Sunday, September 16, 2012

USA Today ปรับตัว...ทำงานแบบวง orchestra ไม่ใช่ต่างคนต่างแสดง

ซ้ายมือเป็นหน้าหนึ่งเก่า ขวามือคือหน้าหนึ่งออกแบบใหม่....หนังสือพิมพ์ USA Today อายุ 30 ปีปรับตัวครั้งใหญ่ด้วยการดีไซน์หน้าตาทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และเว็บไซท์ให้มีสันสันตระการตาขึ้นเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเสพสื่อของคนอเมริกัน
อีกทั้งยังประกาศจัดโต๊ะข่าวให้เป็นลักษณะ "Convergent Newsroom" เพื่อให้คนข่าวสื่อสิ่งพิมพ์ต้องทำคลิบวีดีโอเหมือนกับที่เราเองต้องปรับตัวมาหลายปีแล้ว
จะว่าไปแล้ว USA Today ก็เพิ่งตื่นจากภวังค์เพราะหนังสือพิมพ์ยักษ์ของสหรัฐฯและยุโรปได้ลงมือปรับเปลี่ยนทั้งหน้าตาและระบบห้องข่าวกันขนานใหญ่มาแล้ว แต่อาจจะเป็นเพราะหนังสือพิมพ์ฉบับนี้มียอดขายเป็นอันดับสองรองจาก Wall Street Journal มาตลอด จึงยังพยายามต้านแรงกดดันที่ต้องเปลี่ยนแปลงมาตลอด
ความเปลี่ยนแปลครั้งนี้ทำให้หน้าตาของหนังสือพิมพ์ดูเหมือนเว็บไซท์ และเว็บไซท์ก็เหมือน iPad
ประธานของ USA Today ชื่อ Larry Kramer บอกว่าวันนี้ปรัชญาการทำงานของสื่อแห่งนี้เปลี่ยนไปแล้ว
"เราไม่ใช่แค่หนังสือพิมพ์ แต่เราเป็นบริษัทข่าวสาร" ("We are trying to think of USA Today not as a newspaper but as a news company")
ซึ่งผมคิดว่ายังปรับวิธีคิดไม่พอ เพราะแค่เปลี่ยนจาก newspaper เป็น news company ยังไม่พอที่จะยกเครื่องการทำงานครั้งใหญ่ได้ ต้องปรับให้เป็นองค์กรแห่งความรู้ยุคดิจิตัลเท่านั้นจึงจะอยู่รอดได้
เขาบอกว่าภายใต้แนวคิดการทำข่าวแบบใหม่นั้นจะให้นักข่าวที่เขียนรายงานสืบสวนสอบสวนระดับชาติประสานควบคู่ไปกับการทำข่าวระดับท้องถิ่นไปพร้อม ๆ กัน
เขาเรียกแนวทางทำงานแบบใหม่นี้ว่า "เป็นวงดนตรีออเคสตร้า...มิใช่แค่เครื่องดนตรีชิ้นใดชิ้นหนึ่งเท่านั้น" ("This has to be an orchestra. It can't be a single instrument anymore.")
ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นผลจากแรงกดดันทางธุรกิจอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะรายได้โฆษณาของ USA Today (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือบริษัท Gannett) ในไตรมาสที่สองหดตัวลง 8.1% และจะยังคงอ่อนตัวลงในไตรมาสที่สามอย่างต่อเนื่อง
คำถามก็คือว่าเพียงแค่เปลี่ยนหน้าตาจะช่วยแก้ไขสถานการณ์เสื่อมทรุดได้หรือไม่
เมื่อ USA Today เกิดตอน 30 ปีก่อน จุดขายสำคัญคือการให้ข้อมูลข่าวสารกับคนเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นพยากรณ์อากาศทุกรัฐ หรือรายงานท้องถิ่นจากทุกรัฐ...แต่วันนี้ผู้คนที่เดินทางสามารถที่จะได้ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้อย่างทันท่วงทีจากมือถือหมดแล้ว
รูปแบบการรายงานแบบ "หลอมรวม" หรือ convergent journalism สำหรับหนังสือพิมพ์ฉบับนี้คือการที่สามารถประสานกับทีมทำข่าวทีวีของเครือ Gannett ซึ่งมีนักข่าวรวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 5,000 คน (มีหนังสือพิมพ์ทั้งหมด 82 ฉบับ และทีวี 23 ช่องทั่วอเมริกา) ซึ่งสามารถจะทำงานร่วมกันให้ได้เนื้อหาทั้งสิ่งพิมพ์, คลิบวีดีโอและเสียงอย่างพร้อมมูลได้
ประเด็นอยู่ที่ว่าเขาจะสามารถสร้าง editorial conductors มากำกับการแสดงของ orchestra วงใหญ่นี้ให้สอดประสานเพื่อผู้ฟังผู้ชมผู้อ่านเชื่อในความเร็วและความลึกกับความโดดเด่นที่คนอื่นไม่มีให้หรือไม่
นี่คือตัวอย่างของการพยายามจะตั้งรับกับ "อนาคตของข่าว" อีกกรณีหนึ่งที่ต้องวิเคราะห์กันต่อไปอย่างต่อเนื่อง


No comments: