องถามตัวเองก่อนที่จะพยายามสัมภาษณ์พ่อแม่หรือเด็กว่า
๑. คุณกำลังซ้ำเติมความรู้สึกที่หวั่นไหวอยู่แล้วอย่างไรหรือไม่?
๒. ผู้รับสารจะประนามการกระทำของคุณต่อเหยื่อของเหตุการณ์หรือไม่?
๓. การสัมภาษณ์จะทำให้ได้อะไรเพิ่มเติมที่จะทำให้คนอ่านหรือคนดูของคุณเข้่าใจเรื่องราวดีขึ้นอย่างไรหรือไม่?
๔. ถ้าคุณอยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน, คุณจะอยากให้ลูกของคุณถูกสัมภาษณ์โดยนักข่าวอย่างนี้หรือไม่?
สำหรับผมแล้ว นักข่าวไม่มีสิทธิ์จะสัมภาษณ์เด็ก ๆ ที่กำลังได้รับความรู้สึกสะเทือนใจอย่างหนัก แม้ผู้ปกครองจะไม่ห้ามก็ตาม หรือแม้แต่เด็กเองบอกว่าพร้อมจะพูด หรือแม้นักข่าวจะอ้างว่าเด็กคนนั้น "ดูไม่มีปัญหาอะไร" เพราะคุณไม่มีทางรู้เลยว่าจริง ๆ แล้วเด็กจะรู้สึก "ปกติ" พอที่จะสนทนากับคุณเพื่อให้ออกข่าวไปสู่สาธารณะหรือไม่
หลักการง่าย ๆ ชัด ๆ สำหรับผมก็คือช่างภาพ, นักข่าวควรจะเคารพในสภาพจิตใจที่อ่อนไหวของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายโดยเฉพาะหากเป็นเด็กหรือเยาวชน
ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวสังกัดสื่อยุคดั้งเดิมหรือคนข่าวยุคดิจิตัลก็ตาม!

Tuesday, December 11, 2012

วิเคราะห์ความล้มเหลวของ The Daily ของเจ้าพ่อสื่อเมอร์ดอก

พอมีคำประกาศจากเจ้าพ่อสื่อรูเพิร์ท เมอร์ดอกว่า วันที่ 15 ธันวาฯนี้จะปิด The Daily ซึ่งเป็น "หนังสือพิมพ์แท็บเบล็ท" อ่านได้เฉพาะในแท็บเบล็ทและสมาร์ทโฟนเพราะไม่สามารถสร้างรายได้เพียงพอก็มีคำวิจารณ์ "เหตุแห่งความล้มเหลว" กันหลากหลายมากมาย
แน่นอนว่าการกระโดดเข้าสู่ "หนังสือพิมพ์ดิจิตัล" ของเมอร์ดอกเมื่อเกือบสองปีก่อนนั้นเป็นความเคลื่อนไหวที่สร้างความฮือฮาไม่น้อย
เพราะอย่างน้อยก็มีคนเชื่อว่าเจ้าพ่อสื่อคนนี้มีกระเป๋าหนักพอที่จะลองทำอะไรอย่างที่คนอื่นเขาไม่กล้าคิดจะทำเพราะไม่มีสายป่านยาวเพียงพอที่จะลองผิดลองถูกได้
แต่แม้จะมีทุนหนาเพียงใด, เมอร์ดอกก็เป็นนักธุรกิจ การขาดทุนต่อเนื่องโดยไม่เห็นโอกาสสร้างรายได้เพียงพอก็ไม่อาจจะอยู่ยืนยาวได้เช่นกันกัน
คำแถลงการณ์ของเจ้าพ่อวันประกาศปิด The Daily บอกว่า
"Unfortunately, our experience was that we could not find a large enough audience quickly enough to convince us the business model was sustainable in the long term. Therefore, we will take the very best of what we have learned at The Daily and apply it to all our properties..."
ซึ่งก็คือการยอมรับว่าแม้จะทุ่มทุนสร้างกองบรรณาธิการแยกออกมาพร้อมทีมบริหารแยกส่วนออกมา แต่ก็ไม่สามารถสร้างฐานสมาชิกที่พร้อมจะจ่ายเงินเพื่อรับข่าวและบทความรายวันทางแท็บเบล็ทได้เพียงพอ
ตอนที่เปิดตัว The Daily นั้นเสียงชื่นชมบอกว่าเมอร์ดอกกำลังทดลองกับสูตรที่จะรักษาสิ่งพิมพ์เอาไว้ นั่นคือการเอาเนื้อหาแบบสิ่งพิมพ์ใส่ในแท็บเบล็ท โดยไม่ต้องใช้กระดาษ ไม่ต้องมีสายส่ง ทุกอย่างอยู่ที่ปลายนิ้วสัมผัสของผู้บริโภคข่าวดิจิตัล
ความจริง The Daily ก็หาสมาชิกจ่ายเงินได้กว่า 100,000 ราย และมี unique readers ถึง 250,000 รายต่อเดือนในช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่สั้น ๆ นั้น
แต่กระนั้น ก็ยังขาดทุนปีละประมาณ 30 ล้านเหรียญ (900 ล้านบาท)
บทเรียนสำคัญจากความล้มเหลวของ The Daily มีมากมายหลายประการเช่น
๑. การจำกัดให้ต้องอ่านข่าวและบทความในอุปกรณ์ใดอุปกรณ์หนึ่งแม้จะเป็นดิจิตัลก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคข่าวยุคดิจิตัลที่สามารถเข้าถึงเนื้อหาข่าวได้ตลอดเวลาผ่านสื่อหลากหลาย
๒. ผู้บริโภคข่าววันนี้ต้องการที่จะแชร์ข่าวพอ ๆ กับรับรู้ข่าว
๓. The Daily เป็นรูปแบบนำเสนอที่ผิดพลาดตั้งแต่ต้นเพราะมองข้ามความจริงที่ว่าในยุคดิจิตัลนี้คุณต้องสามารถเข้าถึงผู้รับรู้ข่าวสารที่กว้างขวางผ่านแพลตฟอร์มทุกรูปแบบโดยไม่ต้องออกแบบแยกส่วนสำหรับสินค้าข่าวสารแต่ละตัว
๔. The Daily ออกแบบมาเพื่อให้ทุกคนต้องมาหาตนเพื่อจะได้ข่าวสารและเนื้อหาขณะที่ผู้คนต้องการมีเสรีภาพที่จะไปหา device ทุกรูปแบบตลอดเวลา
๕. คุณไม่สามารถสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมา ให้คนลองสี่สัปดาห์แล้วเก็บเงินค่าสมาชิก และขณะเดียวกันก็จำกัดรอยเท้าของเนื้อหาในอินเตอร์เน็ท และตั้งความหวังว่าจะมีคนพร้อมจะจ่ายสตางค์เพื่อซื้ออ่านทุกวัน
๖. ความล้มเหลวของ The Daily อาจจะมาจากมากกว่าหนึ่งสาเหตุเช่นอาจจะเป็นเรื่องของ platform หรือ business model หรือโครงสร้างเทอะทะของบริษัท News Corp
หรืออาจจะเป็นเพราะเนื้อหาที่ค่อนข้างจะจืดและตื้น
๗. หรืออาจจะสรุปได้ว่าความล้มเหลวมาจากการผสมปนเปของสาเหตุต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ อย่างละเล็กละน้อยก็เป็นไปได้ (รวมถึงชื่อ The Daily ที่ไร้เสน่ห์เอามาก ๆ)
นักวิเคราะห์คนหนึ่งสรุปอย่างน่าฟังว่า
"The Daily applied traditional media tactics to what could have been a revolutionary product. Pay walls, once-daily publishing and single-platform delivery were not good enough to compete in a marketplace full of new products that meet user needs and are properly suited to phones, tablets, laptops and desktops..."
แต่จะสรุปจากประสบการณ์ของ The Daily ว่าการเคลื่อนตัวเข้าสู่แท็บเบล็ทหรือสมาร์ทโฟนของเนื้อหาสาระแห่งสิ่งพิมพ์เป็นเรื่องไร้อนาคตโดยสิ้นเชิงก็เห็นจะไม่ได้
เพราะนิตยสารอย่าง Popular Mechanics และ The Economist หรือ The New Yorker ก็สามารถสร้างฐานสมาชิกได้อย่างน่าประทับใจบนแทบเบล็ทและสมาร์ทโฟนไม่น้อย
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมเชื่อว่าเรื่องของ Brand และการสร้างความสะดวกง่ายให้กับผู้บริโภคข่าวและสาระวันนี้คือเส้นแบ่งระหว่างความสำเร็จกับความล้มเหลวค่อนข้างแน่นอน
ผมยังเกาะติดการปรับเปลี่ยนสะท้ายโลกสื่อสารมวลชนนี้อย่างใกล้ชิดทุกนาทีครับ

Wednesday, December 5, 2012

ไม่มี "อนาคต" ของข่าวเพราะอนาคตคือ "วันนี้"

เรียงความยาว 122 หน้าโดยนักคิดนักวิเคราะห์สื่อสามคนของสหรัฐฯนี้วิพากษ์และเสนอทางออกให้กับ "วันพรุ่งนี้ของข่าว" อย่างน่าสนใจยิ่ง
เริ่มต้นด้วยคำนำที่ว่า "บทความนี้มิใช่การทำนายอนาคตของอุตสาหกรรมข่าวเพราะ 1. อนาคตคือปัจจุบันแล้ว และ 2. สิ่งที่เรียกว่า "อุตสาหกรรมข่าว" ไม่มีอีกต่อไปแล้ว
ข้อสรุปของบทความนี้มีหลายประเด็นที่คนข่าววันนี้จะต้องเก็บไปประเมินและปรับให้เข้ากับวิถีแห่งอาชีพของตน
๑. บทบาทของคนข่าวจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป...แต่จะสรุปว่าคนข่าว (journalist) ถูกทดแทนไปเสียทีเดียวก็คงไม่ถูกต้องนัก แต่ที่แน่ ๆ คือคนทำข่าวถูกโยกไปทำหน้าที่ที่ไม่เหมือนเดิม นั่นคือไม่ใช่เป็นผู้นำเสนอข่าวคราวที่เกิดขึ้น หากแต่เปลี่ยนบทเป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง, ตีความ, อธิบายความหมายของการหลั่งไหลของเนื้อหา, เสียง, ภาพ, วีดีโอที่สาธารณชนสาธารถผลิตได้ด้วยตนเองอย่างไม่หยุดยั้งตลอดวันตลอดคืน
๒. "ข่าว" มิอาจจะถูกเข้าใจว่าเป็น "สินค้าเบ็ดเสร็จ" ในตัวไม่ได้อีกต่อไป กองบรรณาธิการหรือห้องข่าวจำนวนมากยังติดอยู่ใน "กับดัก" ของระบบงานประจำวันที่ยังคิดว่าเป้าหมายสุดท้ายของงานของคนข่าวคือการทำข่าวเสร็จเป็นชิ้่น ๆ แล้วก็หมดหน้าที่สำหรับวันนั้น แต่วันนี้ คนข่าวพรุ่งนี้จะต้องสำเหนียกว่าสิ่งที่เรียกว่า "ข่าว" ในความหมายใหม่นั้นจะไม่มีขั้นตอนไหนที่เรียกว่า "ปิดข่าว" เหมือนที่ผ่านมา และจะไม่มีหนังสือพิมพ์รายวันหรือข่าวทีวีช่วงหนึ่งช่วงใดที่จะสามารถอ้างได้ว่า "วันนี้สรุปข่าวเรื่องนี้เพียงแค่นี้..." เพราะข่าวจะเคลื่อนไหวไปกับผู้บริโภคข่าวทุกนาทีทุกสถานที่และผ่านทุกเครื่องมือสื่อสาร ไม่ว่าคนที่มีอาชีพข่าวเองจะคิดว่าข่าวนั้น "จบ" สำหรับวันนั้นหรือไม่ก็ตาม
๓. ความสำคัญของข่าวไม่ได้หดหายไปไหน ความหมายของ "มืออาชีพข่าว" ที่ปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ไม่จำเป็นต้องหมดบทบาทไป สิ่งที่หมดไปก็คือกระบวนการข่าวแบบเดิม หรือความเชื่อเก่าว่าผู้บริโภคข่าวเป็นฝ่าย "ตั้งรับ" อย่างเดียว
สิ่งที่หายไปคือโลกที่ข่าวมาจาก "มืออาชีพ" แต่เพียงฝ่ายเดียวหรือที่บริโภคโดย "มิือสมัครเล่น" ที่ไม่สามารถผลิตเนื้อหาด้วยตนเอง หรือที่ไม่เรียนรู้วิธีการกระจายข้อมูลข่าวสารของตนเอง
เพราะ "ภูมิทัศน์" ของข่าวสารจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
๔. วิถีธุรกิจสื่อแบบเดิมเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว
แม้องค์กรสื่อจะพยายามหาทางเพิ่มรายได้ทุกวิถีทางเพื่อความอยู่รอด แต่แนวทางธุรกิจสื่อแบบศตวรรษที่ 20 ซึ่งสร้างกำไรอย่างสูงและต่อเนื่องให้กับเจ้าของกิจการจบสิ้นไปแล้ว อีกทั้งสิ่งแวดล้อมเดิมที่ผลิตผลพวงธุรกิจเช่นนั้นก็ไม่มีให้เห็นอีกต่อไป
๕. ข่าวด่วนข่าวเร็วไม่ได้เป็นทรัพย์สินเฉพาะของสื่อดั้งเดิมอีกต่อไปเพราะ platforms ต่าง ๆ สามารถทำหน้าที่กระจายข่าว breaking news พร้อม ๆ กับองค์กรข่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่แพ้กัน เพราะไม่มีสำนักข่าวใดจะแข่งกับทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊คในแง่ความเร็วและความกว้างได้อีกต่อไป
๖. "ความเปลี่ยนแปลง" เพิ่งจะเริ่มขึ้น ทุกอย่างจะปรับเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีและความต้องการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคมที่พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแห่งการปฏิสัมพันธ์หรือ engagement ในทุกบริบทของการสื่อสาร
๗. คำแนะนำสำหรับคนข่าวที่ต้องการจะปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงอันฉับพลันและรุนแรงคือ "เดินหน้าไปจนกว่าจะเข้าใจมัน" ดั่งที่มีผู้บริหารข่าวคนหนึ่งบอกกับคนที่คิดค้นการทำ news feed ในทวิตเตอร์ว่า
"ผมไม่ค่อยเข้าใจว่าคุณทำอะไรอยู่ แต่กรุณาทำต่อไป อีกหน่อยผมก็ต้องเข้าใจเอง..." แปลว่าคนข่าววันนี้แม้จะไม่แน่ใจว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่ก็รู้ว่าทิศทางนี้ถูกต้องแล้ว และจะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ จึงพยายามเดินหน้าไป ทำความเข้าใจกับสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ เพราะหากจะรอให้เข้าใจทุกอย่างก่อนแล้วจึงจะปรับตัว, ก็อาจจะสายไปเสียแล้ว
๘. กระบวนการผลิตข่าวจะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ คนข่าวอาชีพเต็มเวลาก็ยังมีความสำคัญอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ที่จะมาเสริมอย่างคึกคักคือ "นักข่าวพลเมือง" ที่มาในรูปของผู้อาสา, คนทำงานบางเวลา, และกระจายโดยคนที่ไม่ได้ถามว่า "อะไรเป็นข่าว?" แต่จะถามว่า "เพื่อนผมในโซเชียลมีเดียจะชอบเรื่องนี้ไหม?"
๙. ที่เป็นหัวใจของการโลกใหม่แห่งการสื่อสารก็คือความพร้อมและความมุ่งมั่นของคนข่าวที่จะ "ปรับตัว" ในทุก ๆ ทางเพื่อทำหน้าที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ตกขบวนรถด่วนที่เรียกว่า "พรุ่งนี้ของข่าว"
เพราะในท้ายที่สุดแล้วการทำหน้าที่เป็นคนข่าวที่มุ่งมั่นจริงจัง เน้นสาระที่เป็นสาธารณประโยชน์ มีจริยธรรมที่ได้มาตรฐานสากลยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสังคม
เพราะคนข่าวที่ดียังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสังคมที่มีคุณภาพและคุณธรรม
นี่คือสัจธรรมที่ปฏิเสธไม่ได้ และเป็นภารกิจที่คนข่าวที่รักอาชีพนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน