Tuesday, October 30, 2012

นี่คือ "social media election" อย่างแท้จริง

ไม่เพียงแค่การรายงานข่าวจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการใช้โซเชียบมีเดียอย่างกว้างขวางเท่านั้น การเมืองวันนี้ก็โยงใยกับทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กอย่างเหนียวแน่น
การเลือกตั้งสหรัฐฯรอบนี้ก็ชี้ชัดว่า social media มีบทบาทกำหนดผลการเลือกตั้งไม่น้อยเพราะสำรวจพบแล้วว่าร้อยละ 39 ของคนมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งของสหรัฐฯเข้าไปแลกเปลี่ยนความเห็นทางการเมืองในเครือข่ายสังคมอย่างคึกคัก
ซึ่งก็แปลว่าการตัดสินใจจะเลือกใครเป็นประธานาธิบดีและ ส.ส. หรือ ส.ว. ในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้จะถูกอิทธิพลของ
ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กอย่างมาก
ในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2008 ซึ่งถูกเรียกขานว่าเป็น "social media election" นั้นมีคนทวิตวันเลือกตั้งวันเดียวถึง 1.8 ล้านข้อความ
แต่ปีนี้ 2012 คนทวีตข้อความเพื่อแสดงความเห็นหรือส่งข่าวคราวให้กันและกัน 1.8 ล้านข้อความทุก ๆ 6 นาที
ในช่วงนี้ที่มีข่าวเฮอร์ริเคน Sandy เข้าถล่มฝั่งตะวันออกของอเมริกา ช่องทางที่ส่งข่าวรวดเร็วและกว้างขวางที่สุดไม่ใช่ทีวี, ไม่ใช่เว็บไซท์, ไม่ใช่วิทยุ...แต่คือ Twitter อย่างปฏิเสธไม่ได้เลย 

Wednesday, October 24, 2012

แม้ Superman ยังต้องปรับให้ทันพรุ่งนี้ของข่าว

แม้แต่ "ซูเปอร์เมน" ยังต้องเข้าสู่ยุคดิจิตัล และประกาศตนเป็น "Citizen Reporter" เพราะการจะดำรงบทบาทเป็นผู้คุ้มครองโลกนั้น ยอดมนุษย์คนนี้จะต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย
ยิ่งเมื่อ Clark Kent (บทของซูเปอร์แมนในฐานะนักข่าว) ต้องทำหน้าที่รายงานข่าวอย่างทันเหตุการณ์ จึงต้องรู้ทันเทคโนโลยีข่าวสาร
ดังนั้นตอนต่อไปของ "Superman" โดย DC Comics ที่จะวางตลาดสัปดาห์นี้ คล้าก เค้นท์จะลาออกจากหนังสือพิมพ์ The Daily Planet เพื่อจะมาทำหน้าที่เป็น "นักข่าวพลเมือง" ในฐานะคนเขียนบล็อกเพื่อสะท้อนถึงความเป็นไปบนโลกที่เขาจะต้องช่วยเหลืดคนดีและผู้เสียสละ
คนเขียนการ์ตูนซูเปอร์แมน Scott Lobdell บอกว่าการที่คล้าก เค้นท์ต้องลาออกจากหนังสือพิมพ์ที่ตนทำงานมาช้านานก็เพื่อที่จะเล่นบทใหม่ เพื่อให้มีดุลถึงอันเหมาะสมระหว่างสื่อมวลชนกับความบันเทิง
อีกทั้งยังต้องการตอกย้ำถึงความสำคัญของโลกโซเชียลมีเดียและนักข่าวพลเรือน
ดังนั้นจึงอย่าได้แปลกใจถ้าหาก Superman จะไปปรากฏตัวที่สื่อออนไลน์เช่น Huffington Post หรือ Drudge Report แทนที่จะไปหางานที่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่น
โลกนี้ไม่มีที่วางสำหรับคนไม่ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย, ไม่เชื่อถาม Superman ก็ได้

Thursday, October 18, 2012

อีกรายหนึ่ง...Newsweek หยุดฉบับพิมพ์ มุ่งสู้ดิจิตัลเต็มรูปแบบ

นิตยสารข่าวรายสัปดาห์อันโด่งดังอย่าง Newsweek อายุยืนยาวมา 79 ปีก็มีอันต้องปรับตัวครั้งใหญ่ด้วยการประกาศว่าจะเลิกฉบับตีพิมพ์ หันสู่เนื้อหาออนไลน์อย่างเดียวตั้งแต่ปีใหม่ที่จะถึงนี้
บรรณาธิการใหญ่ทีน่า บราวน์ย้ำว่านี่เป็นการ "เปลี่ยนผ่าน" ของสื่อ "มิใช่เป็นการประกาศอำลา" แต่อย่างไร
เธอบอกว่ากองบรรณาธิการยังยึดมั่นในคุณค่าและจุดยืนแห่งความเป็น "นิวสวีค" และการตัดสินใจครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวกับคุณภาพของแบรนด์ ซึ่งจะยังแข็งแกร่งทรงพลังต่อไป
"แต่ที่เราตัดสินใจเข้าสู่การนำเสนอเนื้อหาทางดิจิตัลเต็มรูปแบบก็เพื่อตอบสนองความท้าทายของเศรษฐกิจแห่งธุรกิจการพิมพ์และการจัดจำหน่ายในโลกวันนี้"
บก. ใหญ่บอกว่าการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ก็เพื่อคนอ่านที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา และมีความคิดความอ่านหลากหลายที่ต้องการข่าวคราวของโลกในบริบทที่ทันกับความเปลี่ยนแปลของโลก
นิวสวีคมีปัญหาทางด้านการเงินมาระยะหนึ่งแล้ว เมื่อสองปีก่อนนิตยสารฉบับนี้ประกาศรวมตัวกับ Daily Beast ซึ่งเป็นสื่อออนไลน์ และมีเจ้าของคนเดียวกันคือ Sydney Harman ซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว
ทีนา บราวน์อ้างผลสำรวจว่าคนอเมริกันร้อยละ 39% รับรู้ข่าวสารจากแหล่งข่าวออนไลน์ทั้งสิ้น จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เธอตัดสินใจไปสู่เส้นทาง "ดิจิตัล" และทิ้งแนวทางสิ่งพิมพ์โดยสิ้นเชิง
แนวโน้มลักษณะนี้กำลังจะกลายเป็นทิศทางสำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ของสหรัฐฯมากขึ้นซึ่งทำให้คนข่าวต้องปรับตัวครั้งแล้วครั้งเล่าเพราะความผันแปรหนักหน่วงรุนแรงในแวดวงสื่อตะวันตกยังไม่ "นิ่ง" และจะไม่นิ่งไปอีกนานทีเดียว

Saturday, October 6, 2012

ทวิตเตอร์กับการจับโกหกนักการเมือง

การโต้วาทีรอบแรกระหว่างประธานาธิบดีบารัก โอบามากับผู้ท้าชิงมิทท์ รอมนีย์เป็นการยืนยันว่า "จอที่ 2 และ 3" มีความสำคัญไม่น้อยกว่า "จอที่ 1" ในการติดตามข่าวร้อน ๆ ที่มาพร้อมกับการแสดงความเห็นสด ๆ ระหว่างติดตามการแลกหมัดในการดีเบตอันเผ็ดร้อน
จอที่ 1 คือทีวี, จอที่ 2 คือคอมพิวเตอร์และจอที่ 3 วันนี้อาจจะเป็นมือถือหรือแท็บเล็ตที่ทำให้การบริโภคข่าวสารของคนยุคนี้มีความคล่องตัวอย่างยิ่ง
ผมติดตามดูว่าคนทั้งหลายเขาติดตามข่าวการดีเบตครั้งนี้นอกเหนือจากดูถ่ายทอดสดทางทีวีกันอย่างไรบ้าง
ผลปรากฏว่าทวิตเตอร์ชนะขาด ตามมาด้วยปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "fact-checking" ซึ่งหมายถึงการที่คนติดตามข่าวที่มีข้อมูลสามารถตรวจสอบว่าที่ทั้งสองฝ่ายอ้างข้อมูลแต่ละเรื่องนั้น "ชัวร์หรือมั่วนิ่ม" กันแน่
ผมเชื่อว่าแนวโน้มของการ "จับผิดกันสด ๆ" อย่างนี้จะเกิดในเมืองไทยได้หากสื่อและแวดวงวิชาการจะเริ่มยกระดับการรายงานและตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำของนักการเมืองด้วยการใช้ Social Media เป็นช่องทางเพื่อการสื่อสารให้ทันการเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและเบื้องหลังของเรื่องราวที่นักการเมืองนำมาอ้างระหว่างการถกแถลงถึงนโยบายที่มีผลต่อสาธารณชน
สื่อหลายสำนักของสหรัฐฯตั้งทีม fact-checking เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบว่าที่โอบามาและรอมนีย์นำมากล่าวอ้างในการอภิปรายครั้งนี้จริงหรือไม่จริงเพียงใด หรือมีการบิดเบือนเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของตนเองอย่างไร
ผมเห็น New York Times ตั้งทีมพิเศษเพื่อการนี้อย่างคึกคัก และ NBC มีทีมเฉพาะกิจที่เรียกว่า "Truth Squad" เพื่อทำหน้าที่นี้ อีกทั้ง Washington Post.com ก็เอาจริงเอาจังกับการแก้ข้อผิดพลาดของผู้ร่วมดีเบตอย่างรวดเร็วทันใจ
นี่คือบทบาทของสื่อที่จะต้องเสริมพลังให้กับประชาชนเพื่อพิสูจน์ว่าสื่อไม่เพียงแต่รายงานว่าใครพูดอะไรเมื่อไหร่เท่านั้น แต่ยังจะต้องตรวจสอบว่ามีความถูกต้องหรือไม่เพียงใด
ความเร็วของยุคดิจิตัลต้องเสริมด้วยความลึกของกระบวนการตรวจสอบผ่าน Social Media
"การจับโกหก" ของนักการเมืองเป็นหน้าที่ของสื่อยุคนี้ที่จะต้องทำอย่งเข้มข้นมากขึ้นเพราะมีเทคโนโลยีมาช่วยเสริมทัพอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้