Monday, August 12, 2013

ไทม์เพิ่มฝ่ายผลิตสารคดีสั้น...เพื่อความอยู่รอดของสิ่งพิมพ์

นิตยสารไทม์ประกาศก้าวเข้าสู่การผลิตสารคดีดิจิตัลเพื่อเสริมเนื้อหาของตน...เป็นอีกก้าวหนึ่งของการปรับตัวของสื่อสิ่งพิมพ์สหรัฐฯ

ไทม์ไม่ได้บอกว่าจะทำทีวี เพียงแต่ต้องการให้คนข่าวของเขาทำสารคดีเพื่อจะได้เพิ่มเนื้อสาระสำหรับคนที่ต้องการจะเสพข่าวมากกว่าเพียงแค่ตัวหนังสือ นิตยสารรายสัปดาห์เก่าแก่ฉบับนี้จึงตัดสินใจตั้ง Red Border Films เพื่อฝึกให้คนข่าวสิ่งพิมพ์ก้าวข้ามอุปสรรคเก่ามาฝึกทำสารคดีบนแผ่นฟิล์มบน digital interative platform ที่เขาหวังว่าจะสามารถดึงให้คนอ่านยังอยู่กับตัวหนังสือและเข้าไปในเว็บไซท์เพื่อดูสารคดีสั้นได้

ผมดูสารคดีสั้นที่ใช้เปิดตัวสารคดีสั้นในหัวข้อ One Dream แล้วก็พอเห็นศักยภาพของคนข่าวไทม์เขียนสคริปท์, ถ่ายทำ, และตัดต่อเป็นสารคดีสั้นได้ในระดับหนึ่ง แต่จะยั่งยืนและผลิตสารคดีได้ต่อเนื่องอย่างไรยังเป็นคำถามที่ต้องแสวงหาคำตอบอยู่

คู่แข่งเก่าของ Time คือ Newsweek แปรสภาพจากสิ่งพิมพ์เป็นนิตยสารออนไลน์มาได้ระยะหนึ่ง และบัดนี้ถูกขายต่อไปอีกทอดหนึ่ง อนาคตดูมืดมนอย่างไรชอบกล...

Thursday, August 8, 2013

หรือเพราะปรับตัวสู่โลกดิจิตัลช้าไป?

ภาพนี้แสดงว่า Washington Post ปรับตัวสู่โลกดิจิตัลช้ากว่าสื่ออื่น ๆ...อันเป็นหนึ่งในสาเหตุที่เกิดภาวะอ่อนแอภายในจนตระกูล Graham ที่เป็นเจ้าของมายาวนานถึง 80 ปีต้องตัดสินใจขายให้กับเจ้าของสื่อดิจิตัลแนวหน้าอย่างเจ้าของ Amazon.com ...เป็นอีกหนึ่งบทเรียนของ legacy media ในภาวะที่ผมเรียกว่า "Perfect Storm" ซึ่งแปลว่าพายุร้ายกลางมหาสมุทรที่ถาโถมมาจากทุกทิศทาง กัปตันเรือและลูกเรือต้องปรับตัวและประสานงานกันตลอดเวลา หากไม่ขี่ "ยอดคลื่น" ก็ถูกทะเลบ้ากลืนหายไปเท่านั้นเอง

เมื่อเจ้าของ Amazon.com ซื้อ Washington Post

อะไรที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นได้, ก็เกิดขึ้นให้ได้เห็นในช่วงชีวิตอันสั้น ๆ ของคนแล้ว
ข่าวตระกูล Graham ขายหนังสือพิมพ์ Washington Post เก่าแก่ 80 ปีให้กับ Jeff Bezos เจ้าของ Amazon.com ทำเอาวงการสื่อทั้งโลกตื่นตะลึงพอสมควร
ความคิดแรกสำหรับบางคนอาจจะตีความว่าสื่อเก่าอย่างหนังสือพิมพ์ถูกสื่อดิจิตัลอย่างเว็บไซท์ขายของยึดครองเสียแล้ว
ความคิดต่อมาคือหากบีซอสที่ประสบความสำเร็จด้านโลกออนไลน์อย่างเกรียวกราวกล้าควัก 250 ล้านเหรียญ (ประมาณ 7,500 ล้านบาท) เพื่อเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงโดดเด่นด้านความกล้าหาญและขุดคุ้ยเรื่องอื้อฉาวระดับชาติอย่างนี้แล้ว, ก็ย่อมแปลว่าสื่อสิ่งพิมพ์ยังมีความหวังที่จะอยู่รอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันหนักหน่วงและรุนแรง
แปลว่าเจ้าของอะเมซอนเชื่อว่าตัวเองจะรักษาหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เอาไว้ได้อย่างน้อยอีกระยะหนึ่งทีเดียว
คนทำงานหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ที่ถือว่าเป็นสถาบันของวงการข่าวมายาวนานยอมรับว่าเมื่อได้รับทราบข่าวเรื่องนี้เช้าวันจันทร์ ปฏิกิริยาแรกคืออาการช็อก เพราะการเจรจาซื้อขายครั้งนี้เงียบกริบ ไม่มีข่าวแพร่งพรายออกมาก่อนแม้แต่น้อย
ประธานบริษัทคือ Donald Graham และกรรมการผู้จัดการซึ่งเป็นหลานสาวชื่อ Katharine Weymouth เรียกประชุมพนักงานทั้งหมดเพื่อประกาศข่าวนี้ หลายคนที่ทำงานมานานร้องไห้ อีกหลายคนตะลึงงัน
โดนัล แกรแฮมยอมรับว่าเมื่อเริ่มเจรจาพูดคุยเรื่องขายหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ตัวเองก็ช็อกเหมือนกัน แต่เมื่อคุยกับเจ้าของอะเมซอนคนที่คุ้นเคยและเป็นเพื่อนสนิทกันแล้ว ความรู้สึกก็เปลี่ยนไป
“หากยังอยู่เหมือนเดิม เราก็ยังเชื่อว่าวอชิงตันโพสต์จะอยู่รอดและทำกำไรได้ แต่เราต้องการทำอะไรมากกว่าเพียงแค่อยู่รอด ผมไม่ได้รับรองว่านี่จะประกันความสำเร็จได้ แต่มันทำให้เรามีโอกาสที่จะสำเร็จได้มากกว่าเดิม...” เขาบอก
นายบีซอสเองเขียนจดหมายถึงพนักงานวอชิงตันโพสต์เพื่อยืนยันว่าจะไม่ก้าวก่ายการบริหารวันต่อวัน
“ไม่ว่าจะเปลี่ยนเจ้าของหรือไม่ ก็หนีไม่พ้นความเปลี่ยนแปลงอยู่ดี แต่วอชิงตันโพสต์เป็นสถาบันที่สำคัญของสังคมอเมริกัน ผมไม่ได้ยืนยันว่าผมมีแผนสำหรับอนาคตที่เบ็ดเสร็จแล้ว เราคงต้องทดลองหลาย ๆ สูตร แต่สิ่งที่ผมรู้ว่าจะไม่ต้องเปลี่ยนคือคุณค่าของความเป็นวอชังตันโพสต์ หน้าที่ของหนังสือพิมพ์มีต่อคนอ่าน, ไม่ใช่เจ้าของ...”
เขาบอกว่าเขาจะยังทำงานอยู่ที่ “วอชังตันอีกแห่งหนึ่ง” (หมายถึงเมืองซีแอตเติล, รัฐวอชิงตัน, ไม่ใช่เมืองหลวงวอชิงตันอันเป็นที่ตั้งของสำนักพิมพ์วอชิงตันโพสต์) และจะให้ฝ่ายบริหารปัจจุบันทำหน้าที่ต่อไปเหมือนเดิม
ความสำเร็จของบีซอสในการสร้าง Amazon.com เป็นเว็บไซท์ขายปลีกสินค้าสารพัดชนิดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกทำให้เขาเป็นมหาเศรษฐีและพร้อมที่จะรองรับสภาวะเสี่ยงทางการเงินของวอชิงตันโพสต์ที่รายได้ตก 44% ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา  และยอดขายหนังสือพิมพ์ที่หดตัว 7% ในช่วงหกเดือนแรกของปีนี้
ตัว Amazon.com เองมีรายได้ก้าวกระโดดมาตลอด ปีที่แล้วรายงานรายได้กว่า 60,000 ล้านเหรียญหรือ 1,800,000 ล้านบาท
หรือเท่ากับเกือบ 3 เท่าของรายได้รวมของอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ทั้งประเทศสหรัฐฯ!
แต่กระนั้น ตัวเลขการเงินของอะเมซอนตอนสิ้นปีที่แล้วก็ยังเป็นตัวแดง แม้ว่าราคาหุ้นของบริษัทจะสูงโด่งเพราะนักลงทุนเชื่อมั่นว่าที่บีซอสทุ่มลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจของเขาจะกลับกลายมาสร้างรายได้มหาศาลในอนาคต
Amazon.com กระตุ้นความมั่นใจให้กับวงการนักลงทุนเพราะสร้างรายได้จากโฆษณาได้เกือบ 610 ล้านเหรียญหรือประมาณ 18,300 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา และคาดกันว่าจะโตขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 33% ในปีนี้
และหากเจ้าของอะเมซอนเชื่อว่าเขาสามารถจะปกปักรักษาสิ่งพิมพ์ที่มีประวัติศาสตร์อันโดดเด่นในฐานะสื่ออาชีพมายาวนานอย่าง Washington Post แล้วไซร้, ก็แปลว่าเขาพร้อมที่จะเล่นเกมยาวพอสมควรทีเดียว
ในฐานะที่ยังเชื่อมั่นในสื่อสิ่งพิมพ์และมีความหวังในสื่อดิจิตัลเต็มที่, ผมเชื่อในความมุ่งมั่นที่จะให้ Washington Post เสริมฐาน Amazon.com ของเขา

Sunday, August 4, 2013

โอกาสทองของผู้ผลิตเนื้อหา...สตรีมขึ้นจอทีวีตรงผ่าน Chrome!

คนทำทีวีอย่างผมเมื่อเห็นเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้คนสามารถดูคลิบวีดีโออย่างสะดวกดายในชีวิตประจำวันได้มากขึ้นทุกวันก็ย่อมตื่นเต้นที่จะผลิตเนื้อหาสาระที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคมมากขึ้นทุกเวลา
ล่าสุด Google ออก Chromecast มาสร้างความฮือฮารอบใหม่ เพราะเจ้าอุปกรณ์เล็ก (ขนาด 2 นิ้ว, หน้าตาเหมือน thumb drive)  ที่เห็นอยู่นี้สามารถช่วยให้คุณสตรีมเนื้อหาจากอินเตอร์เน็ททุกรูปแบบไปอยู่บนจอทีวีใหญ่ได้อย่างง่ายดาย
แค่มีเครือข่าย Wi-Fi เท่านั้น คุณก็สามารถใช้คอมพิวเตอร์, มือถือหรือแทบเบล็ทของคุณเป็นตัว remote control เพื่อโอนย้ายคลิบวีดีโอทุกอย่างบนอินเตอร์เน็ทขึ้นจอทีวีเพื่อนั่งดูให้เต็มหูเต็มตาอย่างสบายใจได้เลย
กูเกิลประกาศว่านี่คืออุปกรณ์ขนาดจิ๋วที่สะดวกถึงขั้น “…zero setup time, no learning curve, and one that works with all platforms and devices.”
แปลว่าไม่ต้องใช้เวลาติดตั้ง ไม่ต้องมีใครมาสอนว่ามีขั้นตอนการทำงานอย่างไร และทำงานกับทุกสื่อได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง
สนนราคาแค่ 35 เหรียญหรือประมาณ 1,000 บาทเท่านั้น
ณ วันนี้ เจ้า Chromecast สามารถสตรีมได้จาก YouTube, Google Play และ Netflix แต่กำลังจะขยายออกไปสู่ apps อื่น ๆ เช่น Pandora ในอนาคตอันใกล้
แน่นอนว่าอุปกรณ์ใหม่ของกูเกิลนี้เป็นการปะทะซึ่ง ๆ หน้ากับ Apple TV และกล่อง Roku ที่ทำหน้าที่เป็น Internet-on-TV solutions ซึ่งยังใช้กันจำกัดอยู่ที่คนจำนวนหนึ่งเท่านั้น
หากเจ้า Chromecast ทำงานได้ง่ายกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่า, ตลาดด้านนี้จะเปิดกว้างขึ้นอย่างคึกคักแน่นอน
เพราะอุปกรณ์ใหม่ชิ้นนี้ทำให้คุณไม่ต้องพึ่งพากล่องเคเบิลต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ เพราะมันไม่ได้สตรีมจากเครื่องแล็บท็อปของคุณไปยังจอทีวี แต่มันสามารถสตรีมตรงเข้าจอทีวีเลย ด้วยการเสียบเข้าไปใน HDMI port และสามารถใช้ได้กับทั้ง Android และ Apple iOs อีกด้วย
สิ่งที่จะตามมาสำหรับผู้บริโภคสื่ออย่างผมก็คือ
ผมจะดูเนื้อหาจากอินเตอร์เน็ทมากขึ้นกว่าเดิม เพราะมันง่ายกว่าเดิมเยอะ และจะดูในจอทีวีใหญ่ ซึ่งหมายความว่ารายการทีวีที่ผมจะดูผ่านจอทีวีจะไม่จำกัดเฉพาะที่เจ้าของสถานีทีวีกำหนดเท่านั้น ผมดูรายการจากอินเตอร์เน็ทได้ทุกเรื่องโดยที่ผมเป็นคนกำหนดและคลิกเองทั้งสิ้น
ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าเมื่อใช้เจ้าอุปกรณ์ของกูเกิลเพื่อดูคลิบได้จากที่ต่าง ๆ ในจอทีวีแล้ว กูเกิลก็จะรู้ว่าเราชอบดูอะไร และจะแนะนำให้เราดูอะไรบ้าง ซึ่งก็จะนำไปสู่การที่กูเกิลจะขายโฆษณาได้มากและหลากหลายยิ่งขึ้น
อีกด้านหนึ่ง กูเกิลก็จะมีโอกาสมากขึ้นในการเสนอขายรายการและหนังจาก Play Store ซึ่งเท่ากับเป็นการแข่งขันกับ Apple และ Amazon โดยตรงเช่นกัน
การดูทีวีก็จะไม่ใช่การที่เราต้องพึ่งพาตัวเครื่องหรืออุปกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งอีกต่อไป เพราะคนดูจะเป็นผู้กำหนดสิ่งที่ตนต้องการดู เช่นเริ่มดูที่ห้องหนึ่ง และดูต่อในอีกห้องหนึ่ง และสามารถดูต่อได้ขณะเดินทางบนแท็บเบล็ทเป็นต้น
ใครที่ต้องนำเสนอภาพและวีดีโอในการประชุมหรือสัมมนา ก็หยิบเจ้า Chromecast ไปด้วย สามารถใช้ทำงานได้อย่างสนุกสนานในทุกสถานที่และกาลเวลาทีเดียว
ทั้งหมดนี้คือโอกาสทองสำหรับผู้ผลิตเนื้อหาที่ไม่ต้องพึ่งพาเจ้าของสถานีทีวี (ที่เคยชินกับการผูกขาดและปฏิบัติต่อผู้ผลิตเนื้อหาเยี่ยงทาสมาหลายสิบปี) อีกต่อไป เพราะท่านสามารถส่งเนื้อหารายการของตนเข้าตรงถึงผู้บริโภคได้
สำหรับเครือเนชั่นที่เตรียมประมูลทีวีดิจิตัลอีกสองสามเดือนข้างหน้าพร้อมยุทธศาสตร์ “ห้าจอ” หรือ 5-Screen Strategy (จอทีวี, คอมพิวเตอร์, แทบเบล็ท, มือถือและเอาท์ดอร์) นั้น, นี่คือโอกาสทองที่จะสื่อตรงถึงผู้ชมหลายสิบล้านคนตลอดวันตลอดคืน
สอดคล้องกับแนวทาง Prime Time, All the Time อย่างเหมาะเจาะยิ่ง!