Monday, November 28, 2011
ตัวอย่างของจริง...พลังของ social media ในการทำข่าวสืบสวนสอบสวน
Paul Lewis นักข่าว Guardian เจ้าของรางวัลข่าวสืบสวนสอบสวนเล่าถึงการที่เขาใช้ social media โดยเฉพาะ Twitter ในการทำข่าว investigative reporting เพราะเขาเชื่อในพลังของ "นักข่าวพลเรือน" ในโลกยุคดิจิตัลที่ประชาชนทั่วไปมีกล้องมือถือและ tablets ที่เป็นอุปกรณ์ของการบันทึกภาพ, เสียง, วีดีโอและเขียนรายงานข่าวได้ในจังหวะและโอกาสที่นักข่าวอาชีพไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ
กรณีแรกคือชายคนหนึ่งชื่อ Ian Tomlinson ที่ตำรวจบอกว่าตายระหว่างการประท้วง "ด้วยสาเหตุธรรมชาติ" แต่มีเหตุอันน่าสงสัยทำให้นักข่าวคนนี้เข้าไปในทวิตเตอร์เพื่อถามว่า "มึใครเห็นเหตุการณ์นี้บ้างไหม? ถ้ามี, ช่วยติดต่อผมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกันหน่อย..."
ชายคนนี้ไม่ได้เป็นผู้ประท้วงด้วยซ้ำ เขาเพียงแค่เดินทางกลับบ้านจากที่ทำงานผ่านเส้นทางที่กำลังมีเรื่องประท้วงกันอยู่
คนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นมีหลายคน มีรูปในมุมต่าง ๆ แต่ไม่มีใครมีคลิบวีดีโอเด็ดเท่ากับนักการธนาคารอเมริกันคนหนึ่งที่บังเอิญวันนี้มีกล้องมือถือและผ่านไปในจุดที่เกิดเรื่องที่ลอนดอนพอดี
เขาอ่านเจอทวิตเตอร์ของนักข่าวคนนี้จากนิวยอร์ค จึงส่งคลิบนั้นมาให้ทางอินเตอร์เน็ท และเมื่อนักข่าวได้คลิบ และสืบสวนต่อเนื่องไป ก็ได้ความว่าที่ตำรวจแถลงก่อนหน้านี้ว่าชายคนนี้ตายด้วย "เหตุปกติ" นั้นเป็นเรื่องโกหก
คลิบของ "citizen reporter" คนนี้ยืนยันว่าเขาถูกตำรวจซ้อมจนตาย
อีกคดีหนึ่งเป็นคนอัฟริกา (Jimmy Mubenga,ผู้ลี้ภัยการเมืองจากแองโกล่า, พำนักที่ลอนดอน) ที่ตายบนเครื่องบิน เพราะเจ้าหน้าที่อังกฤษต้องการจะกักกันตัวเขา และเขาดิ้นสู้ ปรากฏว่าถูกควบคุมตัวบนเครื่องบินด้วยวิธีการที่ทำให้เขาหายใจไม่ออก พอเครื่องบินจอดก็กลายเป็นศพแล้ว
ตำรวจแถลงข่าวว่าเขาตาย "ด้วยเหตุปกติ" อีกเช่นกัน
นักข่าวคนเดียวกันนี้บอกว่าเมื่อได้ข่าวเรื่องนี้ก็มีความอยากรู้อยากเห็นว่าอยู่ดี ๆ ชายวัยกลางคนซึ่งดูมีสุขภาพปกติจึงตายได้ง่าย ๆ...เขาหันไปหาทวิตเตอร์อีกเช่นเคย ถามว่าใครอยู่บนเที่ยวบินนั้น ใครเห็นอะไรที่ผิดปกติกับชายคนนี้หรือไม่
ไม่กี่วันต่อมา เขาก็ได้รับโทรศัพท์จากชายคนหนึ่งที่อยู่บนเที่ยวบินนั้น เห็นวิธีการที่ตำรวจล็อกคอชายคนนั้น และเขาร้องตะโกนว่าหายใจไม่ออกอยู่หลายรอบ จนแน่นิ่งไป ซึ่งแปลว่าเขาตายเพราะการกระทำของตำรวจต่อหน้าผู้โดยสารคนอื่น
นักข่าว Paul Lewis ติดตาม "นักข่าวพลเมือง" คนนั้นเพื่อขอข้อมูลที่ละเอียด และเจาะไปถึงผู้โดยสารคนอื่นที่อยู่ในเที่ยวบินเดียวกันนี้เพื่อตรวจสอบข่าวให้ละเอียดรอบคอบถี่ถ้วน
ลงท้าย ด้วยการใช้ crowd sourcing หรือ "ปัญญาแห่งฝูงชน" ในการทำข่าวผ่าน social media ข่าวที่ปกติจะแสวงหาความจริงได้ยากยิ่งก็กลายเป็นเรื่องที่สามารถทำความจริงให้ประจักษ์ได้อย่างน่าอัศจรรย์
นี่คือพลังของ social media ในการส่งเสริมการทำข่าว investigative reporting อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด
Paul Lewis ยอมรับว่าข้อมูลและข่าวสารผ่าน Twitter และ Facebook นั้นมีไม่น้อยที่เป็นข่าวลือและข่าวปล่อยซึ่งนักข่าวอาชีพต้องแยกแยะให้ได้ ไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ใช้ social media ไปในทางที่ผิด
แต่ขณะเดียวกันเครือข่ายสังคมออนไลน์เหล่านี้ก็เป็นอาวุธทรงพลังในการช่วยให้คนทำข่าวสามารถเจาะเรื่องราวอย่างลุ่มลึกและกว้างไกลกว่าที่คนทำสื่อจะสามารถมาได้ก่อนหน้านี้อย่างวิเศษสุดเช่นกัน
Saturday, November 26, 2011
We the Media: เราต่างก็ล้วนเป็นสื่อสารแห่งมวลชนด้วยกันทั้งสิ้น
นี่เป็นหนังสือเล่มแรก ๆ ที่ผมอ่านเกี่ยวกับการปฏิวัติของวงการข่าวเมื่อหลายปีก่อน วันนี้ ผมหยิบมันขึ้นมาอ่านอีกครั้งก็ยังชื่นชมคนเขียน Dan Gillmor ว่าสามารถพยากรณ์ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของวงการสื่ออันมีสาเหตุมาจากการที่อินเตอร์เน็ทได้กลายเป็นปัจจัยหลักแห่งการปรับใหญ่ในประวัติศาสตร์รอบนี้
หนังสือเล่มนี้เริ่มด้วยการประกาศเป็นสัจธรรมว่าสื่อกระแสหลักยักษ์ ๆ ทั้งหลายได้สูญเสียอำนาจผูกขาดข่าวไปแล้วโดยสิ้นเชิง (ตอนนั้นสื่อส่วนใหญ่ยังเห็นว่าคำทำนายอย่างนั้น "เว่อร์" ไป)และบอกว่ารูปแบบการนำเสนอข่าวสารนั้นสามารถทำได้แบบทันท่วงที (real time) และไปสู่ผู้บริโภคข่าวทั่วโลกได้โดยฉับพลัน
คำว่า "We The Media" ที่เป็นชื่อหนังสือนั้นมีความหมายว่า "คนข่าวรากหญ้า" (grassroots journalists) รุ่นใหม่กำลังเกิดขึ้นมาแล้วเพราะอินเตอร์เน็ทได้ยื่นอาวุธที่ทรงพลังที่สุดให้กับประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน
เมื่อใครก็สามารถหาซื้อแล็บท็อป, โทรศัพท์มือถือ, และกล้องถ่ายรูปดิจิตัลได้อย่างสะดวกดาย "คนเหล่านี้ก็แปรสภาพจากคนอ่านมาเป็นนักข่าว" และแปรสภาพของข่าวจากเดิมที่เป็นเล็กเชอร์ (คนข่าวนำเสนอแต่เพียงฝ่ายเดียว) มาเป็นการสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างผู้คนในชุมชน
จาก lecture ของคนทำข่าวสู่คนรับสารมาเป็น conversation ของสังคมเกี่ยวกับทุกเรื่องราวที่มีความสำค้ญต่อความเป็นไปของบ้านเมืองที่เป็นของทุกคน
คนเขียนคือ Dan Gillmor เป็นทั้งคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ในโลกสื่อเก่าและเป็นคนเขียนบล็อก (blogger) ของยุคอินเตอร์เน็ทวิเคราะห์สถานการณ์แห่งข่าวสารแล้วสรุปว่านี่คือปรากฏการณ์ทีกำลังเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เป็นปรากฏการณ์แห่งความเปลี่ยนแปลงอันลุ่มลึกและกว้างขวางที่มีผลต่อการทำข่าวและบริโภคข่าวในอัตรารุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลย
คนเขียนเตือนว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจะมีผลกระทบต่อทุกคน เป็นนาฬิกาปลุกให้ตื่นจากภวังค์ต่อนักการเมือง, นักธุรกิจ, นักการตลาด, และแน่นอนนักสื่อสารมวลชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพราะอะไรที่เคยเป็นเรื่องที่ "ควบคุมได้" (control) จะกลายสภาพเป็นการ "เกี่ยวพันแลกเปลี่ยน" (engagement) ซึ่งแปลว่ากฎกติกามารยาทของเกมนี้ได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างรุนแรงยิ่ง
หนังสือเล่มนี้ส่งสารเตือนเป็นพิเศษถึงคนทำสื่อที่จะต้องปรับตัวขนานใหญ่ เพราะเมื่ออินเตอร์เน็ทก่อให้เกิดพาหนะใหม่ ๆ สำหรับการสื่อข่าวสารและเนื้อหาสาระเช่นนี้, หากพวกเขาปฏิเสธที่จะเปลี่ยน, ก็เท่ากับยอมรับสภาพของการเป็นคนล้าสมัยที่วันหนึ่งในไม่ช้าก็จะไร้บทบาทในสมการแห่งวงการสื่อสารมวลชนอย่างค่อนข้างแน่นอน
ดังนั้น สื่อแห่งศตวรรษที่ 21 จึงจะแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงจาก "สื่อกระแสหลัก" ที่เคยมีอำนาจและอิทธิพลในสังคมล้นหลาม
"We the Media" ขอสาดส่องแสงสว่างต่ออนาคตของสื่อ และเชิญชวนให้ทุกคนเข้าร่วมกระบวนการอันน่าตื่นตาตื่นใจนี้...
ผมพลิกไปดูหน้าแรก ๆ ของหนังสือเล่มนี้่...ตีพิมพ์ปี 2004 (แค่ 7 ปีก่อน) แต่ทุกอย่างก้าวกระโดดรวดเร็วและหนักหน่วงกว่าที่หนังสือเล่มนี้ทำนายเอาไว้ด้วยซ้ำ
อย่าลืมว่าตอนหนังสือเล่มนี้วางตลาดยังไม่มี 3G ไม่มี iPhone ไม่มี iPad และยังไม่มี Tablets ยี่ห้อต่าง ๆ ไม่มี iCloud ที่ทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์ยุคใหม่อีกก้าวหนึ่งในการทำลายโครงสร้างเก่า ๆ ของการสื่อความหมายระหว่างผู้คนในสังคมด้วยซ้ำ
Friday, November 25, 2011
เป็นคนข่าว, อย่าให้ใครเขาว่าคุณอย่างนี้เชียว!
เป็นไปได้ว่าหากคุณไม่ทำฝึกปรือตนเองให้มีเนื้อหาสาระและความสามารถในการคิดวิเคราะห์เนื้อหาข่าวและมุ่งมั่นทำหน้าที่อย่างรอบด้านเพื่อให้ผู้อ่าน, ผู้ฟัง, ผู้ชมของคุณได้ประโยชน์อย่างลุ่มลึกจากงานของคุณในฐานะคนข่าวยุคดิจิตัล, คุณก็อาจจะถูกวิจารณ์ว่าคุณไม่มีอะไรในสมองเท่าไหร่นัก...ไม่ใช่ปัญญาชน, ไม่ใช่นักเขียน, ไม่ใช่นักคิด,ไม่ใช่นักสื่อสารมวลชน, ไม่ใช่อะไรทั้งนั้น
เพียงแค่คุณมีอินเตอร์เน็ทเท่านั้น, อย่าได้กล่าวอ้างว่าเป็นคนข่าวอาชีพที่ทำงานเพื่อสาธารณชนเป็นอันขาด!
Wednesday, November 23, 2011
ปรากฏการณ์ Satire ในโลก Social Media ตอกย้ำอนาคตของข่าวที่แหลมคมยิ่ง
วิกฤติการเมืองและน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้กระตุ้นให้เกิดปรากฏการณ์แหวกแนวในแง่การนำเสนอความคิดอ่านในแง่วิพากษ์วิจารณ์ที่ออกแนว Satire หรือการเสียดสีประชดประชันที่แหลมคม, ดุเดือด, รุนแรง, อ่อนหวาน,นุ่มนวล, และอารมณ์ทุกรูปแบบก็ว่าได้
อีกทั้งเพราะมีเครื่องมือของ social media ทำให้ประชาชนคนทั่วไปสามารถแสดงความเป็น "นักวิจารณ์พลเมือง" ที่ออกมาในรูปภาพวาด, วีดีโอ, การ์ตูน,และสารพัดช่องทางที่หลากหลายอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในแวดวงของข่าวและการแลกเปลี่ยนความเห็น
สมัยหนึ่ง เราจะเห็นอารมณ์ Satire เช่นนี้เฉพาะในกลุ่มนักเขียน, คอลัมนิสต์, และการ์ตูนนิสต์การเมืองเท่านั้น แต่วันนี้ ยุคแห่งโลก New Media ที่ทุกคนล้วนสามารถแสดงออกซึ่งความสร้างสรรค์ในทุกอารมณ์ได้นั้น เราก็เห็นปรากฏการณ์ของ "ดอกไม้ร้อยดอกบานพร้อมกัน" อย่างน่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างยิ่ง
YouTube กลายเป็นแหล่งกลางของการเผยแพร่ "ศิลปะแห่งอารมร์แซทไทร์" เพื่อสะท้อนถึงความรู้สึกของผู้อยู่ในเหตุการณ์อย่างเกรียวกราว และความสามารถในการสร้างสรรค์มาจากจินตนาการของคนไทยทุกสาขาวิชาชีพอย่างเหลือเชื่อจริง ๆ
การใช้กล้อง, Photoshop, โปรแกรมตัดต่อ, และอุปกรณ์มือถือมากมายอย่างคล่องแคล่วของประชาชนทั่วไปได้ก่อเกิดความหลากหลายของ "ผลงานด้านอารมณ์" ที่เป็นรูปธรรมอย่างที่ผมเองก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อน
และนี่คือสิ่งท้าทายคนข่าวอาชีพที่เดินอยู่ในกรอบเดิม ไม่อาจจะจินตนาการว่า "มวลชน" ที่เผชิญกับความทุกข์, หงุดหงิด, และอัดอั้นด้วยตัวเองจริง ๆ นั้นสามารถสื่อความหมายผ่าน Satire ได้ถึงลูกถึงคนมากกว่าคนทำข่าวได้อย่างปฏิเสธไม่ได้เลย
ผลงานหลายชิ้นในลักษณะเสียดสีประชดประชัน ทั้งในฐานะปัจเจกและกลุ่มผู้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ด้านศิลปืแห่งการแสดงออกนั้นทำเอาคนทำสื่ออาชีพต้องตะลึงงัน เพราะจินตนาการแห่งการแสดงออกนั้นยิงตรงเข้าเป้าและสื่อสารอย่างไร้ความสงสัยใด ๆ
สำหรับผม, วีดีโอ Satire การเมืองและสังคมหลายชิ้นในช่วงนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอารมณ์คนหมู่มาก และอาจจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนโฉมการนำเสนอความเห็นในมวลหมู่ผู้คนร่วมสังคมที่ยังจะพัฒนาให้กว้างขวางและลุ่มลึกต่อไปได้อย่างน่าสนใจยิ่ง
Saturday, November 19, 2011
คนข่าวยุคดิจิตัลต้องสร้างตั้งแต่ระดับมัธยม
การสร้างคนข่าวรุ่นใหม่ที่สามารถใช้ทักษิณดิจิตัลและคิดอย่างลุ่มลึกแบบนักข่าวสืบสวนสอบสวนอาจจะต้องเริ่มตั้งแต่ชั้นมัธยม...เพราะหากปล่อยให้จบจากมหาวิทยาลัยภายใต้หลักสูตรเก่าและการสอนสั่งแบบโบราณ บุคลากรที่เราได้ก็จะยังเป็นคนข่าวแบบเก่า ๆ ที่เราจะหวังให้ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยแห่งข่าวดิจิตัลไม่ได้เลย
ภาพขัดแย้งที่เห็นชัดเจนในวันนี้คือการไหลบ่าของข่าวสารและข้อมูลอย่างท่วมท้น แต่การทำข่าวอย่างเจาะลึกและตรวจสอบผู้มีอำนาจที่เรียกว่า watchdog journalism กลับลดน้อยถอยลง หรือไม่ก็มีแต่รูปแบบ แต่ไร้เนื้อหาที่แท้จริง
ผมจึงคิดว่าเราจะต้องเริ่มสร้างคนข่าวรุ่นใหม่ตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น ด้วยการเขียนหลักสูตร "การทำข่าว" และ "อธิบายข่าว" ให้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ตั้งแต่เยาวชนของเราเริ่มสัมผัสกับข่าวผ่านสื่อต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามาหาตั้งแต่รู้ความ
ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในวิธีคิดนั้นหากปล่อยให้มาถึงระดับมหาวิทยาลัยและต้องเลือกวิชาสื่อสารมวลชนก็จะช้าไปเสียแล้วสำหรับการสร้างคนข่าวรุ่นใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องเรียนเฉพาะวิชาสื่อสารฯ แต่ควรจะสร้างความสามารถในการสื่อสารกับคนอื่นและสังคมทั่วไปด้วยการทำให้วิชา digital communications กลายเป็นวิชาบังคับในระดับมัธยม
เพราะในยุคสมัยที่กล้องมือถือ, แทบเล็ท, และอุปกรณ์การสื่อสารผ่าน social media มากมายย่อมเสริมส่งให้คนรุ่นใหม่ของเราสามารถคิดสร้างวิธีการนำเสนอความคิดและข้อมูลกับคนอื่นได้ด้วยวิธีการหลากหลายและกว้างขวางอย่างยิ่ง
ถ้าผมเป็นครูชั้นมัธยม ผมจะสอนให้นักเรียนใช้อุปกรณ์พื้นฐานถ่ายวีดีโอ, ภาพนิ่ง, ในการสัมภาษณ์ผู้คนในชุมชนท้องถิ่นเพื่อนำเสนอความเป็นไปรอบ ๆ ตัวเอง ให้ local news เป็นส่วนสำคัญของการสร้างความตื่นตัวในการแก้ปัญหาของสังคมรอบ ๆ ชุมชนโดยผ่านการทำหน้าที่เป็น "นักข่าวสมัครเล่น" หรือ "นักข่าวพลเมือง" ของคนทุกคนที่สามารถเข้าถึงและรู้ทัน social media ที่สามารตอบสนองความต้องการยกมาตรฐานของคุณภาพชีวิตของผู้คนในแต่ละชุมชนได้
หากผมมีหน้าที่สอนหนังสือตั้งแต่ระดับมัธยม, ผมจะสอนให้นักเรียนให้ห้องแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อทำรายงานในหัวข้อที่พวกเขาสนใจ ที่พ่อแม่ผู้ปกครองมีความเป็นห่วงใย และที่เป็นหัวข้อการสนทนาในสภากาแฟรอบ ๆ บ้าน ...โดยให้เยาวชนเป็นหัวหอกในการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวและสนใจใน "ความเป็นไป" ของสังคมท้องถิ่นผ่านความสามารถในการรายงานข่าว, สื่อสารเพื่อมวลชนและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง
ผ่านความเป็น digital information society สมัยใหม่...ที่ต้องเริ่มตั้งแต่บทที่หนึ่งของวิชา "หน้าที่พลเมือง" กันทีเดียว
Thursday, November 17, 2011
คุณเชื่อสื่อไหนมากกว่า?
http://www.mediabistro.com/10000words/pbs-study-british-trust-tv-more-than-newspapers_b8441
เกิดอะไรขึ้นเมื่อสังคมลดความเชื่อถือสื่อดั้งเดิม? ผู้คนหันไปหาข่าวสารและข้อมูลออนไลน์มากขึ้นเพื่อแสวงหาสิ่งที่พวกเขาและเธอเชื่อได้มากกว่าหรือไม่? เช่นเข้าไปใน Facebook หรือ blogs ต่าง ๆ ที่ดูเหมือนจะมาทดแทนบทบาทของสื่อหนังสือพิมพ์,ทีวีและวิทยุอย่างกว้างขวางในช่วงหลังนี้?
อย่างน้อยที่อังกฤษ, คำตอบไม่ใช่เช่นนั้น...PBS (Public Broadcasting Service) หรือ "บริการสื่อสาธารณะ" ของอังกฤษขอความเห็นจากคนอังกฤษ 1,108 และคนอเมริกัน 1,095 คนในหัวข้อนี้ สรุปว่ากรณีการดักฟังโทรศัพท์ที่สื่อหนังสือพิมพ์บางคนใช้เป็นวิธีการหาข่าวนั้นสร้างความเสื่อมในความน่าเชื่อถืออย่างรุนแรง
รุนแรงถึงขั้นที่ 58% ของคนที่อยู่ในข่ายถูกสำรวจตอบว่าพวกเขาและเธอได้หมดศรัทธาในสื่อหนังสือพิมพ์แล้ว
ที่น่าแปลกใจคือ 64% ของคนอังกฤษที่ตอบคำถามในการสำรวจครั้งนี้บอกว่าในบรรดาสื่อสารมวลชนทั้งหลาย, พวกเขาและเธอมีความเชื่อในโทรทัศน์มากที่สุด และสื่อวิทยุได้รับความน่าเชื่อถือเป็นอันดับต่อมาที่ 58%
การสำรวจรอบนี้ที่อังกฤษพบด้วยว่าเพียง 15% เท่านั้นที่เห็นว่า Twitter กับ Facebook เป็นแหล่งที่จะพึ่งพาได้ในการตรวจสอบว่าอะไรน่าเชื่อถือกว่ากัน และร้อยละ 10 เท่านั้นที่เชื่อถือ blogs มากกว่าสื่ออื่น
แต่คนอเมริกันที่ตอบคำถามนี้มีความเห็นแตกต่างออกไป ร้อยละ 44 เชื่อหนังสือพิมพ์ และ 42% เชื่อสื่อโทรทัศน์กับนิตยสารขณะที่ social media ได้ 19% และ blogs ได้ 18%
ผมประเมินว่าถ้าสำรวจคนไทยในยามนี้ก็จะได้ลำดับความเชื่อในสื่อเก่าและสื่อใหม่ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง...และความขัดแย้งในสังคม ประกอบกับอิทธิพลของสื่อใหม่, social media และวิทยุท้องถิ่นจะแย่ง "ความน่าเชื่อถือ" กันเป็นพัลวันอย่างแน่นอน
Sunday, November 13, 2011
คนข่าวต้องให้สาธารณชนมองทะลุฝ่ามือแห่งอำนาจ
เห็นภาพนี้ทำให้ผมคิดถึงบทบาทของคนข่าว ไม่ว่าจะเป็นยุคก่อนเก่าหรือยุคดิจิตัลในวันข้างหน้า
ผู้มีอำนาจจะพยายามปิดหูปิดตาประชาชนเสมอเมื่อไม่ต้องการให้ความจริงปรากฏต่อสาธารณชน แต่หน้าที่ของคนข่าวที่มีอุดมการณ์และหลักการแห่งวิชาชีพจะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้คนสามารถมองทะลุมือที่ผู้ปกครองประเทศจงใจจะมาวางปิดทับเอาไว้
ดังนั้น ไม่ว่ามือแห่งอำนาจจะใหญ่เพียงใด จะจงใจปิดบังซ่อนเร้นข้อมูลข่าวสารอันน่ารังเกียจอย่างไร คนทำข่าวที่มีจริยธรรมก็จะใช้ความเป็นมืออาชีพที่ได้รับการฝึกฝน ไม่ว่าจะตามหลักแห่งการทำงานแบบเก่า หรือการใช้สื่อใหม่ทุกรูปแบบเพื่อให้สายตาของประชาชนสามารถมองผ่าน "ฝ่ามืออำมะหิต" ของผู้ต้องการจะใช้ฝ่ามือมาปิดฟ้า
คนทำข่าวต้องยืนยันว่าไม่มีมือแห่งความชั่วร้ายใดจะสามารปิดบังสัจธรรมแห่งสังคมได้
Saturday, November 12, 2011
คุณเลือกอาชีพคนข่าวด้วยเหตุผลอันใดหรือ?
"เราเป็นคนข่าว เราภาคภูมิใจในสิ่งที่เราทำ เราเซ็งกับคนที่มองคนข่าวในแง่ลบ เราต้องการผลิตผลงานที่มีคุณภาพเพื่อให้สังคมดีขึ้น..."
นี่เป็นคำประกาศในบล็อก Tumblr ที่คนข่าวนัดหมายกันมาเขียนระบายความรู้สึกว่าทำไมเขาและเธอจึงตัดสินใจเลือกวิชาชีพของการเป็นคนข่าวหรือช่างภาพ
ผมเชื่อว่าคนข่าวไทยอ่านแล้วก็คงจะมีความรู้สึกร่วมในความเป็นนักวิชาชีพ, ในความมุ่งมั่นที่จะเปิดโปงสิ่งชั่วร้ายในสังคม, ในความเด็ดเดี่ยวที่จะเอาความจริงมาเปิดเผยต่อสาธารณชน และในอุดมการณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงให้สังคมโดยส่วนรวมน่าอยู่กว่าที่เป็นอยู่
ช่างภาพคนหนึ่งเขียนในบล็อกนี้ว่า
"บางคนบอกว่าการเข้ามาเป็นคนข่าวเป็นการเสียสละ เปล่า, ผมไม่คิดว่านั่นคือความเสียสละ แต่ผมเชื่อว่ามันเป็นการตัดสินใจเลือกเส้นทางนี้
ของผม เพราะผมเชื่อว่ากล้องของผมเป็นเครื่องมืออันทรงค่ายิ่งในการต่อสู้กับความอยุติธรรม รูปบางรูปที่ผมถ่ายช่วยเปิดโปงความเลวร้ายของโรงเรียนดัดสันดานเด็กแห่งหนึ่ง และทำให้ทางการสั่งปิดเพราะการกระทำที่ผิดกฎหมาย นั่นเป็นบทบาทเล็ก ๆ ที่ผมมีความภาคภูมิใจว่าผมได้มีส่วนช่วยสังคมกำจัดความไม่ถูกต้อง ตอนนี้ผมอายุ 30 ผมหวังว่าเมื่อผมอายุ 60 ผมก็จะยังทำหน้าที่นี้อย่างตรงไปตรงมาและด้วยความภาคภูมิใจเช่นวันนี้...เพราะผมเป็น Photojournalist..."
อีกคนหนึ่งบันทึกว่า
"ผมยอมเลิกชีวิตสังคมบางอย่างเพื่อทำหน้าที่เจาะข่าวเพื่อให้สาธารณชนได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับรัฐบาลของพวกเขา ผมยอมสละความเห็นส่วนตัวของผมเพราะผมเชื่อว่าประชาชนทั่วไปต้องการได้ข้อมูลข่าวสารที่แม่นย้ำและไร้อคติ บางวันแทนที่ผมจะนั่งกินข้าวเที่ยง, ผมกลับใจจดใจจ่อกับรายละเอียดของกฎหมายว่าด้วยผังเมืองเพื่อเจาะข่าวที่มีความสำคัญต่ออนาคตของเมืองของผม...บางทีผมนั่งเขียนข่าวสืบสวนสอบสวนที่สลับซับซ้อน มีคนสนใจจะอ่านไม่มาก แต่ผมเชื่อว่านี่คืออาชีพที่เตือนเหล่าบรรดานักการเมืองว่าไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไร, จะมีคนคอยเฝ้าติดตามและตรวจสอบเสมอ...คิดได้แค่นี้ผมก็ภาคภูมิใจกับอาชีพนี้พอสมควรแล้ว...ผมเป็นนักข่าวสายเทศบาลเมืองครับ"
คนข่าวอีกคนหนึ่งเขียนว่า
"ฉันเป็นนักข่าวสาย data investigative reporting ฉันชอบตรวจสอบข้อมูลเพื่อให้คนที่มีตำแหน่งสาธารณะต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจและการกระทำของตัวเองต่อประชาชน ฉันชอบทำความจริงให้ประจักษ์ ฉันคือคนข่าว"
"
Sunday, November 6, 2011
ใคร ๆ ก็เป็น publisher ได้
แต่ก่อน, ใครก็เป็น "นักข่าว" ได้เมื่อคำว่า "นักข่าวพลเรือน" ได้รับการขยายผลเพื่อเปิดทางให้ "มวลชน" ที่มีอุปกรณ์มือถือสามารถส่งภาพ, วีดีโดและรายงานข่าวที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวได้ เพราะ social media เป็นเครื่องมือที่สะดวกคล่องแคล่ว และมุมมองของผู้บริโภคข่าวก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าผู้ทำข่าวอาชีพ
การขยายตัวของ "citizen journalists" จึงกลายเป็นปรกาฏการณ์ที่นับวันจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น และคนข่าวอาชีพจะต้องปรับปรุงบทบาทตนเองให้ทำข่าวลักษณะสืบสวนสอบสวนและตรวจสอบการทำงานของผู้มีอำนาจให้ถ้วนถี่และลุ่มลึกกว่าเพียงแค่รายงานว่าใครทำอะไรที่ไหนเมื่อไหร่เท่านั้น
วันนี้ มีแนวทางใหม่ให้ใคร ๆ ก็เป็น publisher หรือผู้คัดเลือกเนื้อหาและข้อมูลที่น่าสนใจในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งเพื่อนำเสนอต่อคนอื่นผ่านอินเตอร์เน็ท
Scoop.it เป็นหนึ่งในโปรแกรมที่ต้องการสนองความต้องการนี้เพื่อต่อยอดวิวัฒนาการ "อนาคตของข่าว" อีกมิติหนึ่งที่ควรแก่การติดตามต่อไปสำหรับคนข่าวอาชีพทุกคน
Tuesday, November 1, 2011
E-book Best-sellers มาแล้ว
ผมทำนายว่าอีกไม่นาน เมืองไทยเราคงจะได้เห็น "หนังสืออีเลคทรอนิคส์" (E-books)ขายดีประจำสัปดาห์เหมือนที่มีรายงานหนังสือขายดีประจำอาทิตย์ที่เราคุ้นเคย
เพราะ E-books จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนจำนวนหนึ่งและจะค่อย ๆ ขยายวงออกไปเมื่อคนอ่านคุ้นชินกับการอ่านหนังสือจากอุปกรณ์การอ่านตั้งแต่มือถือไปถึงแทบเบล็ทที่เพิ่งจะเริ่มเป็นที่นิยมของคนบางกลุ่ม
หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal เพ่ิ่งประกาศว่าจะเริ่มประกาศ "E-book best-sellers" ประจำสัปดาห์ตั้งแต่สุดสัปดาห์นี้เป็นต้นไป
ความจริง, รายชื่อหนังสืออีบุ๊คส์ขายดีประจำสัปดาห์ตีพิมพ์ใน The New York Times และ USA Today ตั้งแต่ต้นปี แต่มิติที่น่าสนใจกว่านั้นคือ Nielsen ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจยอดขายหนังสือพิมพ์มานมนานจะเริ่มได้รับสถิติยอดขายอีบุ๊คส์จากสำนัก E-books ยักษ์ใหญ่เช่น Amazon, Apple, Google และ Barnes & Noble เป็นครั้งแรกในเร็ว ๆ นี้
ซึ่งก็ถือว่าเป็นการเปิดเผยข้อมูลด้านนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน, เป็นการเปิดมิติใหม่ของ digital publishing ที่ผมเชื่อว่าจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการอ่านประจำวันของคนในสังคมโลก
วันนี้อาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับไทย แต่ผมเชื่อว่าอีกไม่ถึงห้าปี แนวโน้มอีบุ๊คส์จะติดตลาดไทยอย่างไม่ต้องสงสัย
Subscribe to:
Posts (Atom)