บีบีซีมีประเด็นถูกวิจารณ์ว่าใช้นักศึกษาเป็น "โล่มนุษย์" ในการซ่อนตัวไปทำข่าวเกาหลีเหนือ (นักข่าว John Sweeney เปิดหน้าในรายงานพิเศษ) เพราะไม่บอกกล่าวกันให้ชัดเจนก่อนจะ "ปฏิบัติการลับ" ครั้งนี้
เรื่องของเรื่องคือนักข่าวบีบีซีคนนี้, กับภรรยาและ producer อีกคนหนึ่งของสารคดีชื่อดัง Panorama เข้าไปเกาหลีเหนือกับนักศึกษาจาก London School of Economics 10 คน
ทีมข่าวบีบีซีอ้างว่าได้แจ้งกับคณะนักศึกษาชุดนี้แล้วว่าจะแอบถ่ายทำสารคดีชุดนี้โดยทำเสมือนหนึ่งว่าเป็นส่วนหนึ่งของคณะนักศึกษา
นักศึกษาบางคนบอกทีหลังว่าทีมข่าวบีบีซีไม่ได้พูดชัด ๆ อย่างนั้น หรือบอกแต่ไม่ได้บอกทุกคน ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจได้ถูกต้องว่าจะยอมเป็น "เครื่องมือ" หรือ "เกราะกำบัง" ให้กับทีมข่าวหรือไม่
มารู้อีกทีก็เมื่อถ่ายทำเสร็จแล้ว จึงเรียกร้องขอให้บีบีซีระงับการออกอากาศสารคดีชุดนี้เพราะทางมหาวิทยาลัยเห็นว่าบีบีซีได้ละเมิดความน่าเชื่อถือของนักศึกษาในเรื่องนี้
แต่บีบีซียืนยันว่าจะออกอากาศอยู่ดีเพราะถือว่า "สิทธิของการรับรู็ข่าวสารของประชาชน" สำคัญกว่าประเด็นที่ทางมหาวิทยาลัยยกขึ้นมาวิจารณ์บีบีซี
ผู้อำนวยการของ LSE บอกว่าการกระทำของนักข่าวบีบีซีเช่นนี้สุ่มเสี่ยงกับการที่เจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือรู้เข้า และจับกุมนักศึกษาทั้งคณะในฐานะเข้าประเทศอย่างซ่อนเร้น
หนึ่งในนักศึกษาอายุเพียง 18 ปี หากเกิดเรื่องเกิดราวก็อาจจะถูกจับขังเดี่ยวในคุกเกาหลีเหนือที่ปกครองด้วยระบบเผด็จการอยู่ขณะนี้ โดยเฉพาะในขณะที่มีความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้และสหรัฐฯเรื่องการทดลองขีปนาวุธอยู่ด้วย
นักเรียนบางคนบอกว่าไม่รู้ว่านอกจากนักข่าวคนนี้แล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่บีบีซีอีกสองคนที่ไปร่วมคณะที่ปักกิ่งก่อนบินไปเปียงยาง
นักศึกษาสามคนในคณะได้ร้องเรียนต่อบีบีซีว่าหากเอารูปพวกเขาออกอากาศจะมีความเสี่ยงต่อชีวิตของพวกเขาได้ บีบีซียอมใช้เครื่องมือปิดหน้านักศึกษาเหล่านี้
แต่ผู้อำนวยการของมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งนี้บอกว่าเหตุการณ์นี้จะมีผลกระทบทางลบต่องานวิชาการในประเทศต่าง ๆ อย่างมาก
ผมเห็นว่าบีบีซีพลาดอย่างจังที่ไม่ขอความเห็นชอบจากทางนักศึกษาและมหาวิทยาลัยก่อนที่จะใช้วิธี "รายงานอำพราง" อย่างนี้ทั้ง ๆ ที่โดยหลักของการทำข่าวลักษณะนี้จะต้องมีความโปร่งใสชัดเจนและตรงไปตรงมากับคนที่เกี่ยวข้อง
โดยเฉพาะหากมีความเป็นไปได้ว่าคนที่ร่วมคณะและไม่ได้เป็นพนักงานของสำนักข่าวนั้นอาจจะตกอยู่ในภาวะเสี่ยงกับอันตรายเช่นกรณีเกาหลีเหนือนี้
งานนี้ผมเชื่อว่า BBC ต้องขอโทษ LSE อย่างเป็นทางการและต้องแก้ไขวิธีการทำงานทำนองนี้ในอนาคตให้เรียกฟื้นความน่าเชื่อถือให้ได้
กิ้งกือตกท่อได้จริง ๆ