อยู่ดี ๆ หนังสือพิมพ์ Chicago Sun-Times ของสหรัฐฯก็ประกาศโล๊ะช่างภาพประจำทั้งหมด 28 คน สร้างความตื่นตะลึงให้กับช่างภาพมืออาชีพไปทั่วโลกกันทีเดียว
เพราะการตัดสินใจเช่นนั้นเป็นการตอกย้ำความกลัวที่มีมาระยะหนึ่งแล้วว่าหลายตำแหน่งให้ห้องข่าวอาจจะกำลังถูกประเมินใหม่เพื่อความอยู่รอดของสิ่งพิมพ์ที่กำลังดิ้นรนเพื่อลดค่าใช้จ่ายในขณะที่รายได้จากโฆษณาและการขายหนังสือพิมพ์ร่วงหล่นลงมาตามลำดับ แม้ว่าสถิติล่าสุดจะยังยืนยันว่าหนังสือพิมพ์ในซีกตะวันออกของโลก (เอเซียเป็นหลัก) ยังมีอัตราโตได้ขณะที่ทางตะวันตกกำลังถูกระหน่ำด้วยสื่อดิจิตัลอย่างต่อเนื่องเช่นกราฟฟิกจากนิตยสาร The Economist ล่าสุดที่บอกว่า "สื่อสิ่งพิมพ์เหมือนดวงอาทิตย์...ขึ้นทางตะวันออก และตกทางตะวันตก"
หนังสือพิมพ์ Chicago Sun-Times อธิบายว่าที่ต้องปลดช่างภาพประจำออกก็เพื่อหันไปให้ความสำคัญกับการสร้างเนื้อหาที่เป็นวีดีโอที่ไปกับข่าว และเพื่อที่จะสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อ่านให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ก็จะต้องปรับวิธีการบริหารสื่อหลากหลาย รวมถึงการทำงานด้านภาพ
แถลงการณ์ของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้บอกว่า:
"The Sun-Times business is changing rapidly and our audiences are consistently seeking more video content with their news. We have made great progress in meeting this demand and are focused on bolstereing our reporting capabilities with video and other multimedia elements. The Chicago Sun-Times continues to evolve with our digitally savvy customers, and as a result, we have had to restructure the way we manage multimedia, including photography, across the network..."
วิธีการทดแทนช่างภาพที่หายไปจากห้องข่าวของเขาก็คือการฝึกนักข่าวให้ใช้ iPhone เพื่อถ่ายรูปแทนช่างภาพที่หายไป
บรรณาธิการบริหาร Craig Newman เขียนบันทึกถึงคนข่าวที่เหลืออยู่ว่า
"In the coming days and weeks, we'll be working with all editorial employees to train and outfit you as much as possible to produce the content we need."
แน่นอนว่านโยบายเช่นนี้ย่อมได้รับเสียงคัดค้านต่อต้านจากช่างภาพอาชีพจำนวนหนึ่งที่นั่งยันยืนยันว่าการใช้นักข่าวหรือช่างภาพเฉพาะกิจที่เรียกว่า "ฟรีแลนซ์" มาทดแทนช่างภาพอาชีพที่ได้รับฝึกปรือและสั่งสมประสบการณ์มาช้านานนั้นย่อมเป็นหนทางที่ผิดพลาดเพราะความละเอียดอ่อนของช่างภาพอาชีพย่อมไม่อาจจะทดแทนโดยนักข่าวที่เพียงแค่กดปุ่มถ่ายภาพจากกล้องมือถือเท่านั้น
นั่นคือประเด็นของการถกเถียงที่คงจะต้องดำเนินต่อไป อยู่ทีว่าคุณยืนอยู่ตรงไหนของ "สี่แยกแห่งความเปลี่ยนแปลงอันหนักหน่วงและรุนแรง" แห่งนี้
แต่เมื่อผู้บริโภคข่าวสารข้อมูลต้องการข้อมูลข่าวสารที่เป็นวีดีโอมากขึ้น และภาพนิ่งมีการใช้ที่จำกัด หรือค่าใช้จ่ายในการบริหารห้องข่าวมีสูงกว่ารายได้ของสื่อสิ่งพิมพ์ การตัดสินใจของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับตัวอีกรอบหนึ่งในห้องข่าวส่วนอื่น ๆ ของโลกก็ได้
ในห้องข่าวหลอมรวม Convergent Newsroom ของเครือเนชั่นได้มีการปรับตัวมาระยะหนึ่งแล้ว นั่นคือการฝึกให้ช่างภาพหนังสือพิมพ์เรียนรู้ทักษะการถ่ายวีดีโอควบคู่กับการทำงานประจำ อีกทั้งยังเปิดการฝึกสอนวิธีการตัดต่อและการรายงานภาพและข่าว breaking news ผ่านสมาร์ทโฟนได้อย่างคล่องแคล่ว
ผู้ที่ปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้คือผู้ที่ไม่ต้องเผชิญกับชะตากรรมที่เราเห็นอยู่รอบ ๆ ตัวเราขณะนี้, ไม่ว่าจะเป็นห้องข่าวที่สหรัฐฯ, ยุโรป, เอเซียนหรือรอบ ๆ บ้านเราก็ตาม