Sunday, September 23, 2012

การแสวงหาความจริงในยุค Social Media เฟื่องฟู

บางคนเชื่อว่าเนื้อหาในเครือข่ายสังคมหรือ Social Media มักจะเป็นข่าวลือข่าวปล่อยและข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ แต่ถ้าเข้าไปสัมผัสกับมันจริง ๆ จะเห็นอีกด้านหนึ่งของโซเชียลมีเดีย
นั่นคือมันกลายเป็นช่องทางตรวจสอบความผิดพลาด, แสวงหาข้อเท็จจริงและจับผิดคนพยายามจะปล่อยข่าวเท็จได้อย่างทันท่วงทีเช่นกัน
ท้ายที่สุดอยู่ที่ว่าคนข่าวจะใช้ Twitter, Facebook หรือ YouTube อย่างไรให้เป็นเครื่องมือรับใช้ผู้บริโภคอย่างแท้จริงและเข้าใจธรรมชาติของปรากฏการณ์ที่ผมเรียก "จัตุรัสข่าวสารสังคม" ในอินเตอร์เน็ทที่ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงวินาทีต่อวินาทีแล้วอย่างปฏิเสธไม่ได้
สมัยก่อน นักการเมืองหรือบุคคลสาธารณะคนไหนออกข่าวหรือแสดงความเห็นที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงอาจจะ "รอดตัว" ไปได้หลายวันก่อนที่ใครจะอ่านเจอในหนังสือพิมพ์ และมีคนที่รู้ข้อมูลที่ถูกต้องออกมาแสดงความเห็นแย้ง
แต่โลกไซเบอร์ทุกวันนี้ ไม่กี่นาทีที่นักการเมืองออกข่าวเรื่องใดที่ผิดเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็นจะถูก "แย้ง" ได้เกือบจะทันที
เว็บไซท์ของสหรัฐฯอย่าง FactCheck.org หรือ PolitiFact ประกาศตนเป็นผู้พร้อมจะ "จับผิด" นักการเมืองหรือสาธารณะบุคคลที่กล่าวอ้างข่าวสารหรือข้อมูลเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชน
จะว่าไปแล้ว นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีจำนวนบุคลากรและองค์กรที่มีบทบาทในการทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและค้นหาความผิดพลาดในข้อเท็จจริง (fact-checking and vertification) ในเวทีสาธารณะผ่าน Social Media
เพราะนี่คือยุคแห่งโลกใหม่แห่งข้อมูลข่าวสารล้นเหลือ ยุคแห่งการที่ข่าวสารได้รับการรายงานแบบ real time ตลอดเวลา และเป็นยุุคที่สมาร์ทโฟนมีกล้องถ่ายรูปดิจิตัลครบครัน พร้อมที่จะรายงานทุกเหตุการณ์ผ่าน social network ได้วินาทีต่อวินาที
บวกลบคูณหารข้อดีข้อเสียของโลกโซเชียลมีเดียวแล้ว ผมก็ยังยืนอยู่ข้างการเข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้เครือข่ายสังคมอย่างเต็มที่เต็มอัตราศึกอยู่ดี

Sunday, September 16, 2012

USA Today ปรับตัว...ทำงานแบบวง orchestra ไม่ใช่ต่างคนต่างแสดง

ซ้ายมือเป็นหน้าหนึ่งเก่า ขวามือคือหน้าหนึ่งออกแบบใหม่....หนังสือพิมพ์ USA Today อายุ 30 ปีปรับตัวครั้งใหญ่ด้วยการดีไซน์หน้าตาทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และเว็บไซท์ให้มีสันสันตระการตาขึ้นเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเสพสื่อของคนอเมริกัน
อีกทั้งยังประกาศจัดโต๊ะข่าวให้เป็นลักษณะ "Convergent Newsroom" เพื่อให้คนข่าวสื่อสิ่งพิมพ์ต้องทำคลิบวีดีโอเหมือนกับที่เราเองต้องปรับตัวมาหลายปีแล้ว
จะว่าไปแล้ว USA Today ก็เพิ่งตื่นจากภวังค์เพราะหนังสือพิมพ์ยักษ์ของสหรัฐฯและยุโรปได้ลงมือปรับเปลี่ยนทั้งหน้าตาและระบบห้องข่าวกันขนานใหญ่มาแล้ว แต่อาจจะเป็นเพราะหนังสือพิมพ์ฉบับนี้มียอดขายเป็นอันดับสองรองจาก Wall Street Journal มาตลอด จึงยังพยายามต้านแรงกดดันที่ต้องเปลี่ยนแปลงมาตลอด
ความเปลี่ยนแปลครั้งนี้ทำให้หน้าตาของหนังสือพิมพ์ดูเหมือนเว็บไซท์ และเว็บไซท์ก็เหมือน iPad
ประธานของ USA Today ชื่อ Larry Kramer บอกว่าวันนี้ปรัชญาการทำงานของสื่อแห่งนี้เปลี่ยนไปแล้ว
"เราไม่ใช่แค่หนังสือพิมพ์ แต่เราเป็นบริษัทข่าวสาร" ("We are trying to think of USA Today not as a newspaper but as a news company")
ซึ่งผมคิดว่ายังปรับวิธีคิดไม่พอ เพราะแค่เปลี่ยนจาก newspaper เป็น news company ยังไม่พอที่จะยกเครื่องการทำงานครั้งใหญ่ได้ ต้องปรับให้เป็นองค์กรแห่งความรู้ยุคดิจิตัลเท่านั้นจึงจะอยู่รอดได้
เขาบอกว่าภายใต้แนวคิดการทำข่าวแบบใหม่นั้นจะให้นักข่าวที่เขียนรายงานสืบสวนสอบสวนระดับชาติประสานควบคู่ไปกับการทำข่าวระดับท้องถิ่นไปพร้อม ๆ กัน
เขาเรียกแนวทางทำงานแบบใหม่นี้ว่า "เป็นวงดนตรีออเคสตร้า...มิใช่แค่เครื่องดนตรีชิ้นใดชิ้นหนึ่งเท่านั้น" ("This has to be an orchestra. It can't be a single instrument anymore.")
ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นผลจากแรงกดดันทางธุรกิจอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะรายได้โฆษณาของ USA Today (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือบริษัท Gannett) ในไตรมาสที่สองหดตัวลง 8.1% และจะยังคงอ่อนตัวลงในไตรมาสที่สามอย่างต่อเนื่อง
คำถามก็คือว่าเพียงแค่เปลี่ยนหน้าตาจะช่วยแก้ไขสถานการณ์เสื่อมทรุดได้หรือไม่
เมื่อ USA Today เกิดตอน 30 ปีก่อน จุดขายสำคัญคือการให้ข้อมูลข่าวสารกับคนเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นพยากรณ์อากาศทุกรัฐ หรือรายงานท้องถิ่นจากทุกรัฐ...แต่วันนี้ผู้คนที่เดินทางสามารถที่จะได้ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้อย่างทันท่วงทีจากมือถือหมดแล้ว
รูปแบบการรายงานแบบ "หลอมรวม" หรือ convergent journalism สำหรับหนังสือพิมพ์ฉบับนี้คือการที่สามารถประสานกับทีมทำข่าวทีวีของเครือ Gannett ซึ่งมีนักข่าวรวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 5,000 คน (มีหนังสือพิมพ์ทั้งหมด 82 ฉบับ และทีวี 23 ช่องทั่วอเมริกา) ซึ่งสามารถจะทำงานร่วมกันให้ได้เนื้อหาทั้งสิ่งพิมพ์, คลิบวีดีโอและเสียงอย่างพร้อมมูลได้
ประเด็นอยู่ที่ว่าเขาจะสามารถสร้าง editorial conductors มากำกับการแสดงของ orchestra วงใหญ่นี้ให้สอดประสานเพื่อผู้ฟังผู้ชมผู้อ่านเชื่อในความเร็วและความลึกกับความโดดเด่นที่คนอื่นไม่มีให้หรือไม่
นี่คือตัวอย่างของการพยายามจะตั้งรับกับ "อนาคตของข่าว" อีกกรณีหนึ่งที่ต้องวิเคราะห์กันต่อไปอย่างต่อเนื่อง


ข่าวต้องเร็ว, แต่ก่อนเร็ว, ต้องแม่นยำ!

Tuesday, September 4, 2012

ฉันถ่ายทอดสดฉันเองก็ได้, ไม่เห็นต้องพึ่งฟรีทีวีเลย!

เมื่อสื่อออนไลน์สามารถไปถึงประชาชนคนดูที่ต้องการ, "ฟรีทีวี" ก็จะลดความสำคัญลงทันที และปรากฏการณ์นี้จะยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อ social media สามารถเข้าถึงคนหมู่มากที่มีความสนใจแตกต่างกันโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยสื่อดั้งเดิมอย่างแต่ก่อนเก่า
พรรคเดโมแครตประกาศว่าจะ live-stream คำปราศรัยในการประชุมใหญ่ของพรรคที่เมือง Charlotte, North Calrolina สัปดาห์นี้ตั้งแต่ต้นจนจบเพื่อประกาศให้บารัก โอบามาเป็นตัวแทนพรรคในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกหนึ่งสมัย
จะเป็นการถ่ายทอดสดผ่านเว็บไซท์ของ Democratic National Convention (DNC)
เท่านั้นไม่พอ คนของพรรคยังก้าวกระโดดไปอีกขั้นหนึ่งด้วยการผลิตรายการการเมืองของตนโดยให้ดาราคนดัง Kal Penn ซึ่งเคยทำงานในทำเนียบขาวมาทำหน้าที่เป็นพิธีกรอีกด้วย
ผมเห็นเขาประกาศแล้วว่ารายการพิเศษที่ไม่ต้องพึ่งพาเครือข่ายทีวีนั้นจะมีนักการเมืองและแขกเวเล็บทั้งหลายมาร่วมรายการด้วยไม่ว่าจะเป็นดาราอย่าง Zach Braff หรือ Fran Drescher และนักร้องคนดัง Marc Anthony
เผลอ ๆ จะสามาระเชิญแขกคนดังมาเข้ารายการสดทางเว็บ
ได้มากกว่ารายการทีวีปกติด้วยซ้ำไป!
ทีวีและเคเบิลหลายช่องก็ใช้เว็บไซท์ของตัวเองถ่ายทอดการประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครตสดเหมือนกัน เพราะไม่ต้องการ "ตกข่าว"
เป็นการตอกย้ำว่าในยุคสื่อ digital วันนี้, สื่อทีวีดั้งเดิมต้องปรับตัวในอัตราที่เร่งร้อนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนจริง ๆ