Saturday, June 2, 2012

คนข่าวต้องสร้าง 'นวัตกรรม' กระบวนการทำข่าว

ถ้า content คือ king ...distribution ก็ต้องเป็น queen แห่งวงการสื่อในยุคดิจิตัล เพราะเนื้อหาและการกระจายไปถึงผู้บริโภคจะต้องเดินเคียงคู่กันอย่างสนิทสนมแน่นแฟ้นอย่างชนิดที่พรากจากกันไม่ได้เป็นอันขาด

ซึ่งหมายความว่าวิธีทำงานของคนข่าวจะต้องเข้าสู่ยุคนวัตกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

การใช้เครื่องมือ (tools) และพัฒนาทักษะ (skills) ใหม่ ๆ ที่มากับยุคดิจิตัลกลายเป็น "ความจำเป็น" สำหรับคนข่าว มิใช่เรื่องที่เลือกจะ "เล่น" หรือ "ไม่เล่น" ก็ได้อีกต่อไป

บางคนบอกด้วยซ้ำว่าคนข่าวหนึ่งคนในยุคหน้า (ที่กำลังจะมาถึงในเร็ววันนี้) จะต้องสามารถทำงานได้เท่ากับนักข่าวในยุคเก่า 5 คนเพราะความคล่องตัวของคนข่าวยุคดิจิตัลมีสูงกว่าในอดีต

และที่ฟังแล้วน่ากลัวกว่าคือสื่อในสมัยใหม่จะไม่มีเงินมากพอที่จะมีทีมงานจำนวนมากมายเหมือนแต่ก่อนเก่าอีกต่อไป

คำว่า "นวัตกรรมกระบวนการทำข่าว" หรือ innovate the news-gathering process จึงกลายเป็นเรื่องที่จะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ เราจะพร้อมหรือไม่พร้อมก็ตาม

เว็บสังคมก็ไม่ต่างอะไรกับ "จัตุรัสสาธารณะ"ที่ใคร ๆ ก็สามารถผลิตเนื้อหาไปสู่ผู้บริโภคได้ด้วยคลิกเดียวเท่านั้น

องค์กรข่าวจะต้องปรับตัวด้วยการปฏิรูปห้องข่าวให้เป็น integrated, convergent newsrooms ที่ฝึกให้คนข่าวสามารถผลิตตัวหนังสือ, วีดีโอ, เสียง, กราฟฟิคอินเตอร์แอคทิฟ, applications, games และอื่น ๆ แล้วแต่ว่าเทคโนโลยีจะสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นอีกในวันข้างหน้า

หลายองค์กรข่าวที่ทันสมัยใช้วัดผลด้วย metrics เพื่อประเมินผลการทำงานว่ามีผู้คนสนใจและตอบสนองมากน้อยเพียงใด เพื่อจะสามารถปรับเนื้อหาและการนำเสนอให้สอดคล้องกับความต้องการอย่างฉับพลันทันที

บางแห่งเสนอพาดหัวสองอย่างให้ผู้บริโภคเลือกก่อนที่บรรณาธิการตัดสิน

ที่สำคัญกว่านั้นคือคนทำข่าวได้ปรับการกระจายเนื้อหาไปยังที่ ๆ คนอ่านคนดูและคนฟังหนาแน่นที่สุด

ซึ่งหนีไม่พ้นว่าจะเป็นในเครือข่ายสังคมและโทรศัพท์มือถือ หรืออะไรที่เคลื่อนที่ได้ตลอดเวลาในลักษณะ anywhere, anytime, anyhow

นั่นก็คือ social กับ mobile

การทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนในยุคนี้จึงหมายถึงการเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง มิใช่การแจ้งข่าวให้ทราบด้านเดียวอย่างที่เป็นไปหลายสิบปีอีกต่อไป

สื่อจึงต้องมองตัวเองมากกว่าเพียงแค่ผู้ผลิตเนื้อหาเท่านั้น แต่ยังเป็น platforms สำหรับเนื้อหาอีกด้วย

ก้าวต่อไปคือการทำตัวเป็น "เครือข่ายสังคมแห่งข่าวสาร" หรือ social network for news ที่จะทำหน้าที่เป็นคนเลือก, รวบรวม, ส่งต่อ, และแชร์กับคนอื่น ๆ ในแวดวงต่าง ๆ ด้วยที่เรียกว่า curator

นักข่าวจึงไม่ใช่แค่คนทำข่าวหรือ reporters แต่เป็น curator ด้วยเพราะบทบาท gatekeeper จะปรับเป็นผู้ประสานและกระจายข่าวสารและข้อมูลให้คนในสังคมให้กว้างขวาง, ทันควันและส่งเสริมให้แสดงความเห็นต่อเนื่องด้วย

มองย้อนกลับไปที่การเรียนการสอนวิชาสื่อสารมวลชน ก็จำเป็นต้องให้คนข่าวรุ่นต่อไปได้เรียนทั้งวิชา journalism และ computer science บางด้านที่เกี่ยวกับทักษะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อทำหน้าที่เป็น digital journalist ที่พร้อมจะสื่อสารผ่าน multiple platforms อย่างพร้อมทุกด้าน

วัฒนธรรมและลำดับชั้นของคนข่าวในห้องข่าวดิจิตัลจึงต้องปรับเปลี่ยนไปอย่างกว้างขวางและหนักหน่วง


No comments: