Sunday, September 23, 2012

การแสวงหาความจริงในยุค Social Media เฟื่องฟู

บางคนเชื่อว่าเนื้อหาในเครือข่ายสังคมหรือ Social Media มักจะเป็นข่าวลือข่าวปล่อยและข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ แต่ถ้าเข้าไปสัมผัสกับมันจริง ๆ จะเห็นอีกด้านหนึ่งของโซเชียลมีเดีย
นั่นคือมันกลายเป็นช่องทางตรวจสอบความผิดพลาด, แสวงหาข้อเท็จจริงและจับผิดคนพยายามจะปล่อยข่าวเท็จได้อย่างทันท่วงทีเช่นกัน
ท้ายที่สุดอยู่ที่ว่าคนข่าวจะใช้ Twitter, Facebook หรือ YouTube อย่างไรให้เป็นเครื่องมือรับใช้ผู้บริโภคอย่างแท้จริงและเข้าใจธรรมชาติของปรากฏการณ์ที่ผมเรียก "จัตุรัสข่าวสารสังคม" ในอินเตอร์เน็ทที่ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงวินาทีต่อวินาทีแล้วอย่างปฏิเสธไม่ได้
สมัยก่อน นักการเมืองหรือบุคคลสาธารณะคนไหนออกข่าวหรือแสดงความเห็นที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงอาจจะ "รอดตัว" ไปได้หลายวันก่อนที่ใครจะอ่านเจอในหนังสือพิมพ์ และมีคนที่รู้ข้อมูลที่ถูกต้องออกมาแสดงความเห็นแย้ง
แต่โลกไซเบอร์ทุกวันนี้ ไม่กี่นาทีที่นักการเมืองออกข่าวเรื่องใดที่ผิดเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็นจะถูก "แย้ง" ได้เกือบจะทันที
เว็บไซท์ของสหรัฐฯอย่าง FactCheck.org หรือ PolitiFact ประกาศตนเป็นผู้พร้อมจะ "จับผิด" นักการเมืองหรือสาธารณะบุคคลที่กล่าวอ้างข่าวสารหรือข้อมูลเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชน
จะว่าไปแล้ว นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีจำนวนบุคลากรและองค์กรที่มีบทบาทในการทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและค้นหาความผิดพลาดในข้อเท็จจริง (fact-checking and vertification) ในเวทีสาธารณะผ่าน Social Media
เพราะนี่คือยุคแห่งโลกใหม่แห่งข้อมูลข่าวสารล้นเหลือ ยุคแห่งการที่ข่าวสารได้รับการรายงานแบบ real time ตลอดเวลา และเป็นยุุคที่สมาร์ทโฟนมีกล้องถ่ายรูปดิจิตัลครบครัน พร้อมที่จะรายงานทุกเหตุการณ์ผ่าน social network ได้วินาทีต่อวินาที
บวกลบคูณหารข้อดีข้อเสียของโลกโซเชียลมีเดียวแล้ว ผมก็ยังยืนอยู่ข้างการเข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้เครือข่ายสังคมอย่างเต็มที่เต็มอัตราศึกอยู่ดี

No comments: